เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผบ.ตร. และโฆษก ตร. แถลงสรุปผลการปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงประกาศเคอร์ฟิว ในภาพรวมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า
ตลอดห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ซึ่งมีภารกิจในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการบูรณาการปฏิบัติของพลเรือน ตำรวจ และทหาร เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยหลักในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เช่น การปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดและฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน การจัดตั้งจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาด การจัดตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิว การจัดสายตรวจและชุดตรวจร่วมออกสุ่มตรวจกิจกรรม กิจการที่ได้รับการผ่อนคลายการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับการร้องขอ ทั้งนี้เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำนโยบายของรัฐบาล กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงมาเป็นหลักในการปฏิบัติ โดยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้น เพื่อนำนโยบายถ่ายทอดและสั่งการลงไปยังหน่วยงานตำรวจทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันลดการแพร่ระบาดของเชื้อ ตลอดจนเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
สำหรับตัวเลขผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาเคอร์ฟิวทั่วประเทศโดยนับตั้งแต่คืนวันที่ 3 เมษายนจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2563 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 72 วัน พบว่ามีการฝ่าฝืนกระทำความผิดในช่วงเคอร์ฟิว ทั้งสิ้นจำนวน 41,941 รายหรือเฉลี่ยวันละกว่า 582 ราย สามารถจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้ ความผิดจากการออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควร รวมจำนวน 37,358 ราย ได้ดำเนินคดี 32,539 ราย ตักเตือน 4,819 ราย ความผิดจากการรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถานในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จำนวน 4,583 ราย ได้ดำเนินคดี 4,474 ราย ตักเตือน 109 ราย
โดยสาเหตุของการกระทำความผิดในการออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันควร 3 ลำดับแรก ดังนี้ 1.ออกมาทำธุระ 8,412 ราย คิดเป็นร้อยละ 25, 2.เดินทางกลับที่พัก 6,718 ราย คิดเป็นร้อยละ 20, 3.ขับขี่ยานพาหนะเล่น 4,290 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิดในการรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถานในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ดื่มสุรา 1,589 ราย คิดเป็นร้อยละ 39, 2.เล่นการพนัน 1,231 ราย คิดเป็นร้อยละ 30, 3.เสพยาเสพติด 690 ราย คิดเป็นร้อยละ 17
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาห้ามแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่จะต้องถือปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หรือการกระทำที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นต้น จึงขอฝากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามโดยถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ การใช้แอปพลิเคชั่น “ ไทยชนะ” ในการเข้ารับบริการตามสถานที่ต่างๆรวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนด และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนร่วมจับมือเดินหน้ากับท่านนายกรัฐมนตรีในการ รวมไทยสร้างชาติไปด้วยกัน
ซึ่งขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน กรณีกลุ่มเด็กแว้นหรือกลุ่มวัยรุ่นที่มีการจับกลุ่มรวมตัวแข่งรถหรือพากันตระเวนขับขี่รถออกไปสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเรื่องดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด จึงขอฝากเตือนไปยังผู้ที่มีพฤติการณ์ และผู้ปกครองให้เลิกกระทำและกวดขันพฤติกรรมของบุตรหลาน โดยนอกจากจะดำเนินคดีกับตัวเด็กที่กระทำผิดแล้ว จะมีการดำเนินคดีกับผู้ปกครองและผู้ที่ให้การสนับสนุนด้วย
สำหรับมาตรการของฝ่ายความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ทางพล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้สั่งการและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ดังนี้ 1.ดำรงความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบโดยเฉพาะอาชญากรรมที่เป็นการซ้ำเติมประชาชน เช่น การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การกู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น โดยจะต้องเน้นการทำงานในเชิงรุก และจะต้องเข้าไประงับเหตุในทันที 2.เพิ่มการตอบสนองในการแจ้งเหตุให้เพิ่มมากขึ้นตามช่องทางการแจ้งเหตุต่างๆ เช่น ชุดหมายเลขสายด่วน จุดรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน จุดรับแจ้งเหตุตามถนนต่างๆ เพื่อให้ไปถึงจุดเกิดเหตุให้รวดเร็วที่สุด ให้สายตรวจร่วมและชุดตรวจร่วม เพิ่มความเข้มในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดและกวดขันจับกุมอาชญากรรมที่กระทบต่อชีวิตประจำวันและความสงบสุขของประชาชนและสังคม เช่น การรวมกลุ่มแข่งรถในทาง การขับขี่รถขณะเมาสุรา ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ความผิดเกี่ยวกับสถานบริการหรือความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 3.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้การปฏิบัติจะเน้นให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน คือ 1. ขั้นประชาสัมพันธ์ 2.ขั้นแนะนำตักเตือน และ 3.หากมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจฝ่าฝืนให้จับกุมดำเนินคดี โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าระงับเหตุต้องปฏิบัติตามยุทธวิธี เน้นความสุภาพ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรัดกุม
ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนพบการกระทำความผิดหรือต้องการแจ้งเบาะแสสามารถแจ้งมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 191, 1599, 1138 และแอปพลิเคชั่น Police lert u ได้ตลอด 24 ชั่วโมง