เมื่อวานนี้ (9 มี.ค) นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ตระกูล วินิจนัยภาค‘ กล่าวถึงประเด็นที่ มีการเผยเเพร่คลิปในห้องประชุมที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ชั้น 5 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งทาง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้กล่าว ไล่ผู้ไม่เกี่ยวข้อง เเละนิติกรกรมอุทยานฯ ออกไปนอกห้องสอบสวน โดยย้ำว่าการสอบสวนเป็นความลับ พร้อมกับเอ่ย เร่งทางเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน ที่ทำงานล่าช้ากว่า 3 ชั่วโมง ไม่ได้สอบปากคำ นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์ป่าฯ
นายตระกูล กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า ใครจะไปกลัาฟ้องท่าน แล้วถ้าจะฟ้องท่านจริงๆ จะฟ้องข้อหาอะไรครับ กับการที่ท่านจะยอมให้นิติกรฯ อยู่ด้วยและอัดเทประหว่างสอบสวนปากคำหัวหน้าวิเชียรฯ ถามจริงๆ ว่าทำไมต้องเชิญนิติกรของกรมอุทยานฯ ออกจากห้องสอบสวน (หัวหน้าวิเชียรฯ) ท่านใช้อำนาจตามกฏหมายหรือระเบียบข้อบังคับฉบับไหน เท่าที่พอทราบบ้าง ก็คือ กฏหมาย เรื่องการสอบสวน จะกระทำที่ใด เมื่อใดก็ได้ เรื่องใครอยู่ด้วย ไม่มีบัญญัติไว้ มีเฉพาะเรื่องสอบสวนเด็กอายุ 18 ปี ที่ต้องมีสหวิชาชีพอยู่ด้วยเท่านั้น ถามเป็นความรู้จริง ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น
จากนั้น นายตระกูล ได้กล่าวยกตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2539 มีดังนี้
“ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใดทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวนดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกันและพันตำรวจโทอ.พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วยจึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288กำหนดโทษไว้เป็น3ประการคือโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตและจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้20ปีดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ13ปี4เดือนการที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า15ปีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง”