การออกมาตรการต่างๆ มีการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญและออกมาอย่างเป็นที่น่าพอใจรวมถึงความร่วมมือทำงานจากโรงพยาบาลเสริมสร้างสุขภาพประจำตำบล และ อสม. ดูแลประชาชนทั่วประเทศ และขอบคุณที่รัฐบาลจะดูแลเรื่องค่าตอบแทนให้กับ อสม. ด้วยรวมถึงการเพิ่มอัตราบรรจุพยาบาลทั่วประเทศ 40,000 ตำแหน่ง เชื่อว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนของโรงพยาบาลทั่วประเทศได้มาก
ส่วน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ นายวีระกร แสดงความเป็นห่วงกรณีเยียวยาเกษตรกร ได้รับเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ยังได้รับไม่ครบ ส่วนการเยียวยาอาชีพอิสระ จ่ายเงินเยียวยาได้รวดเร็ว เพราะต้องตรวจสอบคัดกรองถึง 15 ล้านราย จ่ายตั้งแต่วันที่ 8 เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่อยากให้นายกรัฐมนตรีปรับเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเพิ่งได้รับเงินเยียวยาวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ห่างจากการจ่ายเงินให้อาชีพอิสระถึง 2 เดือน
ขณะที่ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ ในการนำมาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมกับชื่นชม ศบค. โดยการนำของนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับคำชื่นชมระดับโลก รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้
โดยเฉพาะ บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม.ที่ต้องได้รับคำชื่นชมที่ทีผลงานเชิงประจักษ์ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถือเป็นนักรบในชุมชนในท้องถิ่น ที่มีส่วนร่วมผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า กำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีบทบาทการพัฒนาในมิติต่างๆ และเฝ้าระวังโรคระบาด ดังนั้นจึงเสนอให้ขึ้นเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ ประกันชีวิต ค่าเล่าเรียนการศึกษาของบุตร ควรได้รับการส่งเสริมไปถึงระดับปริญญาตรี ควบคู่ไปกับทุกภาคส่วนที่ควรจะได้รับการดูแล
นางพรรณสิริ ยังตั้งข้อสังเกตถึง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและผลิตอาหาร จนได้ชื่อว่าครัวโลก จึงเป็นโอกาสที่ควรเข้าถึงการแก้ปัญหาด้านการเกษตร ทั้งการเข้าถึงแหล่งน้ำ อย่างการกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร การเข้าถึงกองทุนอนุรักษ์พลังงานให้เชื่อมโยงไปถึงการเกษตร ที่ควรสานต่อและงบประมาณควรลงไปโดยเร็ว