โดยภาพที่ดีที่สุดซึ่งอธิบายได้ดีกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ คือ ภาพที่ผู้คนจำนวนมากมายต่อแถวเพื่อยื่นเรื่องขอทบทวนสิทธิ์ในการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 5,000 บาท และภาพของการเข้าคิวเพื่อรอรับบริจาคอาหาร รวมถึงข่าวตัวเลขของการฆ่าตัวตายเนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้นคือภาพสะท้อนความจริงทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกฝ่ายตระหนักดีว่าปัญหานั้นมีความรุนแรงมากเพียงใด
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า วันนี้สังคมไทยกำลังจ่ายต้นทุนที่แพงมาก หากจะยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อเนื่องไปอีกด้วยข้ออ้างในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั้งๆที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น “พ.ร.บ. ควบคุมโรคระบาด” ก็สามารถนำมาใช้ให้มีผลในการควบคุมป้องกันโรคได้ไม่แตกต่างกัน เพราะหากยังคงใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินไว้ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงมากแล้ว นอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลต้องตอบคำถามถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ของการควบคุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวทางสังคม
ทั้งนี้ หากรัฐบาลอาศัยเงื่อนไขของพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของคณะตน โดยพยายามรวบอำนาจการบริหารมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว จะทำให้กลายมาเป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญจะกลายเป็นปัจจัยที่เสริมสร้างความยากลำบากและปิดกั้นโอกาสในการทำมาหากินของประชาชนมากขึ้น ตนจึงอยากให้รีบปลดล็อคยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศจะหนักจนเกินเยียวยา