ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงภาพรวมการดำเนินการของ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม.หลังมีการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางประเภท ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 6 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
พลตำรวจโท ปิยะฯ กล่าวว่า ปัจจุบันนับเป็นระยะเวลา 7 วันหรือครบหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางประเภท ซึ่งมีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต ตลอดจนการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพของประชาชน หลังจากที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำและขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญดูแลช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านในเฟสต่างๆ อย่างเข้มงวด ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ยังคงต้องดำเนินการต่อในลักษณะเชิงรุก สอดคล้องกับนโยบายของ พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ปรับการดำเนินการของ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เป็นชุดสายตรวจร่วม เพื่อดำรงความต่อเนื่องในการปฏิบัติ เน้นเพิ่มการปฏิบัติเชิงรุก เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
พลตำรวจโท ปิยะฯ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เก็บรวบรวมสถิติการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดใน ๒ ลักษณะคือ การออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00-4.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร และ การรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยทำการเปรียบเทียบกัน 2 ช่วงเวลาคือ ก่อนที่จะมีการผ่อนคลาย คือ ระหว่างวันที่ 26 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2563 และ หลังมีการผ่อนคลาย ระหว่างวันที่ 3 ถึง 9 พฤษภาคม 2563 โดยพบว่า
หลังจากที่มีการผ่อนคลายการทำกิจกรรม ภาพรวมของการกระทำความผิดมีจำนวนที่สูงขึ้น คือ จากเดิม 4,407 คดี เพิ่มเป็น 5,363 คดี สูงขึ้น +856 คดี คิดเป็นร้อยละ 21.69
เมื่อแยกดูรายละเอียดการกระทำความผิดของการออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว พบว่า เพิ่มจาก 3,743 คดี เป็น 4,570 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน +827 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 22.09 โดยเป็นการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในทุกประเภท คือ ออกมาทำธุระโดยไม่มีเหตุอันสมควร การเดินทางกลับที่พักเกินเวลา การออกมาขับขี่รถเล่น และอื่นๆ ตามลำดับ
สำหรับความผิดของการรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อนั้น พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 664 คดี เป็น 704 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน +40 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.02 โดยพบว่าเป็นการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในลักษณะของ การตั้งวงสุรา และเสพยาเสพติด สวนทางกับการลักลอบเล่นการพนันที่มีจำนวนรายคดีลดลง แต่มีการรวมกลุ่มกันของผู้เล่นจำนวนมากขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้มีการปรับยุทธวิธีการปฏิบัติ เพื่อดำรงความต่อเนื่องในการบังคับใช้มาตรการ ข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยมอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยหลักในการวางแผนและประสานการปฏิบัติในการจัดชุดสายตรวจร่วมระหว่าง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เข้าตรวจสอบกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายทั้งจากส่วนกลาง และส่วนพื้นที่ รวม ๒ ประเภท ได้แก่
1.ชุดตรวจตามมาตรการผ่อนคลายส่วนกลาง มี ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหัวหน้าชุดตรวจ ประกอบกำลังจาก หน่วยขึ้นตรงต่างๆ มีชุดแพทย์เคลื่อนที่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นในพื้นที่เข้าร่วม โดยจะเข้าดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่มีความสำคัญหรือเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และเสริมด้วยการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ การเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันโรคให้ผู้ประกอบการและประชาชน รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
2.ชุดตรวจร่วมตามมาตรการผ่อนคลายประจำพื้นที่ จะมีการจัดชุดตรวจร่วมลงไปจนถึงในระดับเขตหรืออำเภอ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นหัวหน้าชุดตรวจ และมีทหาร ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และหน่วยราชการอื่น เข้าร่วม
โดยชุดตรวจทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว จะเน้นเข้าจัดระเบียบการประกอบกิจการและกิจกรรม โดยให้ความสำคัญกับการประสานงานและการบูรณาการแผนการปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพส่งผลให้สามารถพิจารณาผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมามีผลการตรวจกิจการ ทั้งร้านอาหารเครื่องดื่ม ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านค้าปลีก ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สนามกีฬา และร้านดูแลสัตว์เลี้ยง รวมแล้วกว่า 90,913 ครั้ง พบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมาตรการเป็นส่วนน้อยคือ จำนวน 3,039 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.34 ซึ่งในช่วงแรกอาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ โดยจากการเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการพบว่า มีการให้ความร่วมมือที่ดี และปรับปรุงมาตรการทั้งในส่วนของมาตรการควบคุมหลัก และมาตรการเสริม จนพบว่า มีจำนวนที่ไม่ปฏิบัติตามมีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กับผู้ที่ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบและซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อน โดยตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ เช่น การจำหน่ายสินค้าในราคาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การไม่แสดงราคา หรือการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และ พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง เป็นต้น จำนวนกว่า 490 ราย ตรวจยึดของกลาง หน้ากากอนามัย จำนวน 4,372,006 ชิ้น แอลกอฮอล์ 409,453 ลิตร เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ จำนวน 5,099 เครื่อง ชุดตรวจหาเชื้อไวรัส 61,523 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 238,174,315 บาท
พลตำรวจโท ปิยะฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการลงโทษหรือเอาคนเข้าคุก เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อนด้วย การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพียงมุ่งหวังให้สถานการณ์ของประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้”ขอฝากพี่น้องประชาชน ได้โปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และมาตรการที่ทางภาครัฐได้กำหนดไว้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะยังคงคุมเข้ม และเข้มงวดมาตรการต่างๆ ทั้งในด้านสาธารณสุข การเดินทาง และอาชญากรรม เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลับมารุนแรงขึ้นใหม่”
ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องการแจ้งเหตุหรือเบาะแส เพื่อให้ตำรวจดำเนินการ สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์สายด่วน 191,1155,1599 สายด่วนรัฐบาล 1111 หรือผ่านทางแอปพลิเคชั่น Police I lert u ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”พลตำรวจโท ปิยะฯ กล่าว”