ที่ทำเนียบรัฐบาลพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทยเข้าพบหารือกับคณะทำงานของสหภาพยุโรป (อียู) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสำคัญของไทยนี้ ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้รายงานว่า คณะทำงานของสหภาพยุโรปให้ความสำคัญในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยอยากให้ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยคณะเจ้าหน้าที่ของไทยได้ชี้แจงต่อคณะทำงานของสหภาพยุโรปว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมากในการบังคับใช้กฎหมาย โดยคดีที่คั่งค้างที่มีความคืบหน้าแล้วคืบหน้ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ย ซึ่งคณะทำงานของสหภาพยุโรปแสดงความพอใจ สำหรับการบริหารจัดการกองเรือ ที่ก่อนหน้านี้มีเรือประมงหลายร้อยลำสูญหายหรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าอยู่แหล่งใดนั้น ปัจจุบันคณะเจ้าหน้าที่ของไทยสามารถให้ข้อมูลครบถ้วนได้เกือบทั้งหมด มีเพียงสองลำเท่านั้นที่ยังไม่ทราบแหล่งที่อยู่ เนื่องจากสูญหายมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งสหภาพยุโรปเข้าใจและยอมรับในความคืบหน้าของการดำเนินการของไทย
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า อียูจะส่งคณะทำงานเดินทางมาประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการของไทยระหว่างวันที่ 4-11 เมษายน 2561 และรัฐบาลไทยมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการต้อนรับและให้ข้อมูลต่อคณะทำงานของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้มีคำสั่งให้เตรียมการประชุมผ่าน Video Conference ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่คณะทำงานของสหภาพยุโรปจะมาเยือนไทย โดยจะมีการหารือเรื่อง ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (Port In – Port Out: PIPO) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีขอให้มีการดำเนินการจัดจำนวนผู้ควบคุมดูแลเรือและจำนวนเรือเข้า-ออก ให้มีความสอดคล้องกัน รวมทั้งให้ชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการกระทำผิดของเรือเตรียมข้อมูลและรายงานผลการตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็น การบังคับใช้กฎหมายที่คณะทำงานของสหภาพยุโรปให้ความสนใจนั้น ได้สั่งการให้เตรียมข้อมูลชี้แจงในการประชุมวันที่ 5 มีนาคม 2561 ด้วย
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวในช่วงท้ายว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง มีการเตรียมข้อมูลเพื่อตอบข้อสงสัยของสหภาพยุโรปอย่างเต็มที่ พร้อมชี้แจงสิ่งที่ไทยได้ดำเนินการและปรับปรุงการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกฎหมายสากล และมีความยั่งยืน เชื่อมั่นว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินงานมา จะทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย