อย่างไรก็ตามในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จีนถือเป็นประเทศตัวอย่างที่ดีในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือมิติเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งรัฐบาลจีนได้เตรียมวัตถุดิบอาหาร และอาหารพร้อมรับประทานจัดสรรแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและพอเพียงแก่ประชากรจีนกว่าพันล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนมีสต๊อกข้าวส่วนเกินจากการบริโภคภายในประเทศอยู่ถึง 115-118 ล้านตัน
ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยอาจต้องถอดบทเรียนจากจีน โดยอาจสร้างความร่วมมือกันในเรื่องการจัดการปริมาณสต๊อกข้าว เพื่อความมั่นคงทางอาหารและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามแนวคิดการสำรองอาหารในประเทศขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งแนะนำว่า แต่ละประเทศควรสำรองอาหารจำพวกข้าว/ธัญพืช ขั้นต่ำให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรทั้งประเทศในระยะเวลา 3 เดือน
โดยประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ อาทิ อินเดีย จีน และเวียดนาม ต่างหันมาใช้มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) และเน้นการผลิตอาหารเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศตนเองเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดการชะลอการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก และอาจทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งต้องการนำเข้าข้าวหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและคำนึงถึงการบริหารจัดการสต๊อกข้าวสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกข้าวอย่างเหมาะสมและสมดุล
ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุด ประเทศต่างๆ น่าจะมีความต้องการบริโภคข้าวและสินค้าอาหารที่ได้คุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะเป็นโอกาสทองของไทยในการผลักดันการส่งออกข้าวไทยไปยังทั่วโลก