หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินกสิกรไทยลุยธุรกิจในยุคความท้าทายรอบด้าน เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ จัดการความเสี่ยงเชิงรุก

กสิกรไทยลุยธุรกิจในยุคความท้าทายรอบด้าน เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ จัดการความเสี่ยงเชิงรุก

• พลิกโฉมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร ตั้งเป้าหมายเพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด พร้อมรับมือยุคดิสรัปชั่น ด้วยบุคคลากรที่มีความสามารถควบคู่กับรูปแบบการทำงานที่คล่องตัวสูง
• ตอกย้ำจุดแข็งบริการธนาคารที่มั่นคง ไว้ใจได้ ด้วยวัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ระบบความปลอดภัย และป้องกันการทุจริตได้มาตรฐานสากล เตรียมใช้ AI เสริมประสิทธิภาพตรวจจับภัยไซเบอร์ พร้อมจัดการความเสี่ยงงานด้านเครดิตในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
• ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการผนึกพลังพันธมิตรเชิงลึก ให้ลูกค้าใช้บริการอย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS กับแพลตฟอร์มของพันธมิตร ทั้งแลกคะแนนสะสมบัตรเครดิต ซื้อสินค้าบน K PLUS เพิ่มบัตรสมาชิกแบรนด์ดัง ปล่อยสินเชื่อ ดันสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท
• ดูแลลูกค้าในโลกไร้พรมแดน CCLMVI ด้วย Digital Technology พร้อมแสวงหาพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจและตอบโจทย์ชีวิตชนชั้นกลางยุคใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เผยอยู่ระหว่างเตรียมการยื่นขออนุญาตเพื่อการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น สร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศที่แข็งแกร่ง
• KBTG มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อให้บริการลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ ตั้ง “KASIKORN X” สร้างรายได้ใหม่ให้แบงก์และสร้างฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย พร้อมเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของอาเซียน ในปี 2565 เตรียมงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และด้านบุคลากรใน 3 ปีนี้ กว่า 17,000 ล้านบาท
 
ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ เพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีโจทย์ท้าทาย ควบคู่กับบทบาทของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดดิสรัปชั่นในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้ชีวิตของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด รวมถึงการสร้างศักยภาพพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน
ธนาคารกสิกรไทยจึงกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ยังคงยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และกำหนดเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) โดยธนาคารจะขับเคลื่อนธุรกิจบน 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร (8 Transformation Journeys) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ 8 ด้าน ที่จะตอบสนองชีวิตและธุรกิจของลูกค้าให้เดินหน้าต่อไปได้เสมอ ดังนี้
Ecosystem Orchestrator & Harmonized Channel-ร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ผสานช่องทางบริการอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน
Intelligent Lending-ปล่อยสินเชื่อรายบุคคลจากฐานข้อมูลอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง
Proactive Risk & Compliance Management-การจัดการความเสี่ยงในเชิงรุก ป้องกันความเสียหาย และติดตามต่อเนื่อง
New Growth in Regional Market-แสวงหาโอกาสและการเติบโตในตลาดระดับภูมิภาค
Data Analytics-ศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูล จะเป็นหัวใจในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการ
Cyber Security & IT Resilience-ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการจัดการทางไอทีที่รวดเร็ว
Performing Talent and Agile Organization – ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความสามารถและร่วมกันขับเคลื่อน ด้วยการทำงานแบบ agile ที่มีความคล่องตัวสูง
Modern World Class Technology Capability-เพิ่มศักยภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยียุคใหม่มาตรฐานระดับโลก
นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลา 75 ปีที่ทำธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ธนาคารพร้อมเดินหน้า และหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในทุกครั้ง คือ บุคลากรที่มีคุณภาพและวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ที่มีร่วมกั ได้แก่ การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer at Heart) ประสานความร่วมมือ (Collaboration) เสริมสร้างนวัตกรรม (Innovativeness) และทำงานคล่องตัว (Agile)
ธนาคารกสิกรไทยจะส่งมอบพลังการขับเคลื่อนลงไปยังบุคลากรทุกภาคส่วนของธนาคาร เพิ่มทักษะจำเป็นในยุคสมัยใหม่ ส่งเสริมให้พนักงานมีความสามารถ และมีอำนาจในการทำงานที่ลื่นไหล คล่องตัว พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการเพิ่มอำนาจให้แก่ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจ ด้วยบริการที่เชื่อถือได้ สะดวก และเข้าถึงการใช้ชีวิตอย่างไร้รอยต่อ พร้อมรองรับการใช้งานข้ามประเทศและขยายโอกาสของผู้ประกอบการสู่ตลาดที่มีศักยภาพในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้มแข็งและเดินหน้าได้อย่างมั่นคงเสมอ
จัดการความเสี่ยงเชิงรุก ดูแลทุกมิติ เตรียมใช้ AI ตรวจจับภัยไซเบอร์  
มองไกลความเสี่ยงต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ให้สินเชื่อ และลงทุนภายใต้ ESG
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายขึ้นทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับธุรกิจและไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน (Risks never sleep) สร้างความกังวลให้แก่ลูกค้าธนาคาร 3 เรื่องหลัก คือ กังวลเรื่องความปลอดภัย (Secure) กังวลเรื่องความถูกต้อง (Correct) กังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) ในการขับเคลื่อนธนาคารไปสู่เป้าหมายการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การจัดการความเสี่ยง สร้างความแข็งแกร่งของธนาคาร ลดความกังวลให้แก่ลูกค้า เพื่อที่จะพร้อมก้าวไปข้างหน้ากับธนาคารอย่างมั่นใจ ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้า บริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป จึงครอบคลุมทุกมิติการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ โดยธนาคารมีมุมมองในการจัดกลุ่มความเสี่ยง และแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 แกนหลัก ดังนี้
1) การจัดการความเสี่ยงพื้นฐานจากการให้บริการทางการเงิน (Banking Services) สถาบันการเงิน ในทุกยุคสมัยต่างก็ต้องเผชิญและรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นที่นำไปสู่การถูกถอนเงินฝากจำนวนมาก ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่อาจทำให้ธนาคารไม่สามารถจ่ายเงินให้เจ้าหนี้และนำไปสู่การล้มละลาย (Payment Default) ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานผิดพลาด (Operational Error) และความเสี่ยงด้านการทุจริตที่อาจทำให้ธนาคารสูญเสียเป็นจำนวนมาก (Fraud and Theft)
เพื่อจัดการความเสี่ยงในกลุ่มแรกนี้ ธนาคารใช้มาตรการรักษาความมั่นคงทางการเงินไว้ เพื่อให้ธนาคารยังคงอยู่ได้ และปกป้องเงินฝากและเงินลงทุนของลูกค้าไว้ได้ ด้วยการดำรงสัดส่วนเงินกองทุน และสัดส่วนด้านสภาพคล่องที่สูงกว่าหลักเกณฑ์กำหนดมาตลอด ปัจจุบันธนาคารมีการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุน หรือ CAR ที่ 19.62% คิดเป็น 171% ของหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีสัดส่วนด้านสภาพคล่อง หรือ LCR ที่ 188% ของหลักเกณฑ์กำหนด นอกจากนี้ ได้มีการทำ Stress Testing กับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงกฎระเบียบใหม่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลง การทำแผนสำรองการดูแลเงินกองทุนและสภาพคล่องและทำการทดสอบแผนเป็นประจำ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเข้าใจลูกค้า และความเสี่ยงของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างลูกค้ากับธนาคาร และการนำเสนอบริการที่ประทับใจแก่ลูกค้า โดยมีการติดตั้งระบบการตรวจจับรายการทุจริต (Fraud Monitoring) ทั้งในส่วนของ Transaction Fraud, Application Fraud และ Internal Fraud Monitoring มีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของ Transaction Fraud Monitoring ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ในปี 2560 ทำให้อัตราส่วนรายการทุจริต (Fraud to Sales Ratio) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น และค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่งผลให้ธนาคารได้รับรางวัล VISA Champion Security Award (Southeast Asia) ประจำปี 2019
2) การจัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากบริการที่เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารต้องบริหารจัดการ จะประกอบด้วยความเสี่ยงจากความไม่เสถียรของระบบการให้บริการ (Service Instability) ความเสี่ยงจากภัยบนโลกไซเบอร์ (Cyber Risk) และความเสี่ยงด้านการดูแลข้อมูลของลูกค้า (Data Protection and Privacy Risk) การจัดการความเสี่ยงจากบริการที่เป็นดิจิทัล จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อทำให้บริการของธนาคารลื่นไหล สะดวก และปลอดภัยสูงสุด  โดย “คน” เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในมุมต้นทางของความเสี่ยงและการเป็นกำลังสำคัญในการป้องกัน ธนาคารจึงมีการทำงานเพื่อจัดการความเสี่ยงจากบริการที่เป็นดิจิทัล 4 ด้าน ได้แก่
ด้านมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยสากล เพื่อปกป้องภัยด้านไซเบอร์ และข้อมูลของลูกค้า
ด้านพนักงาน ผ่านโครงการ Cyber DNA โดยทำให้พนักงานมีความตระหนัก และมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงด้านไซเบอร์ และข้อมูลรั่วไหล
ด้านลูกค้า ผ่านโครงการ สติ โดยการส่งเสริมความรู้ให้แก่ลูกค้าธนาคาร กระตุ้นให้ลูกค้าตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตัวเอง ด้วยความมีสติ ในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล
ด้านการทำงานร่วมกับบุคคลที่ 3 โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานและกระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ให้บริการและพันธมิตรของธนาคารมีมาตรฐานการดูแลความเสี่ยงด้านไซเบอร์และข้อมูลของลูกค้าที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานของธนาคาร
นอกจากนี้ ในปี 2563 ธนาคารกสิกรไทยจะมีการยกระดับการให้ความสำคัญในการดูแลเรื่องความปลอดภัยบน         ไซเบอร์ (Cyber Security) และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า (Customer Data Privacy) ในระดับสูงสุด และจะมีการนำเทคโนโลยีด้าน  AI และ Machine Learning มาใช้ในการตรวจจับ Cyber Crime และ Cyber Risk )
3)การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Integration)  ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก เพื่อสร้างผลลัพธ์และคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมและประเทศชาติ ด้วยการดำเนินงานบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น การมีนโยบายและกระบวนการการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)  และมีการกำหนดประเภทเครดิตที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Exclusion List) เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะไม่สนับสนุนกิจการที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และต่อชื่อเสียงของธนาคาร ขณะเดียวกันธนาคารซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทางในการส่งเสริมสังคมให้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว ยังได้ส่งเสริมการสร้างผลกระทบเชิงบวกจากโอกาสทางธุรกิจ (Positive Impact Financing) โดยธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนี้
สินเชื่อพลังงานทดแทน ได้แก่ สินเชื่อพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะ เป็นต้น โดยในปี 2562 ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อกว่า 6,300 ล้านบาท กำลังการผลิตกว่า 800 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายปี 2563 จะมีส่วนแบ่งการตลาดด้านกำลังการผลิต (เมกะวัตต์) เป็น 15% ของตลาดในประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศไทย
สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สินเชื่อเพื่อติดตั้ง Solar Rooftop สินเชื่อเพื่อปรับปรุงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดการใช้พลังงานในสถานประกอบการ เป็นต้น ในปี 2562 ธนาคารมีการให้สินเชื่อกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2563 จะมียอดสินเชื่อที่ 2,400 ล้านบาท
สินเชื่อเพื่อการสนับสนุนด้านสังคม ได้แก่ โครงการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นในสังคมเป็นการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้เกษียณอายุ โครงการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในสังคม (Employment Generation) เป็นการสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีและกิจการร้านค้าย่อยรายเล็กในชุมชน โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น ในปี 2562 ธนาคารให้สินเชื่อกลุ่มนี้รวมกว่า 7,600 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2563 จะมียอดสินเชื่อที่ 7,730 ล้านบาท
ธนาคารมียอดการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตั้งเป้าหมายว่าธนาคารจะออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมอีกในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการลงทุนในหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ในปี 2562 มูลค่า 1,841 ล้านบาท และตั้งเป้าจะลงทุนในปี 2563 เพิ่มเติมอีก 300-500 ล้านบาท
นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของกสิกรไทยในเรื่องการบริหารความเสี่ยงก็คือ มุ่งเสริมสร้างการบริหารความเสี่ยงให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร (Risk Culture) สร้างวินัยที่ดีในการบริหารความเสี่ยง ทำอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในทุก ๆ การตัดสินใจและการดำเนินงาน จนฝังรากลึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกสิกรไทย เพราะความเสี่ยงไม่เคยหลับ เราจึงตื่นอยู่เสมอเพื่อจัดการความเสี่ยง
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ลูกค้ามีความสบายใจเมื่ออยู่กับเรา หมดความกังวลใจ ทั้งเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สินและข้อมูล ความถูกต้องของการทำธุรกรรมและไว้ใจได้ เพราะธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้ ทำให้ธนาคารดำรงความแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ พร้อมเพิ่มอำนาจให้ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจได้อย่างไร้ความกังวล
ผนึกพันธมิตรสร้างบริการไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ ดันสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท
  นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ถึงแม้พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้ดิจิทัลแบงกิ้งเพิ่มขึ้น โดยปริมาณธุรกรรมผ่าน K PLUS เพิ่มขึ้นกว่า 200%  ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางสาขายังมีปริมาณมากเช่นกัน โดยมีปริมาณเกินกว่า 100 ล้านรายการ และเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับเงินสดและการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดใช้บริการธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ที่สาขา (Authentication) ธนาคารจึงยังคงให้ความสำคัญกับวามหลากหลายของช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ลูกค้าใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ตั้งเป้าทำให้บริการของธนาคารไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการทางการเงินต่าง ๆ
ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศในการสร้างอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเดินทาง เช่น Grab  แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย เช่น Facebook และ LINE กลุ่มธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เช่น Central JD FINTECH และ JD Central กลุ่มธุรกิจพลังงาน เช่น PTTOR สถาบันการศึกษา เช่น โครงการ CU NEX ที่ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น Lazada  และ Shopee รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น YouTech ประเทศสิงคโปร์ พร้อมประสานความร่วมมือด้วยแนวคิด “Better Together” ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มหรือโซลูชันที่ทำให้รูปแบบการใช้จ่ายของลูกค้าในแต่ละธุรกิจ ในทุกช่องทางเชื่อมโยงกัน  และลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้จ่ายที่สะดวกสบาย ต่อเนื่องไม่มีสะดุด
นายพัชร กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้นำศักยภาพด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และความเชี่ยวชาญในการให้บริการโซลูชันทางการเงินอย่างครบวงจร ประสานกับจุดแข็งของพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ สร้างโซลูชันที่ยกระดับการให้บริการของแพลตฟอร์มไปด้วยกัน โดยได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพการให้บริการของ แอปพลิเคชันหรืออี-วอลเลต (e-Wallet) ที่ขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างเทคโนโลยี “Powered by KBank” รวมถึงการเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน K PLUS ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการของทั้งธนาคารและพันธมิตร สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลายรูปแบบได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น จากความร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ ธนาคารและพันธมิตรสามารถให้บริการกับลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ ลูกค้าสามารถใช้บริการต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS ของธนาคารกสิกรไทยกับบนแพลตฟอร์มของพันธมิตร ได้แก
1) เชื่อมโยงการให้บริการระหว่างธนาคารกับลูกค้าของกลุ่มพันธมิตรด้วยโครงสร้างเทคโนโลยี ‘Powered by KBank’ เชื่อมต่อทุกอย่างให้ใช้งานได้อัตโนมัติจบในแอปพลิเคชันเดียว ไม่ต้องออกจากแอปฯ เพื่อจ่ายเงินหรือเติมเงิน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการชำระเงินของลูกค้า เช่น การพัฒนาอี-วอลเลต Blue CONNECT, GrabPayYouTrip, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการกับกลุ่มลูกค้าพันธมิตรรวมกว่า 1.3 ล้านราย
2) เพิ่มศักยภาพการให้บริการบนแพลตฟอร์ม K PLUS โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการของพันธมิตรต่าง ๆ กับลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารเข้าด้วยกัน โดยมี K PLUS เป็นช่องทางหลักในการให้บริการ ประกอบด้วย 2 ฟีเจอร์ ได้แก่ 1) เพิ่มบัตรสมาชิก (Add Card) โดยลูกค้าสามารถเพิ่มบัตรสมาชิกของแบรนด์ต่าง ๆ ได้บน K PLUS ทั้งสิ้น 13 แบรนด์ เช่น AIS Points, AirAsia BIG Loyalty, PTT Blue Card, The1 ทำให้ลูกค้าไม่ต้องพกบัตร สามารถเช็คคะแนนสะสม รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ และ 2) ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคะแนนสะสมบัตรเครดิตใน  K+ Market   เป็นช่องทางในการแลกคะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยที่มีฐานลูกค้าถือบัตรกว่า 2.97 ล้านบัตร ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการซื้อสินค้าหรือบริการด้วยเงินสดหรือคะแนนสะสมบัตรเครดิตได้ทันที และเพิ่มโอกาสการขายให้กับผู้ขาย ในปีที่ผ่านมา มีลูกค้าใช้คะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยเพื่อแลกซื้อสินค้าหรือบริการรวมกว่า 1,400 ล้านคะแนน
3) บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันบน K PLUS ตั้งแต่ปีที่แล้ว ธนาคารได้เริ่มให้สินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารทุกช่องทาง รวมถึงการให้บริการสินเชื่อบน K PLUS และการเข้าถึงแพลตฟอร์มของพันธมิตรต่าง ๆ และในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับบริษัท LINE Financial จัดตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด โดยเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่ออย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ LINE BK ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็กทั้งลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว สะดวกสบาย ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Lending) ได้รวมกว่า 36,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อบุคคล (Consumer Lending) เพิ่ม 178,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2562
คว้าโอกาสยุคแห่งเอเชีย ขออนุญาตจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น ออกแบบและสร้างนวัตกรรมควบคู่กับขยายช่องทางใน CCLMVI
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีปัจจัยท้าทายรอบด้าน ธนาคารเชื่อมั่นในศักยภาพของภูมิภาคเอเชียที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกโดยเฉพาะ CCLMVI ในปี 2562 เอเชียมีจำนวนชนชั้นกลางคิดเป็น 57% ของชนชั้นกลางทั้งโลก และคาดว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 67% ทั้งนี้ชนชั้นกลางกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์การดำเนินชีวิต (New Middle Class) ประกอบกับเอเชียยังเป็นขุมกำลังสำคัญทางเทคโนโลยีของโลก พบว่า ในปี 2560 มีการยื่นขอสิทธิบัตรจากฝั่งเอเชียคิดเป็น 65% ของทั้งโลก              มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเกิดขึ้นในเอเชีย 33% ของทั้งโลก ทำให้เชื่อว่าเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจไทยจะขยายตลาด นำสินค้าและบริการไปสู่ภูมิภาคอาเซียน +3 ธนาคารกสิกรไทยใช้กลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ในการขยายตลาดในภูมิภาคเพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงตลาดลูกค้าต่างประเทศและนำเสนอบริการรองรับการทำธุรกรรมและธุรกิจข้ามประเทศของลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านความสามารถของธนาคารโดย
1) สร้างเครือข่ายบริการผนวกกับการเสาะหาพันธมิตร (Partnering) ประกอบด้วยเครือข่ายบริการของธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบสำนักงานผู้แทน สาขา และธนาคารท้องถิ่น รวม 14 แห่งในภูมิภาค และการสร้างพันธมิตรธนาคารในภูมิภาค 72 ธนาคาร คาดว่าในปี 2563 จะมีความคืบหน้าของการจัดตั้งสาขาหรือการหาลู่ทางการทำธุรกิจธนาคารในประเทศเมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศจีนมีแผนขยายธุรกิจใหม่
2) การแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Scouting and matching) ผ่านบริษัท K-Vision ที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพทั่วโลก ด้วยการเข้าเป็นพันธมิตร การเข้าไปลงทุน และการซื้อเทคโนโลยี โดย K-Vision มีดิจิทัลแลบ 5 แห่ง ที่ กรุงเทพฯ จาการ์ต้า โฮจิมินห์ซิตี้ เซินเจิ้น และเทลอาวีฟ อยู่ในกระบวนการคัดเลือกเทคพาร์ทเนอร์อย่างเข้มข้น โดยคาดว่าบริษัทที่มีศักยภาพในการเป็นพันธมิตรจะมีจำนวนมากถึงกว่า 1,000 บริษัท เพื่อใช้ Digital Technology เข้ามาตอบโจทย์ในการธุรกรรมทางการเงินและเชื่อมโยงสู่ลูกค้าของธนาคาร
ดังตัวอย่างปีที่ผ่านมา ธนาคารร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐให้บริการรับชำระค่าธรรมเนียมจากระบบ e-VISA ด้วย E-Wallet และบัตรเครดิตกว่า 56 สกุลเงิน เริ่มใช้งานแล้วที่ประเทศจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส และจะขยายสู่ทุกประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งบริการนี้ธนาคารนำพันธมิตรทั้ง Global Tech Payment Partner และ Chinese Payment Partner เข้ามาตอบโจทย์ทั้งเรื่องสกุลเงิน ภาษา และช่องทางการชำระเงิน ให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องชำระค่าวีซ่ามาไทย และพร้อมเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการท้องถิ่นของไทยผ่าน Platform TAGTHAI ที่ธนาคารร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนถึง 48 แห่งจัดทำขึ้นมา
นอกจากนี้ธนาคารยัง ช่วยธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านช่องทาง E-Commerce เช่นอินโดนีเซียที่มีประชากรเกือบ 260 ล้านคน โดยร่วมมือกับบลีบลีดอทคอม (www.Blibli.com) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แพลตฟอร์ม  อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย จากการเปิดตัวในช่วงเดือนธันวาคมปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยลงทะเบียนกับบลีบลีดอทคอม แล้วกว่า 200 ราย มีสินค้าไทยที่ขายบนแพลตฟอร์มมากกว่า 1,500 รายการ พร้อมจัดโปรโมชันและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในประเทศอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น
สำหรับลูกค้าบุคคลหรือลูกค้ารายย่อย ธนาคารได้พัฒนาบริการโอนเงินไปต่างประเทศ ผ่านแอป K PLUS ไปสู่บัญชีปลายทาง โอนได้สูงสุด 50,000 ดอลลาร์ต่อครั้งต่อวัน รองรับการโอน 6 สกุลเงิน และจะเพิ่มเป็น 14 สกุลเงินในปี 2563 นี้ จุดเด่นบริการคือ ค่าธรรมเนียมต่ำ สะดวกรวดเร็ว ทำธุรกรรมได้แบบเรียลไทม์ ยอดเงินที่ถึงปลายทางครบจำนวน และตรวจสอบได้ ซึ่งนับเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของการโอนเงินข้ามประเทศในปัจจุบัน มีปริมาณธุรกรรมโอนเงินรายย่อยไปต่างประเทศผ่าน K PLUS มีสัดส่วนพอ ๆ กับการทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร
เพื่อก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นนาคารแห่งภูมิภาคที่แท้จริง (A Truly Regional Bank) นอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายและการหาพันธมิตร รวมทั้งแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านบริษัท K-Vision แล้ว ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง บริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited) หรือไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ส่วนหนึ่งของ Greater Bay Area ที่รัฐบาลจีนวางเป้าหมายเป็น The Silicon Valley of China ที่อุดมด้วยบริษัททางเทคโนโลยี จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีชั้นดี และเป็นศูนย์รวมบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านดิจิทัล ภารกิจหลักของ ไคไต้ เทค คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการของธนาคารกสิกรไทย ประเทศจีน การให้บริการดิจิทัลในภูมิภาค และสามารถนำนวัตกรรมที่ได้กลับมาใช้ประโยชน์กับธนาคารกสิกรไทยและลูกค้าไทยด้วยเช่นกัน
นายพิพิธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกสิกรไทยมีความพร้อมที่สร้างช่องทางและบริการดิจิทัลเพื่อพาคนไทยและธุรกิจไทยที่มีความเชื่อมั่นก้าวข้ามพรมแดนไปด้วยกันสู่โอกาสมหาศาลในยุคแห่งเอเชีย ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายในปีนี้สร้างช่องทางการบริการของธนาคารใน CCLMVI ให้ครบ และขยายพอร์ตลูกค้าบุคคลในประเทศจีน
 
จัดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยียุคใหม่ หนุนแบงก์เชื่อมต่อระบบกับพันธมิตรและตั้ง KASIKORN X สร้างฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย
 
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG) เปิดเผยว่า โลกกำลังเข้าสู่คลื่นดิสรัปชั่นรอบใหม่อีกครั้ง ที่ผู้เล่นขนาดใหญ่อย่างธนาคารกำลังจะกลายเป็นฟินเทคได้ด้วยโมเดลการพัฒนาบริการแบบ Open Banking ที่เปิดรับการนำไอเดียและเทคโนโลยีแบบฟินเทคที่ประสบความสำเร็จสูงเข้ามาเชื่อมต่อ ภายใต้ข้อได้เปรียบด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี หัวใจหลักในการทรานสฟอร์มของธนาคารกสิกรไทยในยุคนี้ คือ การผสานความแข็งแกร่งของธนาคารเข้ากับความสามารถทางด้านเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว  KBTG จึงเดินหน้าขับเคลื่อนแกนกลางความสามารถทางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย (KBank’s New Digital Core, Powered by KBTG) ในแกนสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
วางรากฐานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียุคใหม่ (Modern Architecture and Infrastructure) ประกอบด้วย 1) ระบบคลาวด์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud ได้อย่างรวดเร็ว (Hyper and Hybrid Multi Cloud) 2) การวางรากฐานสถาปัตยกรรมใหม่โดยยึดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด (Security and Data Privacy Uncompromised) 3) การทำโครงสร้างด้วยโค้ดเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างคล่องตัว (Infrastructure-as-Code) การวางรากฐานและโครงสร้างใหม่นี้จะรองรับได้ถึง 3 เท่าของธุรกรรมสูงสุด รับมือกับการขยายตัวของการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร 20 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบจำนวนรวม 12,000 ล้านรายการ โดยเป็นธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านรายการ
เสริมบทบาทธนาคารในการเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI (Enable KBank to become AI and Innovation Factory) KBTG สร้างขีดความสามารถใหม่เทียบเคียงบริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยผสานแพลตฟอร์มของข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Data and AI Pipeline) และกระบวนการจัดการนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเร่งสปีดการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ให้ธนาคารกสิกรไทย
สนับสนุนการพัฒนาบริการของพันธมิตรด้วยการเปิด API รับการเชื่อมต่อเข้ากับระบบบริการของธนาคาร (Open Banking API)  ปัจจุบันมีการเปิดรับการเชื่อมต่อสำหรับบริการหลากหลาย อาทิ การเชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงิน Pay with K PLUS (Pay with K PLUS API) เชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR API), เชื่อมต่อเพื่อยืนยันตัวตน (Authentication API), เชื่อมต่อบริการอี-วอลเล็ต (E-Wallet API) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีพันธมิตรเชื่อมต่อ API กับระบบธนาคารกว่า 50 บริษัท
นอกจากนี้ KBTG มีวิสัยทัศน์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีให้ล้ำไปอีกขั้นด้วยแนวทางการทำงาน ดังนี้
สร้างศักยภาพให้เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) คือการเป็นธนาคารอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและตอบโจทย์ของลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ทั่วประเทศ (Data-Driven Cognitive Bank) โดยมีเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับการพัฒนาแบบเต็มรูปแบบ
จากเทคโนโลยี AI สู่เทคโนโลยีขั้นสูง (Beyond AI Deep Tech Capability) ด้วยการสนับสนุนงานวิจัย และเปิดการเชื่อมต่อกับพันธมิตร (Open Tech Capabilities) เพื่อนำเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนไปผลิตนวัตกรรมและบริการที่เป็นประโยชน์ เช่น การร่วมมือกับ NECTEC และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการวิจัยเรื่อง Thai NLP เป็นต้น
มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาค (Beyond Thailand – Towards Regional Tech Organization) ตามที่ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง ไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสตาร์ทอัพจีนที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมที่ล้ำหน้าจำนวนมาก แหล่งรวมบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีกว่า 300 บริษัท และโอกาสในการเข้าสู่อีโคซิสเต็มซึ่งเป็นหัวใจหลักทางเทคโนโลยีของประเทศจีน
ยกระดับการเติบโตแบบใหม่ ด้วยการตั้ง KASIKORN X หรือเรียกอีกชื่อว่า KX เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory พันธกิจของ KX คือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง ด้วยเป้าหมายในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยมีวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อม และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดที่เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการทำงาน เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ
นายเรืองโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า การขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยไปสู่อนาคตยุคดิสรัปชั่นรอบนี้ จะมี KBTG เป็นกำลังสำคัญ ด้วยเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความพร้อม เพื่อสร้างบริการที่ลูกค้าประทับใจและตอบโจทย์ให้ลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ทั่วประเทศ พร้อมขยายศักยภาพสู่ภูมิภาค ไปจนถึงการจัดตั้ง KASIKORN X เพื่อเปิดรับโมเดลธุรกิจแบบฟินเทคอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2565 นี้
สำหรับเป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 4-6% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อลูกค้ารายย่อย (Retail) ที่คาดว่าจะเติบโต 9-11% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี (SME) คาดว่าจะเติบโต 1-3% และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) คาดว่าจะเติบโต 2-4% NIM จะลดลงเล็กน้อยเป็น 3.1-3.3% สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาลง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะลดลงที่ -5% ถึง -17% เป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 การเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันที่ยังชะลอตัว ส่วน NPL Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4.0% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และธนาคารปรับกลยุทธ์ในการจัดการ NPL โดยเก็บ NPL บางส่วนไว้บริหารจัดการเองหากคาดว่าจะได้รับการชำระคืนสูงกว่าในระยะยาว
RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img