น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงประเด็น การแจ้งข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจเป็นชนวนก่อความไม่สงบด้วย หรือไม่ ข่าวการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในระยะนี้ของประชาชน และเยาวชนกลุ่มต่างๆถูกตั้งข้อหาว่าเป็นการทำผิดกฎหมายชุมนุมสาธารณะ หรือขัดคำสั่งมาตรา44 ฉบับที่3/2558 และเลยเถิดไปถึงกับตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นข้อหาก่อความไม่สงบในราชอาณาจักรเลยทีเดียว
มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
การตั้งข้อกล่าวหาของเจ้าพนักงานตำรวจควรต้องถูกตั้งคำถามว่าเป็นการตั้งข้อกล่าวหารุนแรงเกินจริงหรือไม่
ปรากฎการณ์ที่ผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรูยืมเพื่อนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และประเด็นการออกกฎหมายเลือกตั้งของสนช.ที่ทำให้เวลาเลือกตั้งเลื่อนออกไป3เดือนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นกุมภาพันธ์ 2562 นั้นควรเป็นสิทธิของพลเมืองที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เหล่านี้ของบ้านเมือง ซึ่งไม่ควรถือเป็นความผิดอะไร ตราบเท่าที่การออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นการกระทำด้วยสันติวิธีโดยเฉพาะปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ 2560 ก็ได้ประกาศใช้แล้ว คำสั่งคสช.ที่3/2558 ย่อมมีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเที่ยวแจ้งข้อหาคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ ยกตัวอย่าง
1)กลุ่มประชาชนประมาณ30คนที่มาเชียร์พลเอกประวิตรให้อยู่ต่อ เมื่อวันที่1 ก.พ 2561 ที่หน้ากระทรวงกลาโหม นั้น ก็เป็นสิทธิที่เขาจะมาแสดงความคิดเห็นได้ แต่ตำรวจก็แจ้งข้อหาว่าผิดพ.ร.บ ชุมนุมสาธารณะ และห่างเขตพระราชฐานไม่เกิน150เมตร ทราบจากสื่อมวลชนว่ากลุ่มเชียร์ถูกปรับไป 3,000 บาท
2)กลุ่มเยาวชนที่ใช้ชื่อ YPD (Young People for Social-Democracy movement ,Thailand)ที่มาแสดงละครล้อเลียนในชื่อ ”ตามใจป้อม” เมื่อวันที่ 2 ก.พ 2561 ที่ Skywalk แถวอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิจำนวน 4คน ถูกตั้งข้อหาว่าผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเช่นกันและถูกปรับไป 10,000 บาท
กลุ่มYPD แสดงละครล้อเลียน ครั้งที่2 วันที่6 ก.พ 2561 ในชื่อ”ปฏิบัติการขืนใจป้อม” คราวนี้แสดงคนเดียว เพื่อไม่ให้เข้าองค์ประกอบผิดพ.ร.บ ชุมนุมฯ แต่ก็ถูกตำรวจสั่งยุติการแสดง และให้ไปบันทึกถ้อยคำ
3)ส่วนกลุ่มรวมพลคนอยากเลือกตั้งที่แสดงกิจกรรมที่Skywalk หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อ27มกราคม 2561 ถูกแจ้งข้อหาจากสถานีตำรวจปทุมวันว่าขัดคำสั่งคสช.ฉบับที่3/2558 และผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 ฟังข่าวจากสื่อมวลชนว่ากลุ่มนี้จะไปรับทราบข้อกล่าวหาวันพรุ่งนี้ 8 ก.พ 2561 และต้องนำเงินไปประกันตัวคนละ200,000บาท
คนที่จะถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา116 ต้องมีเจตนาพิเศษที่จะก่อความปั่นป่วนในบ้านเมือง แต่เยาวชนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเพียงแต่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปตามที่ท่านนายกฯได้กล่าวไว้ว่าเดือนพ.ย 2561 เท่านั้น จึงไม่น่าจะมีความผิดถึงขั้นเป็นการก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร การตั้งข้อหารุนแรงทำให้ต้องหาเงินประกันสูงถึง2แสนบาท และตำรวจสามารถคัดค้านการประกันตัว น่าจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหามากเกินไปหรือไม่
ตนเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตรแจ้งข้อกล่าวหามาตรา116 เมื่อต้นปี 2549 จากการที่ได้รับเชิญขึ้นเวทีพันธมิตรพูดเรื่องที่ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูป กฟผ.และต่อต้านการขายหุ้นชินคอร์ปของนายกฯทักษิณโดยไม่เสียภาษี ตนพูดว่าประชาชนไม่ควรเสียภาษีจนกว่านายกฯจะลาออก ดิฉันถูกรวมเข้าไปอยู่ในกลุ่มพันธมิตรรุ่นที่2 ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา116
คร้ังนั้นตนและพวกพันธมิตรรุ่น2 ไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหาในชั้นตำรวจ โดยส่งเรื่องขอความเป็นธรรมไปที่ศาลอาญาว่าตำรวจตั้งข้อหารุนแรงเกินความเป็นจริง และน่าจะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ปิดกั้นการตรวจสอบของประชาชน จึงขอความเมตตาจากศาลเปิดการไต่สวนคดีนี้ก่อนที่จะอนุมัติหมายจับให้ตำรวจมาจับตนและพวก
ศาลอาญาได้ให้ความกรุณาด้วยการเปิดการไต่สวน มีการนำเทปปราศรัยของตนมาเปิดให้ศาลฟัง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ทำให้ภาระการพิสูจน์กลับไปอยู่ที่ตำรวจที่ต้องพิสูจน์ว่าตนและพวกมีพฤติกรรมอะไรที่เข้าข่ายเป็นการก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร ถ้าหากตำรวจสามารถพิสูจน์ได้ว่าดิฉันมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายตามข้อกล่าวหาของตำรวจ หากศาลอนุมัติหมายจับ ดิฉันก็ค่อยไปมอบตัวในชั้นตำรวจและสู้คดีต่อไป
หลังจากเปิดการไต่สวนในครั้งนั้น ศาลไม่อนุมัติหมายจับ โดยคำสั่งของศาลระบุว่าพวกเราอาจจะใช้วาจาที่ขาดความเคารพไปบ้างแต่ไม่ถึงขั้นจะเป็นความผิดตามมาตรา116 ศาลระบุว่าพวกเรามีความผิดที่ใช้เครื่องเสียงและพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งตำรวจสามารถดำเนินการปรับได้ตามกฎหมาย
คดีนี้ตำรวจอุทธรณ์แต่ศาลก็ยืนตามคำสั่งเดิมเพราะตำรวจไม่มีข้อเท็จจริงใหม่มาหักล้าง ทำให้คดีนี้สิ้นสุดไปโดยไม่ต้องเป็นคดีรกโรงรกศาล
ในขณะที่คดีเดียวกันของพันธมิตรรุ่นที่1 ที่สู้คดีตามที่ตำรวจกล่าวหาใช้เวลาหลายปีกว่าศาลจะยกฟ้องในชั้นศาลฎีกา
การดำเนินคดีในชั้นตำรวจเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องมีความเป็นธรรมและไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ สั่งการของฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหาร หรือแม้แต่ไม่มีการสั่งการ แต่ตำรวจอาจดำเนินการไปเองเพื่อต้องการเอาใจผู้มีอำนาจก็เป็นไปได้
นายตำรวจเจ้าของคดีที่กล่าวหาตนฉันกระทำผิดมาตรา116 ในสมัยรัฐบาลนายกฯทักษิณ ปัจจุบันก็มีตำแหน่งเป็นสนช.ในรัฐบาลคสช.
สิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องระวังให้จงหนักก็คือ พฤติการณ์ของตำรวจบางคนที่ชอบตั้งข้อหารุนแรงหรือปราบปรามประชาชนเกินกว่าเหตุอันอาจเป็นชนวนก่อให้เกิดปฏิกิริยาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดกระแสว่ารัฐบาลเป็นศัตรูต่อชาติและประชาชนเสียเองหรือไม่???
อย่าลืมว่าประชาชนเป็นส่วนสำคัญของอำนาจอธิปไตย รัฐบาลใดละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสันติวิธีของประชาชนก็อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทยด้วยหรือไม่???
ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ก็เพื่อปฏิรูปกระบวนการสอบสวนให้มีความเป็นอิสระจากอิทธิพลของนักการเมือง หรือเพื่อไม่ให้ตำรวจต้องเอาใจรัฐบาลเพื่อหวังการเลื่อนตำแหน่งจนละเลยการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยเสมอหน้าเพราะกระบวนการในชั้นตำรวจเป็นกระบวนการเบื้องต้นของกระบวนการยุติธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นข้อเรียกร้องแรกๆของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปแต่รัฐบาลคสช.บริหารบ้านเมืองผ่านมาเกือบ4ปีแล้ว ดูท่าการปฏิรูปตำรวจยังอยู่ในวังวนแห่งความมืดมน ใช่หรือไม่