ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พากลุ่มคนขับรถสามล้อกว่า 100 ราย ที่เข้าร่วม “โครงการสามล้อเอื้ออาทร” ของกรมการขนส่งทางบกเดินทางเข้าพบ ร้อยตำรวจเอก ธงชัย โตเจริญ รองสารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 1 กองปราบปราม (รองสว.สอบสวน กก.1 บก.ป.) เพื่อร้องทุกข์เอาผิดกับ คณะกรรมการผู้จัดการสหกรณ์จักรเพชร,ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และสาขาสยามพารากอน หลังมีการทำสัญญาปล่อยสินเชื่อไม่เป็นธรรม จนทำให้กลุ่มผู้เสียหายกลายเป็นหนี้สินจำนวนมาก
น.ส.สารี กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพขับรถสามล้อเครื่องกว่า 115 คน ว่า ถูกฟ้องคดีจากธนาคารออมสิน และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญา ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้กลุ่มผู้เสียหายได้เข้าร่วมโครงการ “สามล้อเอื้ออาทร” ของกรมการขนส่งทางบกที่ให้สิทธิ์จดทะเบียนรถสามล้อรับจ้างใหม่ 814 คัน ซึ่งผู้มีความประสงค์ต้องมาลงทะเบียน โดยในวันที่มีการลงทะเบียนได้มีมีสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ไปเปิดบูทโฆษณาขายรถสามล้อเครื่องที่กรมการขนส่งทางบก โดยไม่มีป้ายแสดงราคา สอบถามแจ้งเพียงว่า ราคาไม่เกิน 3 แสนบาท ผู้เสียหายจึงจองซื้อรถกับสหกรณ์ และสหกรณ์ได้ติดต่อกับธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และพารากอน เพื่อทำสัญญาเงินกู้ที่สหกรณ์ฯ
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ซึ่งสัญญาทั้งหมดทางสหกรณ์ฯ จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาทั้งหมด ทางกลุ่มผู้เสียหายจึงเข้าใจว่า เป็นการกู้ไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินมาซื้อรถดังกล่าว โดยไม่ทราบว่า ได้กู้เงินไปจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งหลังจากทำสัญญาผู้เสียหายจะได้รับเพียงกระดาษจากสหกรณ์ฯให้ชำระหนี้เป็นรายสัปดาห์และได้รับเพียงสมุดบัญชีธนาคารเท่านั้น แต่ไม่ได้รับเงินและสัญญากู้เงิน ส่วนทะเบียนรถฉบับจริงสหกรณ์เป็นผู้เก็บ จากนั้นสหกรณ์จะแจ้งให้ผ่อนชำระค่างวดกับสหกรณ์โดยตรงหรือชำระที่ธนาคารดังกล่าว สาขาใดก็ได้ แต่ให้ชำระเข้าบัญชีสหกรณ์ และนำใบชำระเงินของธนาคารไปแลกใบเสร็จของสหกรณ์
น.ส.สารี กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาผู้เสียหายได้ชำระเงินให้สหกรณ์มาโดยตลอด แต่กลับถูกธนาคารฟ้อง เนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ จำนวนตั้งแต่ 3.5 แสนบาทถึง 5 แสนบาท และเป็นการกู้สินเชื่อประเภทธุรกิจห้องแถวไม่ใช่ไฟแนนซ์ รวมทั้งมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลุ่มผู้เสียหายไม่ทราบและไม่เคยทำสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ผู้เสียหายยังมาทราบอีกว่าในการทำสัญญาดังกล่าวนอกจากจะมีการทำกับทางธนาคารแล้ว ยังมีการให้ทำสัญญากู้ในส่วนของสหกรณ์อีกคนละประมาณ 330,000 ถึง 380,000 บาท เหมือนกับการทำสัญญาซ้อน จนทำให้กลุ่มผู้เสียหายต้องกลายเป็นหนี้จากการซื้อรถสามล้อคนละกว่า 7 แสนบาท จนทำให้ถูกฟ้องร้อง
น.ส.สารี กล่าวอีกด้วยว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าราคาสินค้ารถสามล้อ นั้นมีราคาไม่เกิน 200,000บาท เป็นเครื่องยนต์ 2 สูบของจีนแดงไม่เหมือนที่โฆษณาไว้ว่าเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบยี่ห้อไดฮัทสุ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจเข้าข่ายหลอกลวงขายสินค้า รวมถึงพบด้วยว่าทางผู้ให้สินเชื่อไม่ได้มีการสอบถามความประสงค์ของกลุ่มผู้เสียหายก่อน ผู้เสียหายจึงเข้าใจว่าเป็นการกู้ไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมาซื้อสามล้อ โดยไม่ทราบว่าตนกู้ไปเท่าไหร่ และเจ้าหน้าที่ให้ลงชื่อส่วนไหนก็ลงชื่อตาม ซึ่งอาจเข้าข่ายหลอกลวงให้ทำสัญญาโดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงอันควรแจ้ง และเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
“สำหรับโครงการสามล้อเอื้ออาทร เคยจัดขึ้นแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกผู้กู้ซื้อรถก็ทำสัญญากับธนาคารออมสินเหมือนในครั้งนี้ แต่ไม่ใช่สหกรณ์จักรเพชรเป็นคนดำเนินการ ธนาคารน่าจะทราบควรจะต้องทำแบบไหนถึงจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นมา แต่ครั้งนี้กลับเกิดความผิดพลาดจนทำคนขับรถสามล้อที่ถูกฟ้องร้องได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะต้องไปขึ้นศาลที่ภูมิลำเนา หยุดงาน และไม่มีรายได้ จึงอยากฝากคำถามไปถึงกรมขนส่งทางบกว่า ทำไมถึงอนุญาตให้มีเพียงผู้ประกอบการรายเดียวเอารถตุ๊กๆไปโชว์ภายในงาน และรับจัดหารถเพียงรายเดียวได้
น.ส.สารี กล่าวต่ออีกว่า นอกจากกรณีของผู้ขับรถสามล้อแล้ว ยังพบว่ามีกลุ่มผู้เสียหายอีกกลุ่มหนึ่งคือเจ้าของรถเมล์ร่วมบริการสาย 1 สาย 17 และสาย75 ถูกทางสหกรณ์ดังกล่าวทำสัญญาในลักษณะเดียวกันนี้ด้วยเช่นกันหลังเข้าไปติดต่อขอกู้เงินในจำนวนเงิน 50,000-100,000 บาท เพื่อมาซ่อมแซมรถ แต่ทางสหกรณ์แจ้งว่าจะต้องทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารออมสินสาขาเยาวราช โดยทางสหกรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยที่เจ้าของรถเมล์ ไม่ทราบว่าในสัญญานั้นมีการลงรายละเอียดเกี่ยวจำนวนเงินกู้ไว้เท่าใด ก่อนที่ต่อมาจะถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้จากการทำสัญญาเงินกู้ถึง 500,000บาท
เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ได้ทำการรับเรื่องพร้อมกับสอบปากคำกลุ่มผู้ร้องทุกข์ไว้ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนจะส่งต่อเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
Cr.เจริญผล เอี่ยมพึ่ง