เมื่อวานนี้ในรายการ “เหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย” อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ความสนใจของประชาชนที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วต่อบทเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โดยบางส่วนในรายการ อ.ธิดา กล่าวว่า “ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาท อิทธิพล และความสำคัญว่ามันโดนใจประชาชน…หรือเปล่า? คนที่แต่งเพลงแล้วคิดว่า ไพเราะแต่มีคนชมน้อยกว่าก็ไม่ต้องอิจฉา”
ถือเป็นบทบาทแนวรบด้านวัฒนธรรมของผู้ถูกกดขี่ซึ่งแปรออกมาในสภาพปัจจุบัน นั่นก็คือเพลงแร็พ ซึ่งเขาถือว่า เป็นเพลงแร็พต่อต้านเผด็จการ คือ Rap Against Dictatorship ในนามชื่อย่อ RAD ซึ่งชื่อคล้าย ๆ นปช. United Front of Democracy Against Dictatorship หรือชื่อย่อ UDD
อ.ธิดา ยังกล่าวต่อไปว่า ในการต่อสู้ประชาชนเราถือว่า แนวรบด้านวัฒนธรรมสำคัญยิ่ง ในอดีตคนที่ทำแนวรบด้านวัฒนธรรมคนสำคัญในประเทศไทยก็คือ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งงานศิลปวัฒนธรรมของผู้ถูกกดขี่มีทุกยุคทุกสมัยในทุกพื้นที่ในโลกนี้ และในประเทศไทยก็มีทุกภาค
เราจึงเห็นปฏิกิริยาของสังคมจากการเกิดเพลงแร็พนี้ ซึ่งถือเป็นผลิตผลของคนยุคใหม่ เพลงเพื่อชีวิต-หมอลำ-เพลงลูกกรุง-ลูกทุ่งแบบเก่าก็เหมาะกับยุคสมัยหนึ่ง ในขณะนี้คนยุคใหม่เขาก็คิดถึงและสนใจบ้านเมืองเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าเพลง “ประเทศกูมี” นี้มันสร้างความหวังให้กับนักต่อสู้จำนวนมาก จึงไม่แปลกใจที่ฝ่ายรัฐและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการก็ออกมาโจมตี
ในทัศนะของอ.ธิดา คำว่า “แนวรบ” มันไม่จำเป็นต้องเอาปืนมายิงกัน ดิฉันคิดว่า ปลายปากกางานเขียนวรรณกรรมหรือการแสดงดนตรี สิ่งเหล่านี้มีพลังที่ยิ่งใหญ่และมีผลสะเทือนมากกว่าการใช้อาวุธ สามารถเรียกร้องความสนใจและทำให้คนแสดงออกโดยเฉพาะโลกสมัยใหม่
สุดท้าย อ.ธิดา กล่าวว่า ดิฉันอยากให้กำลังใจกับวงแร๊พเปอร์นี้และผู้กำกับวงซึ่งได้ผลิตผลงานชิ้นนี้ออกมา ที่มีทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่โอเคเลย แน่นอนว่า มีคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ถ้าคนที่จิตใจเป็นธรรมแม้จะสนับสนุนรัฐประหารแต่เขาก็ยังยอมรับได้