แต่งตั้งตำรวจชำนาญเฉพาะทาง ต้องเสนอคนในหน่วยให้ผงาด  วอน”นายกฯ-ผบ.ตร.-ก.ตร.”ผลักดัน                  

210

อ่านคำสั่งที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)เซ็นให้รองผู้บัญชาการ(รองผบช.)-ผู้บังคับการ(ผบก.)ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)เมื่อวันที่ 10 มกราคม จำนวน 225 นาย ไปรักษาราชแทนในตำแหน่งใหม่ เพื่อรอโปรดเกล้าฯอย่างเป็นทางการ

       แต่มาสะดุดคำสั่งแนบท้ายที่ขออนุมัติการคัดเลือกแต่งตั้งตำรวจที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง จำนวน 29 ราย อดสงสัยไม่ได้การขออนุมัติยกเว้นนี้ จะเกี่ยวข้องกับตั๋วฝากหรือย้ายเพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือไม่ สุดจะคาดเดา

      พอดูในรายละเอียด ผบก.ที่ขยับเป็นรองผบช.หรือรองผบก.ขยับเป็น ผบก. น่าจะเข้าข่ายมีกำลังภายในหนุนส่ง ให้ขยับไว้ก่อนแล้วค่อยโยกสลับเมื่อถึงฤดูกาลโยกย้าย ซึ่งเป็นวิถีเดิมๆแต่ครั้งนี้ถือว่าไม่เยอะเหมือนในอดีต

     แต่ในบางตำแหน่งที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษบวกประสบการณ์ ไม่ควรแต่งตั้งบุคคลนอกหน่วยมานั่งบริหารหรือเสียบยอดหรือย้ายระนาบมาเพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้มานั่งในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน การแต่งตั้งโยกย้ายลักษณะนี้ ล้วนทำลายขวัญและกำลังใจบุคลากรในหน่วยที่ควรจะก้าวหน้า ขอตัวอย่างให้เห็นพอสังเขป อาทิ ตั้ง ผบก.ภ.จว.นครนายก เป็นรอง ผบช.สตส.ผบก.ภ.จว.มุกดาหาร เป็นรองผบช.สยศ.ตร. ผบก.ภ.จว.ชัยนาท เป็นรองผบช.สพฐ.ตร. ผบก.ส.เป็น
รองผบช.สยศ.ตร. ผบก.น.2 เป็นรองผบช.กมค. ผบก.ตอท.ย้ายไปเป็น ผบก.สบส.  รอง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ขยับนั่งผบก.พธ. รองผบก.ตอท. ขยับเป็นผบก.งป. และรองผบก.ภ.จว.ตรัง ขยับเป็น ผบก.คพ.เป็นต้น 

      ซึ่งแต่ละตำแหน่งล้วนต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษ เพื่อบริหารจัดการ ถ้าด้านตรวจสอบหรืองานงบประมาณ ต้องมีความรู้ทางบัญชีและการเงิน งานพิสูจน์หลักฐานต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งงานเหล่านี้บุคคลในหน่วยต่างมีความเชี่ยวชาญ แทนที่จะได้ก้าวหน้ากลับถูกนอกหน่วยตัดหน้าไป

       แม้ว่าการแต่งตั้งนายพลครั้งนี้อาจมีความจำเป็นเพราะบุคลากรภายในหน่วยคุณสมบัติไม่ครบ ตามที่กฎหมายตำรวจกำหนดไว้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานก.ตร. ผบ.ตร.ในฐานะผู้จัดโผ และก.ตร.ในฐานะผุ้ให้ความเห็นชอบ ควรจะหาแนวทางให้บุคคลภายในหน่วยได้ก้าวหน้าบ้าง แม้จะขัดกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติกฎหมายสามารถเปิดช่องให้เดินได้เสมอ ถ้าสามารถเปิดช่องให้บุคลากรภายในหน่วยได้เติบโต นอกจากจะสร้างขวัญกำลังใจและยังส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    แต่อดีตที่ผ่านมาวิถีการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญพิเศษ มักประสบปัญหาที่คนภายในหน่วยไม่มีโอกาสก้าวหน้ามีอยู่สองประการ

   ประการแรกพวกมีตั๋วฝาก เด็กนาย เหาะมาเสียบยอดยึดตำแหน่งพอถึงฤดูโยกย้ายจะสลับไปตำแหน่งที่ต้องการหรือมากด้วยผลประโยชน์  ประการที่สอง ย้ายบุคคลที่มีพฤติกรรมแสวงประโยชน์จนเกินงานมานั่งแบบเก็บกรุ

  ทั้งสองประการได้ทำลายขวัญกำลังใจบุคลากรภายในอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นลาออกไปหางานใหม่ทำ บางคนทำงานแบบแกนๆขาดความกระตือรือร้น อย่างกรณีงานพิสูจน์หลักฐานไม่อยากออกไปตรวจที่เกิดเหตุหรือถ้าจะออกแต่ละงานจะใช้เวลานาน ผลเสียที่ตามมาคืองานคดีที่พนักงานสอบสวนต้องการหลักฐานจะล่าช้าไปด้วย ชาวบ้านจะรับกรรมแบบเต็ม

   ดังนั้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับตำรวจภายในหน่วยได้เห็นความก้าวหน้า คงต้องพึ่งพาทั้งนายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. รองผบ.ตร.และก.ตร.หาช่องทางกฎหมายวางแนวทางไว้ และควรเชิญคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)มาหารือด้วยจะเป็นทางออกที่ดีอย่างยิ่ง เพราะการบริหารงานตำรวจ ต้องใช้หลักนิติศาสตร์ควบคู่กับหลักรัฐศาสตร์  หากเป็นได้ควรหารือร่วมกันโดยเร็ว เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะได้นำไปใช้กับการแต่งตั้งโยกย้ายรองผบก.-สารวัตร(สว.)ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้

    แต่ยังไม่มีแนวทางดังกล่าว คำสั่งขออนุมัติยกเว้นไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งแบบของนายพลเล็ก จะเกิดขึ้นแน่นอนและจะได้เห็นรอง ผกก.โรงพัก ข้ามห้วย ขยับเป็น ผกก.ใน สพฐ.หรือเป็น ผกก.ในฝ่ายตรวจสอบหรือเป็นผกก.วิทยาลัยพยาบาลหรือ ผกก.ในโรงเรียนตำรวจ หรือสว.ข้ามห้วยเป็นรองผกก.ในหน่วยดังกล่าวจำนวนมากแน่นอน

    “ประดู่แดง”ได้แต่คาดหวังว่าทั้งนายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. รองผบ.ตร. ก.ตร.และก.พ.ค.ตร. จะพิจารณาหาแนวทางให้ตำรวจในหน่วยที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษบวกประสบการณ์ ได้ก้าวหน้าและเติบโตในหน่วยที่สังกัดบ้างและทันใช้กับการแต่งตั้งรองผบก.-สว. ซึ่งผลดีจะตกกับองค์กรตำรวจที่ได้บุคลากรที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และอานิสงค์จะตกถึงประชาชนผู้ใช้บริการ !!!