สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)-13 มกราคม 2568 ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.), ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สอบถามกรณีที่แพทยสภาได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.67 เพื่อขอหนังสือแจ้งอาการป่วย และเวชระเบียนของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้าและออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ที่ขณะนั้นเป็นผู้ป่วยรักษาตัวที่ชั้น14 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 ม.ค. นี้ในการทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร กลับมายังคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจของแพทยสภา โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 จำนวน 30 นาย ตำรวจสันติบาล 20 นาย และตำรวจปทุมวัน 10 นาย คอยดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีกลุ่มมวลชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองพร้อมมือตบ ป้ายข้อความต่างๆ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยประวัติการรักษาของอดีตนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายพิชิต ไชยมงคล และนัสเซอร์ ยีหมะ นายใจเพชร กล้าจน แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) และกองทัพธรรม ได้ยื่นหนังสือโดยมีพ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ รองผู้บังคับการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายตำรวจเวรอำนวยการเป็นตัวแทนรับหนังสือ
ด้านนายพิชิต เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดในการ ติดตามส่งเวชระเบียนประวัติการรักษาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาให้แพทยสภา ซึ่งจะครบกำหนดภายในอีก 2 วัน เบื้องต้นวันนี้จะไม่มีการพักค้างแรมที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้มีการติดตามทวงถามความคืบหน้ามาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงเกรงว่าเรื่องดังกล่าวจะเงียบหายไป และหากครบกำหนดแล้วตัวเองจะเดินทางไปที่แพทยสภาเพื่อสอบถามว่าได้รับเอกสารดังกล่าวแล้วหรือไม่ และหากพบว่ายังไม่ได้รับคำตอบหรือข้อมูล ทางกลุ่มจะยกระดับเดินทางไปสอบถามข้อมูลกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 21 มกราคม 2568 เพราะมองว่านางสาวแพทองธาร เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งเรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กลับไม่มีคำตอบ
นายพิชิต เปิดเผยว่า ดังนั้น ในฐานะที่นางสาวแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคำชี้แจง อีกทั้งเวชระเบียนประวัติผู้ป่วยมีความสำคัญมาก เพราะมีความสำคัญในการพิสูจน์ประวัติการรักษาที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. หรือแพทยสภา นำไปพิสูจน์ทราบข้อกล่าวหาของนายทักษิณชินวัตรซึ่งถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันว่า การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้เป็นการเรียกร้องเพื่อให้ต้องการนำข้อมูลมาเปิดเผยกับกลุ่ม แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างชัดเจน
นายใจเพชร กล่าวว่า วันนี้ตัวเองพร้อมผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 70 คนได้เดินทางมาเป็นกำลังใจ ให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อผดุงความยุติธรรมดูแลความสงบสุขของประเทศชาติ เพราะหากประเทศไม่มีความยุติธรรม ก็จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ ส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจ แต่หากกระบวนการยุติธรรมถูกรักษาไว้ทุกฝ่ายก็จะมั่นใจ เพราะตัวเองมองว่ากรณีนี้หากนายทักษิณมีความบริสุทธิ์ใจจริงก็จะต้องส่งข้อมูลการรักษามาให้ตามการร้องขอ แต่หากไม่ส่งแสดงว่ามีความไม่ซื่อสัตย์ต้องเข้าข่ายกระทำความผิด โดยหากไม่มีความคืบหน้าทางกลุ่มจะยกระดับการทำหน้าที่อาจจะมีการพักแรมที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะเกิดความยุติธรรมในประเทศไทย เบื้องต้นมีการพูดคุยกับทุกกลุ่มหากพบว่าความยุติธรรมถูกแทรกแซง จะต้องมีกระบวนการในการติดตามยุติธรรมต่อไป ซึ่งส่วนตัวมองว่าการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้มองที่จำนวนผู้มาเข้าร่วม แต่มองว่าความสำเร็จคือเกิดความยุติธรรมขึ้นในกระบวนการยุติธรรม
ภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จสิ้น นายพิชิต ได้พูดคุยกับกลุ่มมวลชนที่มาร่วมแสดงจุดยืนที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการสลายตัวแยกย้ายกัน และได้นัดหมายกันใหม่ในวันที่ 15 มกราคมนี้ ที่แพทยสภาเพื่อสอบถามความคืบหน้าต่อไป