“ผู้ว่าฯชัชชาติ” ชี้ 3 ปัจจัยเกิดฝุ่น PM2.5 ควันดำรถยนต์ การเผาในที่โล่งแจ้ง สภาพอากาศปิด

217

“ผู้ว่าฯชัชชาติ” ชี้ 3 ปัจจัยเกิดฝุ่น PM2.5 ควันดำรถยนต์ การเผาในที่โล่งแจ้ง สภาพอากาศปิด เปรียบเหมือนฝาชีครอบฝุ่น ต้นเหตุค่าฝุ่นอยู่ระดับสีส้ม คาดการณ์ 12 ม.ค.68 ค่าฝุ่นมีแนวโน้มลดลง

(9 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยคือ รถยนต์ การเผาในที่โล่ง และสภาพอากาศที่ปิดทำให้เหมือนเป็นฝาชีครอบไม่สามารถระบายฝุ่นได้ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นในวันนี้อยู่ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกพื้นที่ และระดับสีแดง มีผลต่อสุขภาพในพื้นที่ 3 เขต คือ เขตหนองแขม (94.2 มคก./ลบ.ม.) เขตบางบอน (76.8 มคก./ลบ.ม.) และเขตธนบุรี (75.5 มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวานนี้ที่แดงเพียง 1 เขต คาดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยดังกล่าวพร้อมกัน โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยามวิทยาแสดงให้เห็นว่า วันที่ 6-9 ม.ค. 68 มีอัตราการระบายอากาศต่ำ แต่วันที่ 10-11 ม.ค. 68 ก็จะดีขึ้น แต่จะกลับลงมาต่ำอีกในวันที่ 12 ม.ค. 68

การเผาในพื้นที่รอบ กทม. เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ยากควบคุม พร้อมมอนิเตอร์ Hot Spot ใน กทม. แก้ไขที่ต้นตอการเกษตร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ Hot spot (จุดความร้อน) ซึ่งเกิดจากการเผา โดยขณะนี้มีหลายจุดเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และยังเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันจากปีที่แล้ว ทั้งยังมีลมจากทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดนำพาฝุ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ทำให้ค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น ส่วน Hot spot ใน กทม. ช่วงเดือนที่ผ่านมาแทบไม่พบ

สำหรับกรณีที่วานนี้พบว่ามีการเผา ปล่อยมลพิษในพื้นที่เขตหนองแขมนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าตรวจสอบแล้ว และหากพบ Hot spot และการเผาในจุดใดของ กทม. ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว ส่วนการเผาในการทำเกษตร ที่นิยมทำกันเพราะเป็นวิธีที่ถูกที่สุดในการกำจัดซากพืช กทม. จึงเตรียมเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรในกรุงเทพฯ ใช้ฟรี เช่นที่ หนองจอก มีนบุรี ขณะที่การเผาในต่างจังหวัดต้องประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายการเร่งแก้ปัญหาต่อไป

เดินหน้าต่อเนื่องมาตรการจัดการฝุ่นทุกมิติ พร้อมผสานกรมฝนหลวง เพิ่มมิติเหนือภาคพื้น เร่งระบาย PM2.5

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหา ด้านการกำจัดต้นตอฝุ่น PM2.5 กทม. มีโครงการ “รถคันนี้ลดฝุ่น” โดยการรณรงค์ให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง ซึ่งมีรถเข้าร่วมแล้วประมาณ 160,000 คัน จากเป้า 500,000 คัน การขึ้นทะเบียน “บัญชีสีเขียว” (Green list) สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปตามมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) มีรถลงทะเบียนแล้วกว่า 12,000 คัน จากเป้า 10,000 คัน การป้องกันการเผาภาคเกษตรโดยเตรียมเครื่องอัดฟางให้เกษตรกร กทม. ใช้ฟรี การจัดหน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่ ให้บริการตรวจวัดปริมาณควันดำ การตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ การควบคุมสถานประกอบการและแพลนท์ปูน ล้างทำความสะอาดถนนทางเท้าและฉีดพ่นละอองน้ำ

ด้านการติดตามเฝ้าระวัง เช่น โครงการนักสืบฝุ่น Risk Map ระบบการส่งการแจ้งเตือน เซ็นเซอร์ตรวจจับกว่า 1,000 จุด หรือการตั้ง War room ด้านการป้องกัน อาทิ โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยมีห้องต้นแบบแล้ว ปีนี้ได้รับกำลังเร่งทำทั้ง 1,743 ห้องเรียน พร้อมธงคุณภาพอากาศ และติดเครื่องกรองอากาศให้ศูนย์เด็กเล็ก โครงการต้นไม้ล้านต้นเดินหน้าไปถึง 2 ล้านต้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจบินพิชิตฝุ่น PM2.5 ในเขตน่านฟ้ากรุงเทพมหานคร เพื่อระบายฝุ่นที่ถูกกักเก็บในบรรยากาศภาคพื้น

ค่าฝุ่นยังไม่ถึงขั้นวิกฤต พร้อมออกประกาศเมื่อถึงเวลา ผนึกภาคี WFH 220 แห่ง พร้อมมาตรการจำกัดวงพื้นที่รถบรรทุกครั้งแรกในไทย

สำหรับการออกประกาศวิกฤตฝุ่นนั้น สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าเกณฑ์ในการออกประกาศ เนื่องจากต้องเป็นสีแดง 5 เขตขึ้นไป ติดต่อกันเกิน 3 วัน จึงยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะออกประกาศได้ แต่หากเกิดวิกฤตจะมีมาตรการ อาทิ ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถที่ขึ้นบัญชี Green list กับ กทม. หรือตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งน่าจะเป็นที่แรกในประเทศไทยที่มีมาตรการนี้ ส่วนมาตรการ Work From Home กรุงเทพมหานครได้เชิญชวนหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นเครือข่ายได้แล้ว 220 แห่ง รวมกว่า 84,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 คน สำหรับสถานศึกษานั้นจะให้หยุดพักการเรียนการสอนหรือปิดโรงเรียนและให้เรียนออนไลน์แทนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา

“แม้ฝุ่นใน กทม. จะมาจากรถยนต์กว่า 50% การให้ลดหรือห้ามใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและกระทบต่อหลายส่วน เพราะรถยนต์มีความจำเป็นในการเดินทางทำธุระส่วนตัว ประกอบกิจการหรือธุรกิจ ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะขอให้ทุกคนงดการใช้ หรือเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าได้ จึงดำเนินการเบื้องต้นได้แค่การรณรงค์ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศแทน เพราะทุกมาตรการต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและความคุ้มค่า” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

กทม. มาตรวัดค่าฝุ่นเดียวกับ กรมควบคุมมลพิษ แจงประชาชนเช็กการรายงานก่อนเปรียบเทียบ

ทั้งนี้ สำหรับรายงานผลตรวจวัดคุณภาพอากาศ (ค่าฝุ่น PM2.5) ของ กทม.นั้น ใช้ข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวน 70 เครื่อง โดยใช้มาตรฐานจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งคนละค่ากับ AQI ที่นำก๊าซหลายตัวมาคำนวณ และการรายงานของ กทม. จะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชม. ตามที่ WHO กำหนด ซึ่งไม่เท่ากับค่าฝุ่นรายชั่วโมง ทั้งนี้ หากประชาชนดูการรายงานค่าฝุ่นจากหน่วยงานหรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ขอให้ดูว่ารายงานเป็นค่าอะไร โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านทาง แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร

ชวนประชาชนป้องกันตัวเองอีกเกราะเพราะฝุ่นอยู่รอบตัวเรา หากมีปัญหาสุขภาพจากฝุ่น กทม. เปิด 8 คลินิค เฉพาะทางให้บริการ

สำหรับการปฏิบัติตัวในช่วงนี้ว่า ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก

ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ สามารถเข้ารับบริการที่คลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อเข้ารับการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในร่างกาย ตลอดจนการขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ฟรี ได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ที่เปิดให้บริการทั้ง 8 แห่ง

“ต้องเรียนว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 หลายปัจจัยก็อยู่เหนือความควบคุมของเรา เช่น เรื่องธรรมชาติ สภาพอากาศที่ปิด การเผาในพื้นที่นอก กทม. และประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็พยายามเดินหน้าแก้ปัญหาในทุกมิติ เชื่อว่าในปีนี้ หลาย ๆ โครงการที่ทำและดำเนินการต่อเนื่องมา รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะเริ่มเห็นผลและทุเลาปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #กทม #รถคันนี้ลดฝุ่น #บัญชีสีเขียว #GreenList