หน้าแรกการเมือง'ธีระชัย' ติง ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี คือแผนการเมือง-ไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

‘ธีระชัย’ ติง ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี คือแผนการเมือง-ไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ภายใต้ชื่อเรื่อง “แผนยุทธศาสตร์ชาติ: แท้จริงเป็นแผนการเมือง หรือแผนธุรกิจ?” โดยมีเนื้อหาใจความว่า “สังคมต้องไม่ยอมให้รัฐบาลใด ริดรอนสิทธิรัฐบาลอื่นในอนาคตโดยไม่จำเป็น!

การที่รัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดจะจัดชุดความคิด ในด้านยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน ที่ยาวนานถึง 20 ปี ทิ้งเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังนั้น เป็นเรื่องประหลาด ที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่เป็นสากล

จึงต้องถามว่า แท้จริงแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นแผนการเมือง หรือแผนธุรกิจ?

ในด้านการทหาร การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ยาวนานนั้น ก็พอรับได้ เช่น วิธีป้องกันประเทศสำหรับการรุกรานที่เข้ามาในทิศทางหนึ่ง แม้เวลาผ่านไป หลักยุทธวิธีก็คงจะคล้ายกับที่วางแผนไว้เดิม เพราะสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของแต่ละทิศทางก็ยังจะเหมือนเดิม

แต่ในด้านการพัฒนาประเทศนั้น สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามเทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศ วิกฤตเศรษฐกิจ กติกาสากล และวิวัฒนการในพฤติกรรมนิสัยมนุษย์

ดังนั้น ถึงแม้สังคมอาจจะเห็นพ้องร่วมกัน ในทิศทางการพัฒนาประเทศ แต่ก็จะมีจุดร่วมกันได้ แต่เฉพาะหลักการใหญ่ๆ

ส่วนประเด็นระดับรองย่อยลงมานั้น ย่อมจะมีความเห็นแตกต่างกันมากมาย เพราะแต่ละแนวทาง มีผลกระทบต่อคนในสังคมแตกต่างกัน ไม่ว่าแต่ละชั้นฐานะ แต่ละกลุ่มอาชีพ หรือแต่ละภาคทางภูมิศาสตร์

ในแต่ละประเทศ แผนยุทธศาสตร์จึงมักจะเป็นข้อคิดทางวิชาการ และมีหลายองค์กรที่ต่างจัดทำ เพื่อเป็นข้อเสนอแก่สังคม แต่ผมไม่เคยเห็นมีประเทศใด ที่กำหนดแข็งตัวในรูปแบบของกฎหมาย

มีผู้วิจารณ์ไว้ในประเด็นของ “การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล” ที่กำหนดไว้ในหมวด 3 มาตรา 23-27 ว่า “ให้อำนาจกับคณะกรรมการที่จะกล่าวโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม ให้เลือกเลยว่าจะยื่นเรื่องให้สภาผู้แทน หรือวุฒิสภา ที่จะส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณา ซึ่งแค่ชี้มูลก็ต้องพ้นตำแหน่ง” ดูลิงค์ข้างล่าง

ผมดูแล้ว เงื่อนไขอย่างนี้ ต้องสรุปว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แท้จริงก็คือแผนการเมืองนั่นเอง!

การที่ คสช. จะเสนอชุดความคิดใด เพื่อทิ้งเอาไว้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่เข้าท่าเข้าทาง รัฐบาลต่อมา ก็ย่อมจะนำไปปฏิบัติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ไม่ต้องบังคับขู่เข็ญกันเลย

ดังนั้น การยกระดับขึ้นเป็นกฎหมาย ที่สามารถลงโทษล้มรัฐบาลอนาคตได้ ถ้าไม่เรียกว่า เป็นอาวุธ และหมากกล ทางการเมือง แล้วจะเรียกว่าอะไร???

แต่ผมขอวิจารณ์ว่า แผนนี้มีเป้าหมายเป็นแผนธุรกิจอีกด้วย!

ปกติการหาจุดร่วมในแนวคิดยุทธศาสตร์ชาตินั้น จะต้องคำนึงถึงบริบททางสังคม เป็นธงนำ จะต้องถามว่า ประชาชนได้อะไร เสียอะไร

ดังนั้น กระบวนการในการหาจุดร่วม จะต้องใช้วิธีถกแถลง รวบรวมความคิดอย่างกว้างขวาง ทั้งภาคประชาชน และภาคการเมือง

แต่ตามบทความข้างล่าง องค์ประกอบของคณะกรรมการซึ่งมีอยู่ 35 คน

เป็นตามตำแหน่ง 18 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ซึ่งในกรรมการตามตำแหน่งนั้น เป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการ 13 คน

และเป็นประธาน Trade Associations 5 คน คือ ประธานสภาเกษตรกร สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาธุรกิจท่องเที่ยว และสมาคมธนาคาร

ผู้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตชัดเจนว่า Trade Associations ในไทยนั้น เป็นองค์กรที่นักธุรกิจรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองกับส่วนราชการ และเพื่อตั้งกติกาการแข่งขันระหว่างกัน มิใช่ตัวแทนภาคประชาชน

องค์ประกอบคณะกรรมการจึงเน้นแต่ ข้าราชการ ทหาร และนักธุรกิจ แต่ไม่มีภาคการเมือง ภาคประชาคม ภาคท้องถิ่น หรือตัวแทนองค์กรที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคใดๆ

กรณีของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ในภาพข้างล่างจะเห็นรายชื่อ

•ประธานฯนายพรชัย เคยเป็นกรรมการบริษัทพลังงาน
•นายดนุชา เป็นรองเลขาฯสภาพัฒน์ฯ แต่เป็นกรรมการบริษัทพลังงาน
•นายดุสิต เป็นเจ้าของบริษัทพลังงาน
•นายบัณฑิต เป็นอธิการบดีจุฬาฯ แต่เป็นกรรมการบริษัทพลังงาน
•นายปิยสวัสดิ์ เป็นกรรมการบริษัทพลังงาน
•นายมนูญ เป็นกรรมการบริษัทพลังงาน
•พลเอกเลิศรัตน์ เคยเป็นกรรมการ ปตท.
•นายสุนชัย เคยเป็นผู้ว่า กฟผ. ที่มีข่าวฝากสนับสนุนให้ผู้ว่าคนใหม่สางต่อโรงไฟฟ้ากระบี่
•นายเสมอใจ เป็นข้าราชการกระทรวงพลังงาน
•นายกวิน เคยเป็นเลขาฯกำกับกิจการพลังงาน

คณะกรรมการนี้จึงไม่มีภาคประชาชนร่วมอยู่ด้วยเลย แม้แต่คนเดียว!

ผมจึงไม่แปลกใจที่แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงาน มีแต่แง่มุมเพื่อจะพัฒนาธุรกิจพลังงานด้านต่างๆ

ไม่ต่างอะไรกับแผนการพัฒนาธุรกิจพลังงาน ที่บริษัทที่ปรึกษาเอกชนทั่วไปจะรับจ้างจัดทำขึ้น เพื่อเสนอให้เป็นพิมพ์เขียวแก่ประเทศ ในการตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจ

ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติ – ที่แท้จริงเป็นแผนการเมืองและแผนธุรกิจ – ที่ไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง อย่างนี้ จะกลายเป็นมรดกสีเทาเสียกระมัง”

"แผนยุทธศาสตร์ชาติ: แท้จริงเป็นแผนการเมือง หรือแผนธุรกิจ?"สังคมต้องไม่ยอมให้รัฐบาลใด…

โพสต์โดย Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2018


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img