สกู๊ปพิเศษ..!!! เปิดคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร. กรณี ตำแหน่ง นักบิน (สบ5)

256

(1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบตำแหน่งควบปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเอง (ตำแหน่งเลื่อนไหล)  

จากคู่มือการกำหนดตำแหน่งควบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุแนวทางการกำหนดตำแหน่งในระบบตำแหน่งควบปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเอง หรือที่เรียกว่า ตำแหน่งเลื่อนไหล คือ ตำแหน่งที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหรือตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้าที่ต้องปกครองบังคับบัญชา ซึ่งได้กำหนดตำแหน่งระดับสูงไว้เป็นการล่วงหน้า เช่น อาจารย์ (สบ 1) – (สบ 4) การเลื่อนตำแหน่งจะเลื่อนในตำแหน่งเลขที่เดิม โดยพิจารณาความรู้ความสามารถและผลงานที่ได้ปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสำคัญ  วัตถุประสงค์ของการกำหนดตำแหน่งควบ เพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าในอาชีพราชการ และเพื่อตอบสนองความจำเป็นของหน่วยงาน ให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ข้อดีของตำแหน่งควบ (1) สร้างบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญในตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ (2) สร้างแรงจูงใจให้บุคลากรคงอยู่ในหน่วยงาน เนื่องจากการเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นไม่ต้องรอตำแหน่งว่าง (3) รักษาบุคลากรที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งควบ ให้คงอยู่กับหน่วยงาน 

ข้อเสียของตำแหน่งควบ (1) เมื่อเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นถึงระดับจุดสูงสุดของตำแหน่งควบในตำแหน่งนั้น บุคลากรจะขอโยกย้ายไปไปสู่ตำแหน่งอื่น ๆ ที่สามารถเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นได้ (2) ตำแหน่งควบจะมีระยะเวลาการเจริญเติบโตที่สั้นกว่าในระบบตำแหน่งปกติ เนื่องจากไม่ต้องรอตำแหน่งว่าง ดังนั้นจะมีการอาศัยระบบตำแหน่งควบเป็นทางผ่านเมื่อเจริญเติบโตถึงระดับหนึ่งบุคลากรเหล่านี้จะขอโยกย้ายไปสู่ตำแหน่งอื่น (3) ปัญหามาตรการที่จะนำมาใช้วัดความรู้ความสามารถและความชำนาญของตัวบุคคลควรจะเป็นอย่างไร เพราะการเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นในตำแหน่งควบจะต้องมีการประเมินในด้านต่าง ๆ หากการประเมินต่ำกว่ามาตรฐาน จะได้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับระดับตำแหน่งนั้นอย่างแท้จริง  

จากแนวทางการกำหนดตำแหน่งในระบบตำแหน่งควบ สามารถสรุปได้ว่า ก.ตร.ได้กำหนดให้ตำแหน่งในสายงานนักบิน เป็นระบบตำแหน่งควบ สะท้อนว่า ตำแหน่ง นักบิน (สบ 1) – (สบ 5) เป็นตำแหน่งที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้าที่ต้องปกครองบังคับบัญชา การเลื่อนตำแหน่งจะเลื่อนในตำแหน่งเลขที่เดิม โดยพิจารณาความรู้ความสามารถและผลงานที่ได้ปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสำคัญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญในตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรคงอยู่ในหน่วยงาน เนื่องจากการเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นไม่ต้องรอตำแหน่งว่าง หน่วยงานย่อมต้องการให้นักบินสะสมความชำนาญในการบินและปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องไป ไม่ต้องการให้ย้ายออกไปสู่สายงานอื่น โดยมีแรงจูงใจและสิ่งตอบแทนอีกหลายประการ ดังจะได้กล่าวต่อไป

(2)  สถานภาพและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งควบของสายงานนักบิน / เทียบเคียงตำแหน่งควบสายงานอื่น ๆ สายงานนักบิน

กำหนดตำแหน่งไว้ 188ตำแหน่ง ปัจจุบันมีคนครอง 132 นาย ว่าง 56 ตำแหน่ง ตำแหน่งสูงสุด ในสายงานนักบิน เป็น ผบก. 1 ตำแหน่ง / นักบิน(สบ 6) 1 ตำแหน่ง รวม 2 ตำแหน่ง  ปัจจุบัน (ณ ธ.ค.2567) มีนักบิน สบ5 จำนวน 33 นาย / นักบิน สบ4 จำนวน 12นาย / นักบิน สบ3 จำนวน 23 นาย / นักบิน สบ2 จำนวน 26 นาย / นักบิน สบ1 จำนวน 38 นาย สายงานนักบิน เป็นระบบตำแหน่งเลื่อนไหล ถึง สบ5 ทุกนาย โดยไม่มีกรอบ ดังนั้น ในอนาคตคนครองที่มีอยู่ 132 นาย จะเป็นนักบิน สบ5 กันทุกคน ตำแหน่งควบถึง สบ5 โดยไม่มีกรอบ มีอยู่ไม่มาก เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกรอากาศยาน แตกต่างจากตำแหน่งควบอื่น ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก เช่นเภสัชกร 62 ตำแหน่ง ทุกคนไหลได้ถึงแค่ สบ3 ระดับ สบ4 มีกรอบ 5 ตำแหน่ง ระดับ สบ5 มีกรอบเพียง 4 ตำแหน่ง ,พยาบาล กว่า 1,100 ตำแหน่ง ทุกคนไหลได้ถึงแค่ สบ3 มีกรอบแต่งตั้งเป็น สบ4 ได้เพียง 66 ตำแหน่งแต่งตั้งเป็น สบ5 ได้เพียง 24 ตำแหน่ง,อาจารย์ ศฝร.ต่าง ๆ กว่า 270 ตำแหน่ง จะเลื่อนไหลถึง สบ.3 พอถึง สบ4 จะมีกรอบ 48 ตำแหน่งและมีกรอบ สบ5 แค่ ศฝร.ละ 1 ตำแหน่ง ,นักวิทยาศาสตร์ สังกัด สพฐ.ตร. กว่า 1,000ตำแหน่ง ทุกคนจะไหลได้ถึงแค่ สบ3 มีตำแหน่งสบ4รวมประมาณ 160ตำแหน่ง

เหตุผลที่สายงานนักบินเป็นตำแหน่งควบโดยไม่มีกรอบ ถึง สบ.5 ทุกนาย น่าจะเป็นเพราะการผลิตนักบินทำได้ยากและใช้งบประมาณสูง(นักบินเฮลิคอปเตอร์ ตร.ต้องจ่ายค่าฝึกอบรมคนละ 2.99ล้านบาท) และหน่วยงานต้องการรักษาบุคลากรไว้ จึงจูงใจให้เลื่อนไหลได้ถึง สบ5 โดยไม่มีกรอบ แต่เนื่องจาก บ.ตร. เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ หัวหน้าหน่วยงานเป็นได้แค่ ผบก. ซึ่งเป็นสายงานการบินด้วย และ ก.ตร. ได้กำหนดตำแหน่ง บักบิน (สบ 6) เพิ่มให้อีก 1 ตำแหน่ง เพื่อรองรับนักบิน สบ5 ที่มีอยู่จำนวนมาก จากการเลื่อนไหลโดยไม่มีกรอบ

(3) การจูงใจและการตอบแทนในรูปแบบอื่น

นักบิน (สบ 5) รับอัตราเงินเดือนระดับ ส.5 เงินเดือนตันที่ 74,320 บาท ได้เงินเชี่ยวชาญ9,900 บาท ได้เงินค่าตอบแทนฯ 9,900 บาท ได้เงินผู้ทำการในอากาศ (ต.อ.ก.) 15,000 บาท และได้เงินนักบินประจำกอง (ต.น.ก.) 13,200 บาท หากใครได้รับแต่งตั้งเป็นครูการบินหรือนักบินลองเครื่องจะได้ ต.ค.บ. (ไม่ได้ ต.น.ก.) 14,600 บาท รวมแล้วนักบิน (สบ 5) ที่เงินเดือนเต็มขั้น ได้ค่าตอบแทน เดือนละ 122,320 หรือ 123,720 บาทแล้วแต่กรณี เทียบเคียง รอง ผบก.ในระบบตำแหน่งหลัก เงินเดือน ระดับ ส.5 ตันที่ 74,320 บาท ได้เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท เงินค่าตอบแทนฯ 10,000 บาท รวมได้รับเดือนละ 94,320 บาท ,เทียบเคียง รอง ผบ.ตร. ในระบบตำแหน่งหลัก เงินเดือน ระดับ ส.8 ตันที่ 76,800 บาท ได้เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท เงินค่าตอบแทนฯ 21,000 บาท รวมได้รับเดือนละ 118,800บาท  จะเห็นได้ว่านักบิน สบ.5 ได้ค่าตอบแทนมากกว่า รอง ผบก.ทั่วไป 28,000 บาทต่อเดือนและได้ค่าตอบแทนมากกว่า รอง ผบ.ตร. และนักบิน สบ5 ยศ พ.ต.อ. ได้ค่าตอบแทนมากกว่า รอง ผบ.ตร. ยศ พล.ต.อ. 3,520 บาทต่อเดือน

(4) บำนาญที่สูงกว่า

นอกจากนั้น เงิน ต.น.ก. 13,200 บาท หรือเงิน ต.ค.บ. 14,600 บาท แล้วแต่กรณี ยังสามารถนำไปใช้คำนวณบำเหน็จบำนาญได้อีกด้วย เทียบเคียงระบบบำนาญ กบข. ซึ่งจะได้รับไม่เกินร้อยละ 70 นักบิน (สบ 5) จะได้บำนาญประมาณเดือนละ 61,264 บาท ส่วน รอง ผบก.ตำแหน่งหลัก คำนวณได้เฉพาะเงินเดือน ได้บำนาญประมาณเดือนละ 52,024 บาท หรือแม้แต่การเทียบเคียงกับ รอง ผบ.ตร. ยศ พล.ต.อ. จะได้บำนาญประมาณเดือนละ 53,760 บาท จะเห็นได้ว่า นักบิน (สบ 5) เมื่อเกษียณอายุ จะได้บำนาญมากกว่าผู้ที่เกษียณในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ประมาณ 7,500บาท ต่อเดือน

ทั้งนี้ หากเริ่มรับราชการตำรวจก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถใช้สิทธิ Undo ไม่ถูกบังคับเข้าระบบ กบข. บำนาญจะได้มากกว่านี้

(6) สิทธิเติบโตเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตร.

เมื่ออายุ 59.5 ปี นักบิน (สบ.5) ที่ติดอาวุโส30 ลำดับแรกในภาพรวม ตร. จะมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. เทียบเท่าผู้บังคับการ ดำรงตำแหน่ง 6 เดือน ก่อนเกษียณอายุ ตำแหน่งนี้ในการนับอาวุโสจะไม่แยกตำแหน่งทั่วไปกับตำแหน่งเฉพาะทาง มีการบอกเล่ากันมาว่า นักบิน (สบ5) บางท่าน เมื่ออายุ 59.5 ปี อยู่ในอาวุโส 30 ลำดับแรก ไม่ต้องการเลื่อนตำแหน่ง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. เนื่องจากเมื่อพ้นจากตำแหน่งนักบิน จะไม่ได้รับเงิน ต.น.ก. 13,200บาท หรือเงิน ต.ค.บ.14,600บาท ทำให้เสียสิทธิที่จะใช้คำนวณบำนาญในส่วนนี้ไป บางท่านใกล้เกษียณ เลือกยื่นเออลี่รีไทร์ ได้ยศ พล.ต.ต.เหมือนกัน และรักษาเงินบำนาญที่มากกว่า ไว้ใช้ไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต  


จะเห็นได้ว่าระบบตำแหน่งและค่าตอบแทนรวมถึงระบบบำนาญ ต้องการจูงใจให้นักบิน (สบ 5)
ดำรงตำแหน่งไปจนเกษียณอายุราชการ ไม่ต้องการให้โยกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น มีคำถามว่า ท่านที่ยื่นร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ถามเพื่อนนักบิน (สบ 5) แล้วหรือไม่ ทุกคนต้องการเลื่อนตำแหน่งเป็นชั้นนายพลในสายงานอื่นหรือไม่

(6) สถานภาพและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบตำแหน่งควบ/เทียบเคียงกับระบบตำแหน่งหลัก

การจะพิจารณาให้นักบิน สบ5 ต้องได้อาวุโสเหมือนกลุ่มตำแหน่งหลัก ควรพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับตำแหน่งหลักด้วย เนื่องจากตำแหน่งหลักนั้นต้องรอตำแหน่งว่าง การประเมินตำแหน่งควบแทบไม่เคยมีใครตก เมื่อการแต่งตั้ง รอง ผบก. ขึ้น ผบก. ใช้การพิจารณาอาวุโสในภาพรวม ร้อยละ 50 แต่กลุ่มตำแหน่งควบไม่ต้องรอตำแหน่งว่าง ครบขึ้น ครบขึ้น ย่อมเติบโตไปถึง สบ5 เทียบเท่า รอง ผบก. ได้เร็วกว่าตำแหน่งหลักมาก ยิ่งการเติบโตในสายนักบินโต ซึ่งเป็นตำแหน่งควบแบบไม่มีกรอบ ก็ยิ่งเป็น สบ5 ได้เร็วและมีจำนวนมาก  หากจะพิจารณาให้กลุ่มตำแหน่งควบมารวมอยู่ในบัญชีอาวุโสเดียวกันกับตำแหน่งหลัก กลุ่มตำแหน่งควบย่อมได้เปรียบ เนื่องจากเป็นม้าตีนต้น มาถึงคิวอาวุโสเร็วกว่า  ส่วนตำแหน่งหลักต้องรอตำแหน่งว่างใช้เวลานานกว่าจะมาถึงตำแหน่ง รอง ผบก.ที่จะนับอาวุโสภาพรวมทั้ง ตร.ได้ ก่อน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ใช้บังคับ เกณฑ์ประเมินตำแหน่งควบนักบิน กำหนดจำนวนปี สว.7 ปี รอง ผกก. 6 ปี ผกก. 3 ปี รอง ผบก. 3 ปี ดังนั้นผู้ที่เป็นนักบิน สบ5 ก่อน พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับปัจจุบันจะใช้เวลาเพียง 19 ปี ก็ได้เป็น สบ5 เทียบ รอง ผบก. มารอคิวอาวุโสนายพลได้แล้ว

แม้หลัง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ใช้บังคับ เกณฑ์ประเมินนักบิน ต้องใช้จำนวนปีตามมาตรา 77 เช่น เดียวกับกลุ่มตำแหน่งหลัก สว. 7ปี รอง ผกก. 5 ปี ผกก. 4 ปี รอง ผบก. 4 ปี แต่การเลื่อนไหลแบบไม่มีกรอบ สายงานนักบิน จะใช้เวลาเพียง 20 ปี ก็ได้เป็น สบ.5 เทียบ รอง ผบก. มารออาวุโสนายพลได้แล้ว แต่ตำแหน่งหลัก ต้องรอตำแหน่งว่าง และจะมีบางคนต้องรออาวุโส ร้อยละ 33 เมื่อศึกษาเทียบเคียงกับตำแหน่งหลักในสังกัด สง.ผบ.ตร. จากการแต่งตั้งที่ผ่านมา ต้องใช้เวลารออาวุโสร้อยละ 33 ระดับ สว. 11 ปี ระดับรอง ผกก. 9 ปี ระดับ ผกก. 12 ปี ระดับรอง ผบก. 7 ปี รวมใช้อายุราชการ 39 ปี จึงจะมาถึงตำแหน่ง
รอง ผบก. เทียบเคียง นรต. เข้าโรงเรียนเตรียมทหารอายุ 18 ปี ขึ้นเหล่าอายุ 20 ปี จบ รร.นรต.อายุ 24 ปี มีอายุราชการ 36 ปี หากโตด้วยอาวุโสเพียงอย่างเดียว จะเป็น ผกก. เมื่ออายุ 56 ปี เป็น รอง ผบก. เมื่ออายุ 63 ปี ซึ่งเกษียณไปก่อนแล้ว

(7) ผลกระทบต่อบัญชีอาวุโสในกลุ่มตำแหน่งทั่วไป / ปัญหาที่จะมีผลกระทบของการวินิจฉัยในเรื่องนี้

เมื่อเทียบเคียงกับบัญชีอาวุโสระดับ รอง ผบก. ในกลุ่มตำแหน่งทั่วไป (ตำแหน่งหลัก) ที่ประกาศไปแล้ว หากให้ตำแหน่งนักบิน (สบ 5) ซึ่งอยู่ในบัญชีอาวุโสตำแหน่งเฉพาะทาง (ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งพ.ศ.2567 ข้อ 4 ข้อ 8 และข้อ 12) เข้ามาอยู่ในบัญชีอาวุโสเดียวกันกับตำแหน่งทั่วไป สามารถเปรียบเทียบการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนักบิน (สบ 5) ตั้งแต่ 16พ.ค.59 ลงไปจำนวน 11 นาย จะมาแซงบัญชีอาวุโสตำแหน่งทั่วไปตั้งแต่ลำดับที่ 25 ถึง ลำดับที่ 37 เนื่องจากนักบินเติบโตมาด้วยระบบตำแหน่งควบ เติบโตเร็วกว่า โดยอาจเทียบเคียงการเติบโตที่เร็วกว่า จากการเป็น รอง สว.ครั้งแรก ซึ่งกลุ่มนักบิน 11 นาย ส่วนใหญ่เทียบเคียง นรต.รุ่น 49 ส่วนกลุ่มตำแหน่งทั่วไป อาวุโส ลำดับ 25 ถึงลำดับ 37 ที่จะโดนแซงคิว ส่วนใหญ่ เทียบเคียง นรต.รุ่น 40 ถึง นรต.รุ่น 42 ซึ่งใกล้เกษียณแล้ว หากให้ตำแหน่งนักบิน (สบ 5) เข้ามาอยู่ในบัญชีอาวุโสเดียวกันกับตำแหน่งทั่วไป ย่อมได้สิทธิเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการกำหนดตำแหน่งควบ และความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ทำการบินที่สั่งสมมาต้องสูญเสียไป

นอกจาก นักบิน (สบ5) ที่มีอยู่ 30 นาย ยังมีข้าราชการตำรวจที่เติบโตจากระบบตำแหน่งควบในสายงานอื่นจนถึงระดับ สบ5 อีกเป็นจำนวนมาก เช่น นายแพทย์ (สบ 5) 59 นาย ทันตแพทย์ (สบ 5) 8นาย พยาบาล (สบ 5) 24นาย เภสัชกร (สบ 5) 4 นาย นักวิทยาศาสตร์ (สบ 5) 25 นาย อาจารย์ (สบ 5) 37 นาย ก็ย่อมเรียกร้องอีกเช่นกัน และเนื่องจากสัดส่วนอาวุโสระดับ ผบก. เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 50 ผู้ที่เติบโตจากตำแหน่งเลื่อนไหลซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะและกลุ่มอำนวยการ เมื่อเติบโตเร็วกว่า ครบขึ้น ครบขึ้น อาจมาแซงคิวและเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ โดยไม่มีความรู้และประสบการณ์ เนื่องจากงานในระบบตำแหน่งเลื่อนไหลเป็นลักษณะงานเฉพาะตัว ไม่เคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน อาจเกิดความเสียหายต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไม่เป็นธรรมกับข้าราชการตำรวจในระบบตำแหน่งหลัก

(8) โอกาสเจริญเติบโตของนักบิน (สบ 5) มีอยู่พอสมควรแล้ว

จากที่กล่าวมาเป็นลำดับ จะเห็นได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จูงใจและตอบแทน ให้นักบิน (สบ5) อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณ กล่าวคือ ให้เติบโตในระบบตำแหน่งควบเลื่อนไหลโดยไม่มีกรอบ เป็นนักบิน (สบ5)ได้ทุกคน ได้ยศ พันตำรวจเอกพิเศษ ทุกคน กล่าวได้ว่าให้ยศ ให้ตำแหน่ง พอสมควรที่จะให้ได้ในหน่วยงานระดับกองบังคับการ แม้ตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. ในกองบินตำรวจ จะมีเพียง 2 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับตำแหน่งหลัก ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรเกษียณอายุรวม 1,117 นาย เป็นระดับ สว. 270 นาย ระดับ รอง ผกก. 252 นาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งหลัก   

นอกจากนั้นยังมีการจูงใจและตอบแทนในรูปแบบอื่น ทั้งเงินตำแหน่ง และบำนาญ เพื่อให้ทักษะนักบินยังได้ใช้งานในหน่วยงานจนเกษียณอายุ หากให้เลื่อนสูงขึ้นในตำแหน่งอื่น หน่วยงานย่อมสูญเสียทักษะเฉพาะของนักบินไป และยากที่จะสร้างทดแทน 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ตำแหน่งนักบิน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน ซึ่งมาตรา 83 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 กำหนดให้การเติบโตในกลุ่มสายงานใดกลุ่มสายงานหนึ่ง ต้องเคยดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายงานนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เทียบเคียงตำแหน่ง ผบก.ซึ่งมีอยู่ 326 ตำแหน่ง อยู่ในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน 119 ตำแหน่ง เป็นสายงานบริหารงานอำนวยการและสนับสนุน 93 ตำแหน่ง เช่น ผบก.ทพ. ผบก.วจ. ผบก.อก.ฯลฯ ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งไว้กว้าง ๆ เพียงว่า ต้องเคยเป็น รอง ผบก.หรือเทียบเท่าในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ปี ดังนั้น นักบิน สบ5 สามารถเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการในสายงานบริหารงานอำนวยการและสนับสนุน ซึ่งมีอยู่ 93 ตำแหน่งนี้ได้อยู่แล้ว  

แม้จะอยู่ในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน แต่ นักบิน (สบ 5) จะแยกอยู่ในบัญชีอาวุโสตำแหน่งเฉพาะทางเนื่องจากเติบโตมาจากระบบตำแหน่งควบ หากนำมาคิดอาวุโสรวมกับตำแหน่งทั่วไป ย่อมได้เปรียบอย่างมาก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  


(9) ควรกำหนดตำแหน่งนักบิน (สบ 6) เพิ่มอีกหรือไม่

การกำหนดตำแหน่งเพิ่ม ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 69 ที่ให้คำนึงถึงลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน รวมทั้งความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลความไม่ซ้ำซ้อน และการประหยัดเป็นหลัก

เมื่อพิจารณาจากที่มาของการกำหนดตำแหน่งควบ คือ ตำแหน่งที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหรือตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้าที่ต้องปกครองบังคับบัญชา ดังนั้นปริมาณงานและคุณภาพงานของสายงานนักบิน คือปฏิบัติงานการบินด้วยความชำนาญงานเป็นการเฉพาะตัว ไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ไม่ใช่งานบริหาร การกำหนดตำแหน่งนักบิน (สบ 6) เพิ่ม ไม่น่าจะสอดคล้องกับกฎหมายและวัตถุประสงค์ของการกำหนดตำแหน่งเป็นระบบตำแหน่งควบ มีความเห็นว่าตำแหน่ง ผบก.บ.ตร. และตำแหน่ง นักบิน (สบ6) รวม 2 ตำแหน่งมีอยู่พอสมควรแล้ว เนื่องจากตำแหน่งนักบิน (สบ5) เติบโตมาจากระบบตำแหน่งควบโดยไม่มีกรอบตำแหน่งนักบินที่มีอยู่ทั้งหมด 188 ตำแหน่ง สามารถเติบโตเป็นนักบิน (สบ5) ได้ทุกคน ต่างจากตำแหน่งควบอื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่านักบิน แต่กลับมีกรอบตำแหน่งระดับ สบ5 จำนวนน้อยกว่ามาก เช่น พยาบาล กว่า 1,100 ตำแหน่ง มีกรอบตำแหน่ง พยาบาล (สบ5) เพียง 24 ตำแหน่ง และมีกรอบพยาบาล (สบ6) อยู่ 2 ตำแหน่งเช่นกัน ดังนั้น จะมีจำนวนหนึ่ง เกษียณในตำแหน่ง พยาบาล (สบ3) อาจเทียบเคียงกับตำแหน่งในสายงานที่จบจากสถาบันหลักเช่นเดียวกัน คือ ตำรวจน้ำ ที่จบจากโรงเรียนนายเรือ สายงานปฏิบัติการป้องกันปราบปรามทางน้ำ ถูกจัดอยู่ในตำแหน่งเฉพาะทางเช่นกัน มีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเดินเรือ (สบ 6) จำนวน 2 ตำแหน่ง เท่ากับสายงานนักบิน ส่วนตำแหน่ง ผบก.รน. อยู่ในสายงานบริหารงานป้องกันปราบปราม ซึ่งคุณวุฒิของนักเรียนนายเรือเข้าสู่ตำแหน่ง ผบก.รน. ไม่ได้ ถือว่า นักบิน (สบ 5) ได้เติบโตในระดับหนึ่งพอสมควรแล้ว และยังมีการตอบแทนและจูงใจในรูปแบบอื่น ให้อยู่ในตำแหน่ง นักบิน (สบ 5) จนเกษียณอายุ ดังได้กล่าวมาเป็นลำดับ

(10) ความเห็นประเด็นเส้นทางการเจริญเติบโต

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเฉพาะทางที่อยู่ในกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง พ.ศ.2567 ข้อ 4 กำหนดให้เป็นตำแหน่งเฉพาะทาง โดยอยู่ในระบบตำแหน่งหลัก เช่น บริหารงานก่อสร้าง สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของงานวิชาชีพ ที่ต้องปฏิบัติโดยผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาที่ไม่อาจมอบหมายให้ผู้มีคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติงานแทนได้ และเป็นงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด มีองค์กรตามกฎหมายทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองและรับรองการประกอบวิชาชีพ และยังมีตำแหน่งในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน ในระบบตำแหน่งหลัก ถูกจัดในกลุ่มเฉพาะทางที่ เช่น สายงานการเงินและบัญชี สายงานช่างไฟฟ้าสื่อสาร สายงานตรวจสอบภายใน สายงานบัญชี สายงานประมวลผล สายงานสัตวแพทย์ ฯลฯ ตำแหน่งเฉพาะทาง สายงานต่าง ๆ ข้างต้น ล้วนอยู่ในระบบตำแหน่งหลัก ต้องรอตำแหน่งว่าง จึงจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้ ไม่ได้สิทธิในการเติบโตแบบเลื่อนไหล แต่ไม่นับรวมบัญชีอาวุโสกับตำแหน่งทั่วไป ถือว่ายังได้สิทธิน้อยกว่าสายงานเลื่อนไหล เช่น สายงานนักบิน อีกเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ ในการกำหนดตำแหน่งและเส้นทางเจริญเติบโตของข้าราชการตำรวจ ต้องพิจารณาภารกิจหลักของ ตร. ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เป็นหลัก เมื่อภารกิจหลักคือการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ตำรวจ 213,000 นาย อยู่ในกลุ่มป้องกันปราบปรามและสืบสวนสอบสวนกว่า 177,000 นาย หรือกว่าร้อยละ 83 มาตรา 78 (1)จึงระบุให้ตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน ต้องมีประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม  


ตำแหน่งในสายงานอื่น จึงควรมีเส้นทางการเจริญเติบโต เท่าที่ภารกิจของหน่วยงานจำเป็นต้องใช้ผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานนั้นในการปฏิบัติงานให้ภารกิจลุล่วงไปได้ ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้ทุกสายงานเติบโตได้ถึงตำแหน่ง ผบ.ตร. อย่างเท่าเทียมกัน เพราะลักษณะงานที่ แพทย์ เภสัช พยาบาล อาจารย์ นักบิน ฯลฯ เป็นความชำนาญงานเฉพาะสำหรับปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภารกิจหลักของ ตร. ซึ่งมีปริมาณงานคุณภาพงานและหน่วยงานรองรับเท่าที่จำเป็นสอดคล้องกับแนวทางการกำหนดตำแหน่งตามมาตรา 69 ที่ให้คำนึงถึงลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน รวมทั้งความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความไม่ซ้ำซ้อน และการประหยัดเป็นหลัก เปรียบเทียบกับ ผู้ที่จบบัญชีจุฬา หากสมัครทำงานในเครือซีเมนต์ไทย ย่อมเติบโตได้แค่หัวหน้างานบัญชีไม่มีโอกาสเติบโตเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ส่วนใหญ่จบวิศวกรรมและบริหาร

ทั้งนี้ ระบบคุณธรรม ตามมาตรา 60 นอกจากความเสมอภาคแล้ว ยังมีหลักความสามารถ (ซึ่งย่อมผูกติดอยู่กับสายงาน) หลักประโยชน์ของทางราชการ หลักผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงาน รวมแล้วคือหลักประโยชน์สาธารณะนั่นเอง

ดังนั้น ในการพิจารณาระบบและโครงสร้างการบริหารงานบุคคล ไม่ควรหยิบยกเพียงมาตราหนึ่งมาตราใดขึ้นมาสนับสนุนความเห็นของปัจเจกบุคคล แต่ต้องมองในภาพรวม ศึกษาความเชื่อมโยงของกฎหมายทุกมาตรา และเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะเหตุผลหลักที่ต้องมีองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการจัดทำ “บริการสาธารณะ” ตามหน้าที่และอำนาจของ ตร. ในมาตรา 6 คือ คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  

(11) เปรียบเทียบกับข้าราชการทหาร และแนวทางข้าราชการตำรวจไม่มียศ

เทียบเคียงหน่วยงานภายนอกเช่น ข้าราชการทหาร จะไม่มีระบบตำแหน่งควบ ทั้ง นักบิน แพทย์ พยาบาล เติบโตด้วยตำแหน่งหลัก ต้องรอตำแหน่งว่าง พยาบาลในค่ายทหารต่าง ๆ จำนวนมากเป็นอัตราพันตรี หากต้องการเลื่อนขึ้นอัตราพันโท ต้องย้ายสายงาน ซึ่งเป็นไปได้ยาก 

ขณะที่ข้าราชการตำรวจหากดำรงตำแหน่งสารวัตร จะได้ยศพันตำรวจโท กินเงินเดือน ส.3 โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี ข้าราชการทหาร อยู่ระหว่างศึกษาการใช้ระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหม เพื่อให้เติบโตในระบบตำแหน่งพลเรือนประเภทวิชาการ ซึ่งไม่ใช่หัวหน้าหน่วยงาน สามารถเติบโตเป็นตำแหน่ง ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ทรงคุณวุฒิ คล้ายกับระบบตำแหน่งควบ ข้าราชการพลเรือนกลาโหม หากเทียบเคียงกับตำรวจ  คือ ข้าราชการตำรวจประเภทที่ไม่มียศ ซึ่งผู้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 น่าจะทราบปัญหาของระบบตำแหน่งเลื่อนไหล ที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลา
เมื่อทุกคนเลื่อนไหลมาจนสุดทาง จะมีการร้องเรียนเรียกร้องขอเติบโตในสายงานอื่น ซึ่งตนเองไม่ได้มีความชำนาญ ทางแก้ของผู้ร่างกฎหมาย อยู่ในมาตรา 8 ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ สามารถกำหนดตำแหน่งเป็นข้าราชการตำรวจไม่มียศได้

ทีมข่าวไทยแทบลอยด์ รายงาน