อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งการ เพิ่มมาตรการดูแลนักท่องเที่ยว และผลักดันช้างป่าออกจากพื้นที่ท่องเที่ยว ด้าน อช.ภูกระดึงเตรียมซักซ้อมแผนดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัยจากช้างป่าก่อนเปิดบริการ
วันที่ 16 ธันวาคม 2567 เวลา 15.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่ารบกวนประชาชน ผ่านระบบ Video Conference (ZOOM) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายจุลกร เมืองแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 ขอนแก่น (สบอ.8) นายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขา และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
นายอรรถพล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้สั่งการสำคัญเพื่อเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ดังนี้
(1) ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติภูกระดึงอย่างเข้มงวด
(2)เพิ่มขั้นตอนให้นักท่องเที่ยวรับฟังการบรรยายเรื่องความปลอดภัยก่อนเข้าพื้นที่
(3)จัดทำแผนสับเปลี่ยนกำลังพล ทั้งชุดลาดตระเวน เจ้าหน้าที่ประจำจุด และชุดผลักดันช้าง พร้อมระบุจุดปฏิบัติงาน อุปกรณ์ และยานพาหนะให้ชัดเจน
(4)กำหนดซักซ้อมขั้นตอนการเช็คอินและการปฏิบัติงานของทุกชุดปฏิบัติการในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2567
(5) ขยายรัศมีการผลักดันช้างป่าเป็น 2 กิโลเมตรจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง
(6)ดำเนินการย้ายและฝังกลบหลุมขยะเพื่อลดการดึงดูดสัตว์ป่า
(7) จัดทำแผนผังระบุจุดเฝ้าระวังพร้อมอุปกรณ์อย่างละเอียด
(8)จัดการซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินกรณีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากสัตว์ป่า
(9) จัดทำโป่งเทียมเพื่อดึงดูดช้างให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม
ด้านนายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวถึงแผนการดำเนินงานว่า จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ สบอ.8 ขอสนับสนุนรถจักรยานยนต์ 10 คัน โดรน 5 ตัว และจัดซื้ออุปกรณ์ปฐมพยาบาล สำหรับวันที่ 20-21 ธันวาคม 2567 ทางอุทยานฯ เตรียมจัดซ้อมแผนปฏิบัติการครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่
(1)การอบรมให้ความรู้นักท่องเที่ยวเรื่องการป้องกันตัวจากช้างป่า ตั้งแต่จุดทางขึ้น
(2) การซ้อมแผนลาดตระเวนผลักดันช้างป่า
(3) แผนการเข้าพื้นที่กู้ภัยแบบเร่งด่วน
ในส่วนของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ได้รายงานสถานการณ์และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงาน 3 ประการสำคัญ ได้แก่
(1)แนวทางการประสานงานและการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและป้องกันช้างป่า
(2)การทำงานร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังและป้องกันช้างป่า
(3) การประสานงานภายในและการรายงานผลมายังส่วนกลาง
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์ช้างป่าอย่างเป็นระบบตามนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง.
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง – Phu Kradueng National Park