เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ปรึกษาและคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) (Disaster Care Center for the Vulnerable : DCCV) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดที่ภาคใต้ แม้ว่ากระทรวง พม. ได้มีการเตรียมการและวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว ได้สั่งการให้ตนในฐานะพื้นเพเป็นคนใต้ ชำนาญพื้นที่ ให้เข้าติดตามการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด และจากการที่ตนได้พูดคุยกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 4 จังหวัด ประกอบด้วยสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และชุมพร ถึงสถานการณ์อุทกภัย บางแห่งน้ำลดลงแล้ว บางแห่งสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เช่น ระนอง สุราษฎร์ธานี แต่ยังมีปัญหาเรื่องการคลี่คลายสถานการณ์ความช่วยเหลืออยู่ ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาอยู่พอสมควรคือนครศรีธรรมราชเนื่องจากน้ำจากเขาหลวง ลานสะกา และพรหมคีรีไหลรวมเข้าเมืองค่อนข้างมาก ทำให้เกิดท่วมขังในเขตเมืองนครศรีธรรมราชค่อนข้างสูง จนเทศบาลชักธงแดงแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ขณะนี้ยังมีฝนตกลงมาเพิ่ม
โดยรวม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่มีปัญหาเพราะ ฝนตกชนิดที่เรียกได้ว่าไม่เคยปรากฏมาก่อน ถือว่าฝนตกแบบไม่ปกติ คือฝนตก 2 วันติดต่อกัน จำนวนน้ำฝนตกลงมามากทำให้น้ำเอ่อขึ้นมา ประกอบกับระยะนี้เป็นหน้ามรสุม น้ำทะเลหนุนด้วย ทำให้ผนวกกันจนเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้
โดยทั่วไปที่มีสถานการณ์รุนแรงเท่าที่ได้รับรายงานคือที่เกาะสมุยมีดินสไลด์ ทำให้มีแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเสียชีวิตไปหนึ่งราย อีกปัญหาหนึ่งของภาคใต้คือฤดูมรสุม เช่นที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดพายุงวงช้าง ทางพม.จังหวัดนครศรีธรรมราชจะได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล และรายงานมาให้ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนบนนั้น ไม่เหมือนกับสถานการณ์น้ำท่วม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือสภาวะของกลุ่มเปราะบางจะมีความต้องการเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็กต้องการนมผง ผู้สูงอายุต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับผู้สูงวัย และกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการผ้าอนามัย โดยในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ได้ประสานขอสิ่งของเหล่านี้จากยูนิเซฟเข้าไปแจกซึ่งไม่มีปัญหา แต่จังหวัดภาคใต้ตอนบน ขณะนี้เราไม่มีการบริจาคในลักษณะพิเศษดังกล่าว จึงต้องให้ทาง พม.จังหวัดของ กระทรวง พม.ช ช่วยประสานดูว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งในกรณีเช่นนี้หากเกิดขึ้นทั่วประเทศจะต้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มเปราะบาง เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน
สำหรับจังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดที่รับน้ำจากที่สูงเพื่อออกทะเลเป็นเช่นนี้มาต่อเนื่องทุกปี แต่ปีนี้ปริมาณน้ำเยอะมาก ปัญหาคือถนนสายเอเชียซึ่งเป็นสายหลัก ปริมาณน้ำลด แต่รถยนต์สะสมมาก ทำให้รถติดยาวมาก เพราะถนนตัดขาด รถสะสมมานาน 2 วัน หน่วยงานที่จะเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่กลุ่มเปราะบาง การทำงานติดขัด เดินทางได้ลำบาก ในถนนสายรองน้ำยังท่วมอยู่ ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือ ยังมีสภาวะการคมนาคมที่ยากลำบากอยู่มาก
ในวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมนี้ มีการเรียกประชุมศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ(ศบปภ.) ผ่านทางออนไลน์ เวลา 10.00 น. ที่กระทรวง พม. เพื่อกำกับติดตามดูแลการปฏิบัติการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ถึงพื้นที่โดยตรง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ทั้ง 4 จังหวัดจะเข้าพื้นที่และรายงานข้อมูลมาที่กระทรวง พม. เพื่อพูดคุยประสานงานกับส่วนกลางว่าจะมีการสั่งการจากกระทรวงเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. เปิดพื้นที่หน่วยงานเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายแห่ง ในหลายจังหวัด ประชาชนและพี่น้องกลุ่มเปราะบางสามารถสอบถามได้จาก สำนักงาน พม. จังหวัดนั้นๆ หรือโทร. 1300 สายด่วน พม.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง