”ก.พ.ค.ตร.”เล่นบทเข้ม ทำ”ผบ.ตร”อยู่ในอาการเกร็ง หวั่นงานบริหารบุคคลสะดุด

295



     นับแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.)ตามองค์ประกอบของกฎหมายตำรวจ 2565 น่าจะทำให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  ในฐานะเจ้าสำนักปทุมวัน อยู่อาการเกร็งไม่น้อย เนื่องจาก ก.พ.ค.ตร.โชว์บทบาทยึดตัวบทกฎหมายแบบเข้มข้นชนิดยอมหักไม่ยอมงอ



ถ้ามองตามรูปการแล้วถือว่าเป็นผลดีที่จะทำให้องค์กรตำรวจอยู่ในกฎเกณฑ์ แต่ถ้ามองอย่างเข้าใจถึงการทำงานของตำรวจ การเล่นบทเถรตรงโดยไม่มองถึงองค์ประกอบอื่นจะสร้างความเสียหายให้กับองค์กรตำรวจไม่น้อยเพราะตำรวจมีหน้างานหลายประเภทมีทั้งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาทิ นักบิน นิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ พยาบาล และงานอำนวยการ เป็นต้น และมีงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ อาทิ งานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน และงานสอบสวน  เป็นต้น

     จึงไม่แน่ใจว่า ก.พ.ค.ตร. ที่ประกอบด้วย อดีตผู้พิพากษา อดีตอัยการ อดีตรองปลัดกระทรวงฯ จะเข้าใจถึงบริบทดังกล่าวแค่ไหน หรือแม้แต่อดีตตำรวจที่นั่งอยู่ใน ก.พ.ค.ตร.ถึง 4 คน ไม่แน่ใจว่าทั้ง 4 คน มีประสบการณ์งานโรงพัก งานสืบสวน งานสอบสวน รวมถึงงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ช่ำชองแค่ไหน เพราะบางคนโตแบบเรียนลัดแล้วมาเด็ดยอดเอาตำแหน่งก็มี

ดังนั้นหากมองถึง ก.พ.ค.ตร.ที่เป็นบุคคลภายนอกแล้ว อาจจะไม่รู้ระบบบริหารงานบุคคลเชิงโครงสร้างของตำรวจเลยหรือถ้ารู้อาจจะเพียงผิวเผิน ส่วนตำรวจทั้ง 4 นาย แม้จะเคยเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ถ้าไม่เคยผ่านงานบุคคลเชิงระบบโครงสร้างของตำรวจแล้ว ยากที่จะเข้าใจเช่นกัน อดีตรอง ผบ.ตร.ที่ผ่านงานโรงพัก นั่งผู้บัญชาการ(ผบช.)หลัก และผ่านงานบริหารมตร.ให้ความเห็นว่าแต่ละกองบัญชาการมีหน้างานที่แตกต่างกัน ที่จะคล้ายกันจะมีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล คืองานเกี่ยวกับอาชญากรรม ขณะเดียวกัน ผบช.ยังทำงานด้านบริหารงานบุคคลต้องทำควบคู่ไปด้วย  

            “จะแตกต่างกับ บช.ที่สนับสนุนการทำงานของ บช.หลัก อาทิ สำนักงานกำลังพล ยังแยกออกเป็นส่วนเช่น ทรัพยากรบุคคลในกองทะเบียนพลชำนาญเรื่องเลื่อนลดปลดย้ายตัวบุคคล หรืองานวิเคราะห์งานบุคคลในกองอัตรา จะชำนาญเรื่องระบบตำแหน่งโครงสร้าง”อดีต รอง ผบ.ตร.ระบุ พร้อมให้ความเห็นถึงระบบคุณธรรมว่าตามมาตรา 60 กฎหมายตำรวจ ระบบคุณธรรมไม่ได้มีแค่ความเสมอภาค ความเป็นธรรมเพียงมิติเดียว ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ประโยชน์ของทางราชการ ประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะงาน โดยพิจารณาจากอาวุโส ผลงาน ศักยภาพและความประพฤติประกอบกัน

      จากบริบทดังกล่าวทำให้นึกถึงหนังสือแจ้งเวียน ที่ พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล ส่งหนังสือถึง ผบช.และจเรตำรวจ(จตร.)หรือตำแหน่งเทียบเท่า เรื่องการคัดเลือดแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ  เนื้อหาสรุปว่า ผบ.ตร.สั่งให้เปลี่ยนแปลงและกำหนดระยะเวลาจัดส่งข้อมูลการคัดเลือกแต่งตั้งระดับ รองผบช. รองจตร.ถึงผู้บังคับการ(ผบก.) ประจำปี 2567 เนื่องจาก ก.พ.ค.ตร.มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลในภาพรวมของตร. หากดำเนินการตามคำวินิจฉัยดังกล่าว อาจจะต้องจัดทำลำดับอาวุโสระดับรองผบก.ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเลื่อนเป็นผบก.และประกาศให้ตำรวจทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง

   หลังจากที่ พ.ต.อ.ตำแหน่งนักบิน(สบ 5) ร้องต่อ ก.พ.ค.ตร.ว่าถูกกระทบสิทธิจากการแต่งตั้งโยกย้าย แล้ว ก.พ.ค.ตร.ยังมีคำวินิจฉัยให้ ตร.ยกเลิกคำสั่งในส่วนของผู้ร้องทุกข์ที่ตำแหน่งถูกกำหนดให้อยู่ในเพียงกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน(สายนักบิน) ให้ดำเนินการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวใหม่ โดยกำหนดให้ตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์อยู่ในกลุ่มสายงานบริหารเพิ่มเติมอีกหนึ่งกลุ่มสายงานดังกล่าวข้างต้นและให้ตำแหน่งนักบิน(สบ5) กองบินตำรวจ เป็นตำแหน่งสูงสุดของตำแหน่งในสายงานการบิน เพื่อรองรับให้ผู้ร้องทุกข์สามารถเลื่อนตำแหน่งเป็นผบก.ในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุนในหน่วยงานอื่นได้

    เมื่อจัดเรียงลำดับบัญชีอาวุโสใหม่ ตามหลักเกณฑ์การแต่งตั้งจะพิจารณาเรียงลำดับตามอาวุโสร้อยละ 50 ของจำนวนที่ตำแหน่งที่ว่าง จากนั้นพิจารณาตำแหน่งว่างโดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบกัน

ครั้นส่องดูตำแหน่งผบก.ที่ว่าง 74 ตำแหน่ง กลุ่มอาวุโสร้อยละ 50 ได้ไป 37 ตำแหน่ง  เมื่อเปิดบัญชีอาวุโส รอง ผบก.สายนักบินแล้วนำมารวมกับตำแหน่งทั่วไปสายงานนักบินมีอาวุโสอันดับต้นๆถึง 11 นายจะเหลือให้ตำแหน่งทั่วไป 26 ตำแหน่ง

      ถ้าตีความตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. พอสันนิษฐานได้ว่า นักบินทั้ง 11 นายต้องขยับเป็น ผบก.  ขณะที่สายงานสนับสนุนอื่นๆ อาทิ นิติวิทยาศาสตร์ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ หรือตำรวจสังกัดสถานศึกษาต่างๆ ควรจะเข้าข่ายตามคำวินิจฉัยนี้ด้วย หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริงการแต่งตั้งระดับ ผบก.ส่อเค้าว่าจะเป็นปัญหาใหญ่และจะส่งผลเสียในหลายๆด้าน เพราะ ผบก.เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยที่ต้องบริหารจัดการในทุกด้าน ระดับพื้นที่ต้องรับมือกับอาชญากรรม รวมถึงหัวหน้าหน่วยสนับสนุนด้านต่างๆเพื่อให้ตำรวจท้องที่ขับเคลื่อนงานไปได้

   จึงไม่แน่ใจว่าก่อนที่ ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยคำร้องทุกข์ดังกล่าวได้ศึกษาข้อมูลระบบบริหารงานบุคคลเชิงโครงสร้างของตำรวจรอบด้านแค่ไหนหรือยึดตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น เพราะคำวินิจฉัยนี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อระบบการแต่งตั้งโยกย้าย

      ดังนั้นต้องจับตาดูว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ จะแก้โจทย์ยากข้อนี้อย่างไร ?!!