“สมศักดิ์”ยัน ”ผิง ชญาดา” ไม่ได้นวดบิดคอเสียชีวิต ชี้ ป่วยโรคไขสันหลังอักเสบ”

209

“สมศักดิ์” ยัน ”ผิง ชญาดา” ไม่ได้นวดบิดคอเสียชีวิต ชี้ ผลตรวจเอ็มอาร์ไอ ไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน เผย วินิจฉัยเป็น “โรคไขสันหลังอักเสบ”จนติดเชื้อในกระแสเลือด ขอประชาชนมั่นใจ ไม่เกี่ยวการนวด ด้าน กรม สบส. ร่วม สสจ. อุดรธานี ลงสอบร้านนวด เหตุนักร้องสาวดับหลังรับบริการ

วันที่ 9 ธันวาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ถึงกรณีการเสียชีวิตของ”ผิง ชญาดา”ที่ระบุว่ามีสาเหตุมาจากการนวดบิดคอ ที่ร้านนวดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีว่า ตนได้รับรายงานเรียบร้อยแล้ว โดยผู้เสียชีวิต ได้มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดเมื่อย เป็นเวลาหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.67 และไปตรวจที่โรงพยาบาล 28 ต.ค.67 ซึ่งเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง โดยมีการเอ็กซเรย์ และทำเอ็มอาร์ไอ โดยเป็นภาพที่ชัดเจนว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย ซึ่งตนก็อยากให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากรายงานพบว่า วันที่ 6-11 พ.ย.67 ผู้เสียชีวิต ได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.อุดรธานี ได้แอดมิทแผนกกระดูกและข้อ โดยแพทย์ตรวจพบว่า แขนขาอ่อนแรง และตรวจเอ็มอาร์ไอ เพิ่ม พบว่า ไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน ตรวจโดยเจาะน้ำไขสันหลัง สรุปวินิจฉัยเป็น โรคไขสันหลังอักเสบ ซึ่งได้ให้ยารักษา หลังจากนั้นอาการเริ่มดีขึ้น จึงกลับไปพักที่บ้าน แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ยังมีอาการเกร็งกระตุกตามร่างกาย จนวันที่ 22 พ.ย.67 มีอาการเกร็งและอ่อนแรงมากขึ้น จึงเข้าไอซียู รพ.อุดรธานี มีอาการช็อคจากติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.67 ส่วนรายละเอียดทั้งหมดนั้น ตนขอให้รอฟังจากผู้เชี่ยวชาญ

“เมื่อถามว่า จะสร้างความมั่นใจเรื่องการนวดอย่างไร เพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายแพทย์แผนไทยด้วย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้มั่นใจ เพราะผลการตรวจเอ็มอาร์ไอ เป็นที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยียืนยัน จึงขอให้ประชาชนสบายใจ”

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมวันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ก็มีการพิจารณาเรื่องวัคซีนของโรคที่พบขณะนี้ ทั้งไข้หวัดนกที่พบในมนุษย์ในต่างประเทศ แต่ประเทศไทย ยังไม่มี โรคหัด ที่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ประชุมก็ต้องการเพิ่มวัคซีน ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด ก็อยู่ทรงๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถซื้อวัคซีนได้ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการฉีดวัคซีน HPV ที่จะเริ่มวันที่ 20 ธ.ค.67 ที่จังหวัดปทุมธานี และจะดำเนินการต่อไป เพราะขณะนี้ เรามีวัคซีน 9 สายพันธุ์ จำนวน 7 แสนกว่าเข็ม ส่วนคนที่ฉีดไปบ้างแล้ว 2 สายพันธุ์ ก็ขอให้ซ้ำเข็มที่สองได้


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุดรธานี ลงสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนักร้องสาว หลังเข้ารับบริการนวด กับร้านนวดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุดรธานี


วันนี้ (9 ธันวาคม 2567) ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อตนได้รับทราบข้อมูลการเสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุการรับบริการนวด ก็ได้สั่งการให้ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที โดยจากการตรวจสอบพบว่าร้านนวดซึ่งถูกกล่าวอ้างนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เปิดให้บริการนวดตัว นวดเท้า มีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และในระหว่างเข้าตรวจสอบพบผู้ให้บริการนวด จำนวน 7 ราย โดยผู้ให้บริการทั้ง 7 ราย มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นก็พบว่าร้านนวดดังกล่าว มีการดำเนินการตามมาตรฐานตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาเหตุการเสียชีวิต และให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบว่าการให้บริการนวดถูกต้องตามแบบแผนการนวดหรือไม่ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย หรือผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการอีกในอนาคต กรม สบส. จะดำเนินการเชิงรุกในการประชาสัมพันธืให้ความรู้ประชาชนในการเลือกรับบริการร้านนวด ยกระดับผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการติดตาม ประเมินผล จัดระเบียบสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดปรับบทลงโทษผู้ประกอบการและหมอนวดเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการให้บริการ


ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปา หรือนวดเพื่อสุขภาพนั้น ล้วนเป็นบริการที่มีความใกล้ชิดกับผู้รับบริการ หากขาดการควบคุมคุณภาพมาตรฐานย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บ การแพร่เชื้อโรค หรือมีการล่วงละเมิดทางเพศได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จะต้องเลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้มีการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยสามารถตรวจสอบจากหลักฐานสำคัญ 3 ประการ ซึ่งจะแสดงไว้ ณ จุดบริการ ได้แก่ 1) มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ออกโดยกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 2) มีการแสดงตราสัญลักษณ์มาตรฐาน สบส. เป็นรูปมือจีบสีทองและดอกกล้วยไม้สีม่วง และ 3) หากเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทสปา จะต้องมีการแสดงใบอนุญาตของผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอีกด้วย หากตรวจแล้วไม่มีการแสดงหลักฐาน หรือแสดงไม่ครบ ก็ไม่ควรรับบริการเพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจประชาชนสามารถตรวจสอบใบอนุญาตได้ว่าจริงหรือไม่โดยแสกนดูข้อมูลในQR Code ในใบอนุญาตว่าตรงกันหรือไม่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านนวดและผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ที่เว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (https://hss.moph.go.th/)

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวสุขภาพ #นวดแผนโบราณ