‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

51

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ – การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” โดยไม่มีเสียงคัดค้าน ขณะที่ผู้แทนหน่วยงานองค์กรพร้อมใจกล่าวถ้อยแถลง ประกาศสนับสนุนการขับเคลื่อน 2 มติสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่-สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน

วันสุดท้ายของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก โดยที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้ง onsite และผ่านระบบ online รวมกว่า 3,000 คน ได้ร่วมกันให้การรับรองระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 จำนวน 2 มติ อย่างเป็นฉันทมติ คือไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว

สำหรับ 2 ระเบียบวาระที่ได้รับการรับรอง ประกอบด้วย 1. พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ 2. การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน โดยผู้แทนหน่วยองค์กรและภาคีเครือข่ายต่างพร้อมใจกันกล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนการขับเคลื่อนทั้ง 2 ระเบียบวาระ ให้เกิดรูปธรรมต่อไป และในตอนท้ายของการประชุมมีการประกาศ 2 ระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ซึ่งจะจัดในเดือน ก.ค. 2568 จำนวน 2 ประเด็น คือ 1. การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน silver economy 2. การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแต่งตั้ง ดร.อังคณา เลขะกุล เข้ามาเป็นประธานอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพด้วย

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ระเบียบวาระที่ได้รับฉันทมติร่วมกันในปีนี้ ได้ผ่านกระบวนการทำงานมาเป็นเวลากว่า 11 เดือน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อหาฉันทมติต่อร่างข้อเสนอในเบื้องต้นไปแล้วกว่า 26 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลาการทำงานรวมกันกว่า 7,000 ชั่วโมง ผ่านการมีส่วนร่วมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนสามารถบรรลุเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

สำหรับมติ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” (Transforming Workforce for Healthy Society) ทางคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ที่มี ศ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ได้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความเห็น พัฒนาเอกสาร ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งหมด 13 กิจกรรม นับเป็นชั่วโมงการทำงานไม่น้อยกว่า 3,354 ชั่วโมง นับสัดส่วนการมีส่วนร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ ร้อยละ 60 และเป็นผู้แทนของประชาชนผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้อง ร้อยละ 40 มติดังกล่าวมีกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) คือ การพลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ ต้องใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐาน มีทีมสุขภาพที่มีคุณภาพ และจริยธรรม มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อเชื่อมโยงสุขภาวะและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน สังคมสูงวัย รวมถึงความท้าทายใหม่โดยการวางแผนและลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ ในการสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความตระหนัก ตื่นรู้ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาศักยภาพ และจัดการกำลังคน ทั้งกำลังคนวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ ให้มีเจตคติและพฤติกรรม ที่หนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ปรากฏ ตามแนวคิดของปรัชญาการพัฒนาคนโดยการระเบิดจากข้างใน มีศักยภาพที่เพียงพอและเหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านบริการสุขภาพยุคดิจิทัล โดยมีระบบการทำงานและการจ้างงานที่เป็นธรรม มั่นคง มีคุณค่า และได้รับการดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ในส่วนของมตินี้ ได้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกล่าวแสดงความชื่นชมคณะทำงานที่ได้ร่างมติข้อเสนอดังกล่าว พร้อมแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมขับเคลื่อนมติ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงพันธกิจหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์ประเทศ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงพันธกิจในการสนับสนุนทุนมนุษย์ให้มีศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ รวมถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง, กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงการศึกษา พร้อมกับมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

กองสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวถึงความสอดคล้องของแผนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการจัดระบบบริการสุขภาพ ตามนิยามและเป้าหมายของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวย้ำถึงความสำคัญของกำลังคนด้านสุขภาพ ที่จะเป็นรากฐานให้เกิดการพัฒนาระบบบริการที่สอดรับกับทิศทางการดำเนินงานของกองทุนบัตรทอง ในการสนับสนุนหน่วยบริการโดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิให้มีคุณภาพมาตรฐานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวแสดงจุดยืนสนับสนุนการพัฒนากำลังคนในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพให้มีศักยภาพในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จะช่วยตอบโจทย์ระบบสุขภาพปฐมภูมิ สถานการณ์สังคมสูงวัย รวมทั้งภาวะฉุกเฉินและความท้าทายใหม่ๆ เป็นต้น

ในขณะที่มติ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” (New tourism approach toward sustainable economy and well-being) ทางคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ที่มี มี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความเห็น พัฒนาเอกสาร ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งหมด 11 กิจกรรม นับเป็นชั่วโมงการทำงานไม่น้อยกว่า 3,684 ชั่วโมง นับสัดส่วนการมีส่วนร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ ร้อยละ 26 และเป็นผู้แทนของประชาชนผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้อง ร้อยละ 74 มติดังกล่าวมีกรอบทิศทางนโยบาย คือ ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ท่องเที่ยวมีคุณค่า มีความปลอดภัยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ” พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและประชาชน ร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

โดยดำเนินการผ่าน 1. พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน 2. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน รวมทั้งเป็นมิตรและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความตระหนักรู้วัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ สำหรับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว 4. กำหนดให้มีมาตรการ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน และ 5. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอุปสงค์ อุปทาน และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่

ในส่วนของมตินี้ ได้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกล่าวแสดงความชื่นชมคณะทำงานที่ได้ร่างมติข้อเสนอดังกล่าว พร้อมแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมขับเคลื่อนมติ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวถึงบทบาทที่จะร่วมดำเนินการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อให้สอดรับกับบริบทของการท่องเที่ยววิถีใหม่, กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการให้มีมาตรฐาน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวถึงการสนับสนุนภารกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นในเวทีโลก และมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ, สมัชชาสุขภาพแห่งชาติภาคเยาวชน กล่าวถึงข้อเสนอของการสร้างกลไกเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นให้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม พร้อมรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น

อนึ่ง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายได้มาร่วมกันรับรองเป็นนโยบายสาธารณะวันนี้ จะถูกนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบหรือทิศทางหลักในการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #สมัชชาสุขภาพ