งบฯ 5 แสนล้านแก้ไฟใต้เหลวเชื่อรัฐเลี้ยงไข้-หาประโยชน์ ? เบี้ยเลี้ยงบานงานน้อย-รปภ.หลวม( ตอน 3)                                       

110

ตอนที่แล้วนำเสนอเกี่ยวกับงานข่าวในพื้นที่โดยนำคำบอกเล่าของอดีตข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รวมถึงอดีตทหารที่เคยไปทำงานหน้าที่ประเมินข่าวใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใน ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง ปัตตานี มานำเสนอ เป็นข้อเท็จจริงที่มาจากประสบการณ์จริง

             ก่อนที่จะเขียนต้นฉบับตอนที่ 3 เหตุความสงบในพื้นที่ยังเกิดอยู่เนืองๆแม้จะใช้เวลาแก้ปัญหามากว่า 20 ปี ด้วยงบประมาณสูงกว่า 5 แสนล้าน ล่าสุดวันที่ 24 พฤศจิกายน อาสาสมัครทหารพรานเปลี่ยน ศิริสุข พลลาดตระเวน กองร้อยทหารพรานที่ 4104 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กบประชาชนในพื้นที่บ้านคลองบาแล ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกคนร้ายซุ่มยิงเสียชีวิต

            จากเหตุดังกล่าวทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของอดีตปลัดอำเภอแห่งหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้เคยเล่าให้ฟังว่าความรู้สึกของผู้ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครของฝ่ายปกครอง หรืออาสาสมัครทหารพรานหรือทหารชั้นประทวน ต่างให้ความเห็นโดยสรุปจากประสบการณ์ว่าเหตุในชายแดนใต้ พวกเรารู้สึกว่าผู้มีอำนาจส่วนกลางไม่อยากให้สงบ เพราะมีผลประโยชน์ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งให้ตัวเองเครือญาติ

      “ถ้าตรวจสอบกำลังพลที่ส่วนกลางส่งลงไปปฏิบัติหน้าที่จะพบว่าส่วนใหญ่มีเส้นสายดี จะทำหน้าที่ประจำอยู่ในค่ายหรือใน ศอ.บต. ไม่ได้ลงพื้นที่เลย ถ้าจะออกนอกพื้นที่แค่เดินทางกลับภูมิลำเนา การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่หรือลาดตระเวนจะตกอยู่กับพวกไร้เส้นสาย หรือเจ้าหน้าที่ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เท่านั้น หลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนคือเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ แต่พวกที่มาจากส่วนกลางไม่ต้องเสี่ยงภัยแถมรับเบี้ยเลี้ยงและสิทธิพิเศษอื่นๆแบบเต็มๆเข้าทำนองทำงานน้อยรับเบี้ยเลี้ยงเต็มสูบ”อดีตปลัดอำเภอฯอธิบายความ

       ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปในลักษณะหลวมๆ แต่จะเข้มงวดเมื่อเกิดเหตุเท่านั้น ทั้งที่การรักษาความปลอดภัยควรจะเป็นไปแบบเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุไม่ใช่พอเกิดเหตุแล้วถึงมาใช้มาตรการเข้ม

      ที่สำคัญพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของสงขลา ส่วนใหญ่ใช้พระราชกำหนด(พรก.)ในสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุม แต่ไร้ประโยชน์ อย่างกรณีคนร้ายควงอาวุธสงครามบุกยิงนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ นราธวาส  เสียชีวิตคาห้องประชุมบริษัท ผลตรวจพิสูจน์อาวุธปืนใช้ก่อเหตุมาแล้วถึง 23 คดี จึงไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ไร้น้ำยาสืบสวนจับกุมหรือจงใจปล่อยปละละเลย ทำให้คนร้ายใช้ปืนกระบอกนี้ใช้ก่อเหตุได้ถึง 23 คดี  ถ้ามองถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยตามประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน การก่อเหตุด้วยอาวุธปืนสงครามไม่ว่าจะเป็นปืนเอ็ม 16 หรือเอ็ม 79 ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่หลังปี 2547 แล้ว แต่เวลาล่วงเลยมากว่า 20 ปี คนร้ายยังสามารถควงเอ็ม 16 ยิงชาวบ้านได้ตามปกติ

     ครั้นตรวจสอบถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยตามจุด จะสัมผัสได้ถึงความหละหลวม เพราะตรวจแบบแกนๆ ขอฉายภาพให้เห็นว่าเส้นทาจาก หาดใหญ่มุ่งยะลา จะผ่านด่านตรวจอย่างไรเริ่มจากหาดใหญ่ ด่านแรกพื้นที่ ตำบลควนมีด ผ่าน อ.จะนะ อ.เทพา จ.สงขลาเข้าพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จะพบด่านตรวจของทหาร จุดนี้ถ้าขับรถยนต์ส่วนตัว เจ้าหน้าที่ของบัตรประชาชน ไปสแกนที่เครื่องบันทึก  ผ่านด่านนี้ไปจะถึงสี่แยกดอนยาง เลี้ยวซ้ายไปปัตตานี และนราธิวาส ตรงไปจะเป็นถนนสี่ช่องจราจรตัดใหม่ เลี้ยวขวาผ่านค่ายอิงคยุทธบริหาร มุ่งหน้าเมืองยะลา

          ถ้าใช้ถนนตัดใหม่สี่ช่องจราจรขับไปสักระยะเจอด่านตรวจ 1 ด่าน ขับต่อไปใกล้ถึงบ่อเจ็ดลูก เขตอ.แม่ลาน ปัตตานี จะเจออีก 1 ด่าน แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว เข้าสู่เขตเทศบาลนครยะลา จะเจอด่านตรวจ บางครั้งจะตรวจใบขับขี่พร้อมกล้องวงจรปิดบันทึกรูปรถยนต์ หากเลี้ยวขวาผ่านค่ายอิงคยุทธบริหาร จะมีด่านตรวจ 1 ด่าน มุ่งไป อ.นาประดู่ จ.ปัตตานี เส้นนี้ผ่านวัดช้างให้ จะเจอด่านเช่นกัน หลุดจากนาประดู่จะเข้า ลำใหม่ ยะลา หลุดจากชุมชนลำใหม่  ถ้าไปทางลัดจะเลี้ยวซ้ายเข้า ต.ท่าสาป อ.เมือง ยะลา จะผ่านชุมชน มีโรงไฟฟ้า โรงบรรจุแก๊ส ถนนเส้นนี้จะมีด่านตรวจอย่างน้อย 2 ด่าน ถ้าไม่เลี้ยวเข้าท่าสาป จะมุ่งหน้าไปสามแยกบ้านเนียง ถึงแยกเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เมืองยะลา จะมีด่านตรวจเช่นกัน

      สำหรับเขตเทศบาลนครยะลาบนถนนเกือบทุกสายโดยเฉพาะบริเวณตลาดเก่า สถานีรถไฟ จะมีด่านตรวจทั้งทหารและตำรวจ หากเดินทางไปปัตตานี ขับผ่านตลาดเก่า มุ่งหน้า อ.ยะรัง ปัตตานี มีระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร จะถึง เมือง ปัตตานี ถนนสายนี้ผ่านค่ายสิริธร มีด่านตรวจหลายด่านทั้งของทหารและตำรวจ ซึ่งเส้นทางและจุดตรวจนี้”จอมมารน้อย”เคยนำเสนอเมื่อเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมได้เดินทางไปอีกครั้งสภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจยังคงเดิมคือตรวจแบบแกนๆและครั้งนี้ได้ขับรถไปปัตตานีและนราธิวาส เจอด่านจำนวนมากทั้งถนนสายหลักและสายรอง การทำงานมีลักษณะคล้ายกันคือตรวจตามหน้าที่แบบแกนๆเหมือนไม่ได้คาดหวังผลตรวจเท่าที่ควร
     
จึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมคนร้ายถึงสามารถนำระเบิดไปก่อเหตุได้ ทั้งแบบคาร์บอมบ์หรือซุกถังแก๊สตามสถานที่ต่างๆ หรือควงอาวุธสงครามไปก่อเหตุยิงนายกเทศมนตรีฯถึงห้องประชุมบริษัทได้แบบสบายใจเฉิบ แถมเมื่อก่อเหตุแล้วไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้แบบทันควันเลยทั้งที่ตั้งด่านตรวจแบบใยแมงมุมเต็มพื้นที่

      ในความเป็นจริงแล้วนับแต่เกิดเหตุ 40 จุดวันที่ 22 มีนาคม ถ้า ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ศอ.บต.คิดจะวางมาตรการป้องกันเหตุโดยใช้บทเรียนเหตุ 40 จุด เชื่อว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกว่า 8 จุดและคนร้ายใช้ปืนเอ็ม 79 ยิงถล่มแค้มป์คนงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน คงไม่เกิดและถัดมาเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน ยังเกิดเหตุป่วนเมืองนราธิวาสกว่า 4 จุด รวมถึงซุ่มยิงชุดทหารพรานลาดตระเวนทำให้อาสาสมัครทหารเปลี่ยน คงไม่เกิดเช่นกัน

     ดังนั้นความเชื่อที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฝังใจมาตลอดกว่า 20 ปี ว่าเหตุป่วนใต้คือการเลี้ยงไข้ไว้เพื่อสูบผลประโยชน์ ของผู้มีอำนาจบางกลุ่มมิได้เกินเลยแต่อย่างใด !!!
   
      ครั้งหน้าจะนำเสนอเป็นตอนจบ