แม้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะในฐานะ ประธานก.ตร.จะใช้เวลาประชุมหลายชั่วโมงเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)-ผู้บัญชการ(ผบช.)จำนวน 41 ตำแหน่ง แต่ผลการพิจารณาผ่านแบบฉลุย
ทั้งที่ก่อนจะถึงวันประชุมก.ตร.ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เกิดกระแสวิพาก์วิจารณ์อย่างหนักว่าบรรดานายพลที่แคนดิเดตตำแหน่งผบช.มีอยู่จำนวน 14 ตำแหน่ง ต่างวิ่งเต้นเข้าหานักการเมืองที่ถูกมองว่ามีอิทธิพลสูง ซึ่งชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร พ่อนายกรัฐมนตรี ถูกสื่อหลายสำนักหยิบขึ้นมากล่าวขานถึงมากที่สุด บางสำนักถึงขั้นวิเคราะห์กันว่าโผนายพลล็อตนี้ถูกส่งเข้าไปในบ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อให้พิจารณาว่าเหมาะสมหรือตรงตามตั๋วที่ต้องการหรือไม่ ?
รวมถึงชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บารมี ถูกสื่อแต่ละสำนักกล่าวขานถึงพร้อมกับวิเคราะห์ว่า ร.อ.ธรรมนัส พยายามผลักดันคนใกล้ชิดและเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร ผงาดนั่งตำแหน่ง ผบช.หลัก เพื่อที่จะช่วยวางฐานทางการเมืองและธุรกิจ โดยต่อสายตรงขอความเห็นชอบจากนายทักษิณ และชื่อของนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ถูกวิเคราะห์ผูกโยงว่าได้ผลักดันนายตำรวจใกล้ชิดขึ้นนั่งตำแหน่ง ผบช.ภ.3 คุมพื้นที่อีสานใต้ด้วย
ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวจาก พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และ นายธวัชชัย ไทยเขียว คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.)โดยโพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัวเตือนให้ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายระมัดระวังจะเข้าข่ายผิดกฎหมายตำรวจ หากพิจารณาตามใบสั่งหรือตั๋วที่ผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆฝากมา รวมถึงชี้ช่องว่าถ้าตำรวจคนไหนไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถฟ้องร้องหรือร้องผ่าน ก.พ.ค.ตร.ได้เพราะกฎหมายตำรวจฉบับใหม่บัญญัติไว้อย่างรัดกุม
กระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะๆนานนับสัปดาห์ก่อนที่จะถึงวันประชุมจริง มีโผนายพลออกมาหลายโผ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งข่าวของนักข่าวแต่ละสำนักจะวิเคราะห์ให้ฟัง
แต่เมื่อถึงวันประชุมจริงบรรยากาศการประชุมไม่ค่อยตึงเครียดตามที่คาดกันไว้ เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร ผบ.ตร.ได้เสนอรายชื่อนายตำรวจที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ(บอร์ดกลั่นกรอง)ที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เป็นประธานและประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน โดยตำแหน่งที่ว่างประกอบด้วย รอง ผบ.ตร. 4 ตำแหน่ง ผู้ช่วยผบ.ตร. 7 ตำแหน่ง และผบช. 14 ตำแหน่ง
ก่อนจะเสนอบัญชีแต่งตั้งต่อที่ประชุม พล.ต.อ.เอก และพล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึง ก.ตร.คนอื่นๆได้แสดงความเห็นว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ขอให้ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะนอกจากจะให้ความเป็นธรรมกับบรรดาแคนดิเดตแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรตำรวจที่ภาพลักษณ์การแต่งตั้งโยกย้ายติดลบในสายตาตำรวจด้วยกันเองมาโดยตลอด ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ในฐานะประธานที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของบรรดา ก.ตร.เมื่อเข้าสู่วาระพิจารณารายชื่อในระดับ รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร.ยึดตามหลักอาวุโส 100 เปอร์เซ็นต์ขณะที่ระดับผบช.ยึดตามอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 7 คน ก.ตร.ให้ความเห็นชอบผงาดติดยศ พล.ต.ท.ทั้ง 7 คน
ขณะที่ รอง ผบช.ขยับเป็น ผบช.อีก 7 คน พิจารณาจากอาวุโส ผลงาน และความรู้ความสามาประกอบ โดย 13 คนครองตำแหน่งรองผบช. 4 ปี มีพียง พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 ที่ครองตำแหน่ง 3 ปี ทาง ก.ตร.ไฟเขียวให้ขึ้นเป็น ผบช.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรี)โดยที่ประชุมเห็นว่าทำงานในพื้นที่ บช.ภ.5 มีผลงานเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด เป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้มี ตำแหน่งที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษคือ ผบช.น.มีพลิกโผ เดิมมีชื่อพล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จตร.(สบ8) แต่ที่ประชุมเห็นชอบให้ พล.ต.ท.สยาม บุญสม จตร.(สบ 8)ไปแทน แล้วสลับให้พล.ต.ท.สันติ ไปเป็น ผบช.ปส. ถ้ามองถึงความเป็นจริงแล้วไม่น่าเกลียดเพราะทั้งสองล้วนแต่ติดยศ พล.ต.ท.อยู่ก่อนแล้ว
” เมื่อการประชุมจบลงไม่นานโผแต่งตั้งโยกย้ายถูกสื่อแต่ละสำนักนำเสนอทันที เท่าที่สดับตรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์พบว่าจะเป็นเชิงบวกและต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องยกเครดิตให้ นายกฯ เต็มๆ ที่รับฟังเหตุผลจาก ผบ.ตร.และ ก.ตร.ที่ช่วยกันทำให้กฎหมายตำรวจศักดิ์สิทธิ์กว่าทุกยุคที่ผ่านมา”
แต่มีเสียงนินทาเล็ดลอดมาว่าที่ผลการประชุมเพื่อแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ไร้เสียงยี้และหักปากเซียนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงอย่างหนัก เป็นเพราะนายทักษิณห่วงลูกสาวในฐานะประธาน ก.ตร.หากไม่ยึดกฎหมายอย่างเคร่งครัด โอกาสที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมีสูง เพราะมีฝ่ายแค้นจ้องที่จะเช็คบิลอยู่จำนวนมาก โดยมีตัวอย่างจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ถูก ป.ป.ช.สอบสวนปมแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่ฝืนกฎกติกา ให้เห็นอยู่
เสียงนินทานี้จะมีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนสุดจะคาดเดา แต่ถือว่าเป็นผลดีต่อองค์กรตำรวจเพราะเป็นตัวช่วยอย่างดีไม่ให้เกิดการแหกกฎกติกาเหมือนอดีตที่ผ่านมา ที่มีนายใหญ่ฝ่ายการเมืองคอยบัญชาอยู่หลังฉาก
ดังนั้นเมื่อมองบริบทโดยรวมแล้วถือว่าทั้ง น.ส.แพทองธาร ,พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และ ก.ตร.ทุกคน สอบผ่านบททดสอบการแต่งตั้งโยกย้ายแบบฉลุยไร้เสียงยี้ และบททดสอบครั้งนี้น่าจะทำให้บรรดาตำรวจเชื่อมั่นว่าการแต่งตั้งโยกย้าย ระดับผู้บังคับการ(ผบก.) ผู้กำกับการ(ผกก.)ถึงระดับสารวัตร(สว.)ที่กำลังจะมาถึง ถ้าคงยึดแนวทาง กฏกติกาเข้มในกฏเหล็กตามกฏหมายเฉพาะองค์กรอิสระ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ขึ้นตรงต่อนายกแพทองธาร จะเรียกความศรัทธาคืนสู่ประชาชน แล้วตำรวจทั้ง 2 แสนกว่านายก็พร้อมยืดอก สนองนโยบายของรัฐบาลได้เติมภาคภูมิ แบบเดียวกัน กับการแต่งตั้งนายพลล๊อตแรก !!!