นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) จากการดำเนินงานของ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับผิดชอบติดตามประเมินผลโครงการที่ผ่านมาโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map)เป็นโครงการตามนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม โดยปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีศักยภาพทางกายภาพและเศรษฐกิจสูงกว่าชนิดเดิม ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 60 ซึ่งได้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตแล้วรวมทั้งสิ้น 1 ล้านไร่ มีสินค้าปรับเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และเกษตรผสมผสาน
ผลการประเมินผลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 7 ปี ตั้งแต่ปี 60 – 66 จากกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 251 ราย ใน 14 จังหวัด พบเกษตรกรร้อยละ 81 ยังคงปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ตาม Agri – Map อย่างต่อเนื่อง และในจำนวนนี้ ร้อยละ 88 ยังคงนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการมาใช้ประโยชน์และมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผลติดตามปี66 จำแนกตามสินค้าที่ปรับเปลี่ยน พบว่าการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมีผลตอบแทน 23,525 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าการปลูกข้าว 21,568 บาทต่อไร่ต่อปี การปลูกอ้อยโรงงาน มีผลตอบแทน 7,871 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าการปลูกข้าว 5,914 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนการทำเกษตรผสมผสาน เกษตรกรมีผลตอบแทน 4,322 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าปลูกข้าว 2,365 บาทต่อไร่ต่อปี ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก เนื่องจากเห็นว่าเมื่อปรับเปลี่ยนการผลิตแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น มีแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือนและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
สำหรับผลการติดตามของปีงบปี 67 โครงการมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนการผลิต 65,945 ไร่ สามารถดำเนินการได้ 64,559 ไร่ (ร้อยละ 98 ของเป้าหมาย) ซึ่ง สศก. ได้ลงสำรวจผลลัพธ์เบื้องต้นของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา อุดรธานี และขอนแก่น เกษตรกรตัวอย่างทั้งสิ้น 117 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รายใหม่ โดยภาพรวมสามารถปรับเปลี่ยนการผลิต 1,789 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 135.12 ของเป้าหมาย 1,324 ไร่) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 197 ราย ครบตามเป้าหมาย โดยเกษตรกรร้อยละ 91 นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากพึ่งเริ่มปรับเปลี่ยนการผลิต และคาดว่าเกษตรกรจะเริ่มทยอยได้รับผลผลิตในปี 68 โดย สศก.จะติดตามและรายงานผลในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ในปีที่ 1 – 4 ของการปรับเปลี่ยน เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากผลผลิตระยะสั้นเป็นส่วนมาก เช่น พืชผักสวนครัว การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ แต่ยังไม่ได้รับผลผลิตจากพืชระยะยาว เช่น ไม้ผล และไม้ยืนต้น และจากการประเมินผล แสดงให้เห็นว่า โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ดำเนินการได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์และมีความยั่งยืน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนการผลิต และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมเกษตรผสมผสาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมส่งเสริมการเกษตร ควรพิจารณาเพิ่มการสนับสนุนพืชที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานในระยะแรกที่ปรับเปลี่ยนการผลิต