เปิดใจให้กว้าง แล้วมองงานตำรวจอย่างเข้าใจ ชาวบ้านคาดหวังสูง-แต่ได้งบฯจิ๊บๆ จึงไม่แปลกเงินนอกระบบถึงต้องมา

143



       จั๋วหัวแบบนี้ผู้อ่านคงคิดว่า”ประดู่แดง”คงเข้าข้างตำรวจว่าที่ผลงานไม่ค่อยประทับใจชาวบ้านหรือภาพลักษณ์องค์กรติดลบ เพราะได้งบประมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการทั้งสายตรวจ สืบสวน สอบสวนและปราบปราม

       หากมองในอดีตตำรวจมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเงินเดือนน้อย สวัสดิการด้อย อุปกรณ์การทำงานต้องหาซื้อมาเอง  แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเข้าช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่ในความเป็นจริงยังไม่ทั่วถึงนัก สวัสดิการหลายอย่างยังต้องอาศัยการพึ่งพาจะเอกเชนสนับสนุน แต่ตำรวจส่วนใหญ่ยังพยายามทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงให้กับระชาชนอย่างเต็มที่ แต่หลายพื้นที่ยังไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะการป้องกันอาชญากรรม ที่ได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไม่เพียงพอ

   สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ออกคำสั่งด่วนที่สุด ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 กิจกรรมการบังคับใช้กฎหมายและบริการประชาชน

    คำสั่งระบุว่า ให้ปรับการบริหารงานบุคคลและงบประมาณใหม่ โดยใช้ผลการประเมิน ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติและผลการประเมินด้านต่างๆ มาเป็นหลักประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง พร้อมทั้งการทำงานจะต้องมีงบประมาณรองรับอย่างเพียงพอและเหมาะสมในทุกด้าน และต้องรู้กลยุทธ์ทางงบประมาณบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   คำสั่งระบุอีกว่าปีงบประมาณ 2568 ตร.ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ในรายการค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พักและพาหนะ ซึ่ง ตร.ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และประสิทธิภาพสูงสุด และค่าเบี้ยเลี้ยงฯค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ โดยคำนึงถึงข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นลำดับแรกก่อน

ในคำสั่งระบุถึงรายการค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เบิกจ่ายภายในกรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรรตามความจำเป็นต่อการปฏิบัติงาน โดยรถยนต์(สนาม) ปี 2568 เบิกได้ 6,000 บาท/เดือน แต่ในปี 2567 ได้แค่ 3,500 บาท/เดือน เพิ่มให้ 2,500 บาท/เดือน รถจักรยานยนต์(สนาม) ได้ 2,500 บาท/เดือน ปี 2567 ได้แค่ 1,300 บาท/เดือนเพิ่มขึ้น 1,200 บาท รถยนต์ธุรการ ปี2568 ได้ 2,500 บาท/เดือน ปี 2567 ได้ 2,000 บาท/เดือนเพิ่มขึ้น 500 บาท รถจักยานยนต์ธุรการ ปี 2568 ได้ 1,200 บาท/เดือน ปี 2567 ได้ 1,000 บาท เพิ่มขึ้น 200 บาท

    สำหรับเบี้ยเลี้ยงฯและคำตอบแทนการปฏิบัติงาน ระดับ รอง ผกก.-ผบ.หมู่ที่ปฏิบัติงาน รอง ผกก.-สว. ปี 2568 ได้รับ 1,000 บาท/เดือน ปี 2567 ได้ 730 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 270 บาท รอง สว.-ผบ.หมู่ ปี 2568 ได้ 800 บาท/เดือน ปี 2567 ได้ 400 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 400 บาท

คำสั่งระบุว่าให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 (บช.ภ.1-9)และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.)จัดสรรงบประมารจัดทำแผนและผลการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณและการตรวจสอบ

     จากคำสั่งดังกล่าวพออนุมานได้ว่าเป็นงบฯที่ใช้กับโรงพักทั่วประเทศและหน่วยงานของตำรวจไซเบอร์ เมื่อส่องดูงบฯแล้ว นำไปเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่ตำรวจรับผิดชอบแล้ว ช่างห่างกันราวฟ้ากับเหว อย่างกรณีรถยนต์(สนาม)และรถจักรยานยนต์(สนาม)สันนิษฐานว่าน่ารวมถึงรถสายตรวจประจำรถโรงพักด้วย ซึ่งได้งบฯค่าน้ำมัน 6,000 บาท/เดือน/คัน สำหรับรถยนต์และ 2,500 บาท/เดือน/คัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งน่าจะเฉลี่ยเท่ากันทุกโรงพักหรือให้แต่ละบช.บริหารจัดการ เฉลี่ยให้กับโรงพักตามพื้นที่รับผิดชอบ แต่ถึงจะบริหารจัดการอย่างไรจัดว่ายังน้อยอยู่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำที่แสนแพง เชื่อว่าแต่ละโรงพักคงไม่พอใช้ครบเดือนแน่นอน เพราะเพียงแค่สายตรวจขับรถตระเวนตามเวรที่จัดตลอด 24 ชั่วโมงไม่น่าจะพอแล้ว ยิ่งเปรียบกับงบฯ2567 ที่งบฯคำน้ำมันเฉลี่ยแค่วันละ 100 บาท ช่างน่าอับอายอย่างยิ่ง

    จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นรถสายตรวจโรงพักจอดมากกว่าขับตระเวนตรวจ และถ้าโรงพักไหนหัวหน้าโรงพักมีพฤติกรรมอมทั้งน้ำมันและเบี้ยเลี้ยง จะจอดแบบนิ่งสนิทหรือขับแค่ใกล้ๆแล้ววนกลับ

       อดีตหัวหน้าโรงพักคนหนึ่งบอกว่าถ้าจะให้มีการตรวจหรือบริการได้อย่างเต็มที่งบฯน้ำมันควรจะอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท/คัน/เดือน และควรเสนอของบฯจากรัฐบาลด้วยการแบ่งตามสภาพพื้นที่ เพราะความหนาแน่นของประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ถ้าประชากรหนาแน่นโอกาสเกิดอาชญากรรมสูง ต้องเพิ่มความถี่ในการออกตรวจ ค่าน้ำมันเพิ่มเป็นเงาตามตัว

     ดังนั้นเมื่อเห็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรแล้ว คงพอเข้าใจได้ว่าทำไมงานบริการของตำรวจกลายเป็นที่ระอาของประชาชนที่ไปใช้บริการ  และหากหัวหน้าโรงพักหรือหัวหน้าหน่วยงานไหนอยากจะบริการประชาชนอย่างเติมที่ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องเสาะหาเงินนอกระบบเข้ามาเสริม

   ยิ่งถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งการแบบงานต้องออกเพื่อจะได้เป็นผลงานเพื่อไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ตำรวจผู้ปฏิบัติต้องหาช่องทางสร้างผลงานซึ่งการผลิตผลงานต้องใช้เงินแทบทั้งสิ้นงบฯประมาณที่จัดสรรมาคงไม่เพียงพอก็ต้องพึ่งพาเงินนอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมกลายเป็นช่องทางให้ตำรวจบางกลุ่มแสวงผลประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

        ถ้ารัฐบาลอยากให้ตำรวจสร้างผลงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน แบบไม่ต้องพึ่งพาเงินนอกระบบจนกลายเป็นครหาว่าเป็นขี้ข้าพวกที่ทำธุรกิจเถื่อนหรือธุรกิจหมิ่นแหม่ต่อกฎหมาย ควรจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในทุกด้านแบบจัดเต็มแล้ววางมาตรการลงโทษแบบเฉียบขาดกับตำรวจนอกรีต

     ถ้าทำได้จริงจะช่วยฉุดให้องค์กรตำรวจพ้นจากวงจรอุบาทว์ได้แน่นอน !!!