“จุลพงศ์” ชี้คดีพิพาทที่ดินเขากระโดง คือความร่วมมือทำลายหลักนิติธรรมของประเทศ

241

ที่พรรคประชาชน วันที่ 14 พฤศจิกายน จุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่กลับมาเป็นข่าวอื้อฉาวอีกครั้งหนึ่งเมื่อกรมที่ดินมีหนังสือฉบับลงวันที่  21 ตุลาคม 2567 ถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา 61 วรรคสองของประมวลกฎหมายที่ดิน โดยหนังสือกรมที่ดินฉบับดังกล่าวสรุปได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินจนกว่า รฟท. จะมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท.

จุลพงศ์กล่าวว่า หนังสือกรมที่ดินฉบับนี้สร้างความฉงนแก่ผู้คนจำนวนมากเพราะก่อนหน้านี้ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560  รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ปัญหาคือทำไมคณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีตั้งขึ้นชุดล่าสุดจึงมีมติดังกล่าวโดยยังไม่เชื่อว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท. ตามที่ศาลฎีกาพิพากษาไว้  

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนกล่าวต่อว่า เมื่อดูเนื้อความในวรรคแรกและวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติว่า “เมื่อความปรากฎว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้”

“ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  เอกสารที่ได้จดรายการทะเบียนสิทธิและนิติกรรม  หรือเอกสารที่จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้คัดค้าน ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้ถือว่าไม่มีการคัดค้าน”

หากอ่านดีๆ จะเห็นว่าก่อนการตั้งคณะกรรมการในวรรคสอง ต้องเกิดความปรากฏแก่กรมที่ดินแล้วว่าโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์มีการออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามวรรคสองไม่มีอำนาจสอบสวนว่าโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์มีการออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และยิ่งไปกันใหญ่เมื่อศาลฎีกาข้างต้นได้เคยมีคำพิพากษายืนยันถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดงว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ไปแล้ว

มูลเหตุของการที่กรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ชุดล่าสุดนี้เกิดเมื่อ รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดินขอให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษามาตั้งแต่ปี 2560 แต่หลังจากกรมที่ดินได้รับหนังสือแล้วกลับยังไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเสียที จนในที่สุด รฟท. ได้ฟ้องร้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีแดงที่ 582/2566 สั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินและเป็นชุดที่มีมติตามที่ปรากฏในหนังสือกรมที่ดินถึง รฟท. ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567                          

กรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่ากรมที่ดินได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองในคดีแดงที่ 582/2566 ที่ให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว และกรมที่ดินยังได้อ้างว่าคำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าวมิได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิที่ดินแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางฉบับเดียวกันได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาคสาม คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ที่พิพากษาเหมือนกันหมดว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.

จุลพงศ์กล่าวว่า คนทั่วไปฟังเรื่องนี้แล้วจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมมติของคณะกรรมการที่กรมที่ดินแต่งตั้งจึงขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาและสงสัยว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร มหากาพย์ที่ดินเขากระโดงเกิดจากการอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคและช่องว่างทางกฎหมายของกฎหมายที่ดิน กฎหมายปกครองและระเบียบกรมที่ดินที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก จึงเป็นมหากาพย์ของความร่วมมือกันทำลายหลักนิติธรรมของประเทศไทย ยิ่งเมื่อไปดูรายชื่อคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งชุดล่าสุดนี้ หลายคนตั้งข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับนักการเมืองระดับชาติในจังหวัด เรื่องนี้จึงมีอะไรที่ซ่อนอยู่อีกเยอะ