ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ประจำสัปดาห์ โดย: วิจัยกรุงศรี

197

IMF คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอตัวในปี 2568 แม้ความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยลดลง ขณะที่จีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง

                •สหรัฐฯ

         คะแนนความนิยมของทรัมป์สูงขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง เพิ่มความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในเดือนตุลาคม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 54.3 เนื่องจากการขยายตัวของภาคบริการ ส่วนภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ระดับ 47.8 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 70.5 สูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกันยายน นอกจากนี้ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 และ 2568 จากคาดการณ์เดิมในเดือนกรกฎาคมที่ 2.6% กับ 1.9% สู่ระดับ 2.8% กับ 2.2% ตามลำดับ

          สัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น ภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ช่วยเปิดทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ และลดความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากภาวะทางการเงิน (financial conditions) ที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว เมื่อประกอบกับยอดการรีไฟแนนซ์หนี้ที่จะเพิ่มขึ้นมากในปี 2568-2569 ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ที่มากขึ้น และกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคและรายได้ของธุรกิจในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ล่าสุดคะแนนความนิยมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สูงขึ้นเพิ่มความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และนโยบายการเงินภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า (วันที่ 5 พฤศจิกายน) จากความเสี่ยงเรื่องการดำเนินนโยบายการตรวจคนเข้าเมือง ภาษี รวมถึงนโยบายการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ที่อาจกระทบต่อกำลังแรงงาน ภาระการคลัง ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อ ตลอดจนตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมช่วงที่เหลือ 2 ครั้งของปีนี้ โดยปรับลดครั้งละ 0.25% สู่ 4.25-4.50% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2568 จะลดลงสู่ระดับ 3.25-3.50%

               •ยูโรโซน

      การฟื้นตัวมีโอกาสล่าช้าหลังตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซนแย่ลง ประกอบกับความเสี่ยงสงครามการค้าที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในเดือนกันยายน สินเชื่อภาคครัวเรือนฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ 0.7% YoY เช่นเดียวกับสินเชื่อภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 1.1% อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 49.7 ในเดือนตุลาคม แม้ว่าภาคการผลิตหดตัวชะลอลงจาก 45.0 สู่ 45.9 แต่ภาคบริการที่เคยเป็นแรงหนุนให้กับเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ เริ่มมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง สะท้อนจาก PMI ภาคบริการที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 51.2นอกจากนี้ IMF ประเมินเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2567 โตต่ำเพียง 0.8% และ 1.2%ในปี 2568 ลดลงจากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ

        แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะลดลงแต่เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอ่อนแอสอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ท่ามกลางการหดตัวของภาคการผลิตและแรงส่งจากภาคบริการที่อ่อนแอลง สินเชื่อที่เติบโตในระดับต่ำ ตลาดแรงงานที่ชะลอตัว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง (สะท้อนจากอัตราการออมของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ ปี) นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการกีดกันทางค้ากับจีนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าโลกหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวของยูโรโซนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.00% ณ สิ้นปี 2567 และ 2.00% ภายในสิ้นปี 2568

                    •จีน

           รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่ IMF ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนปี 2567 จาก 5% เหลือ 4.8% และคาดว่าจะชะลอลงสู่ 4.5% ในปี 2568 และอาจเหลือเพียง 3.3% ภายในปี 2572 ส่วนในไตรมาส 3 เศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ 4.6% YoY ตามการบริโภคที่ยังอ่อนแอต่อเนื่อง ขณะเดียวกันรัฐบาลประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ระยะ 1 ปี และ 5 ปี จาก 3.35% เป็น 3.1% และจาก 3.85% เป็น 3.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสันทนาการตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายนในหลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เทียนจิน และฉงชิ่ง

           จีนยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิ การบริโภคที่ยังอ่อนแอ อุปทานส่วนเกินในบางอุตสาหกรรม วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ผลิตภาพที่ขยายตัวต่ำลง หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น สงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-ไต้หวัน และจีน-สหรัฐฯ ซึ่งอาจเร่งให้เกิดการชะงักงันและการแยกตัวออกจากห่วงโซ่อุปทานโลก อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในปีนี้ให้สามารถเติบโตต่อไปได้ รวมถึงลดความเสี่ยงที่การชะลอตัวในภาคเศรษฐกิจจริงจะขยายวงกว้างไปยังภาคการเงิน ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมกำลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่ (New Quality Productive Forces) น่าจะช่วยให้จีนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยภายนอกที่อาจบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

          วิจัยกรุงศรีคาดการลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 เติบโตต่ำที่ 0.2ขณะที่ส่งออกทั้งปีอาจขยายตัวเกิน 2%

           ม้มูลค่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี กว่า 7 แสนล้านบาท  แต่เครื่องชี้อื่นๆ ชี้ว่าการลงทุนในปี 2567 อาจโตเพียงเล็กน้อย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2,195 โครงการ (+46% YoY) เงินลงทุน 722.5 พันล้านบาท (+42% YoY) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงสุด  ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (183.4 พันล้านบาท)  ดิจิทัล (94.2 พันล้านบาท) ยานยนต์และชิ้นส่วน (67.8 พันล้านบาท)  เกษตรและแปรรูปอาหาร (52.9 พันล้านบาท) และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (34.3 พันล้านบาท) สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 1,449 โครงการ (+66% YoY) เงินลงทุน 546.6 พันล้านบาท (+38% YoY) ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น

         จากข้อมูลยอดขอรับส่งเสริมฯ ที่ขยายตัวทั้งทางด้านจำนวนและมูลค่าเงินลงทุน ประกอบกับยอดการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นขั้นตอนใกล้เคียงกับการลงทุนจริงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า มีจำนวน 2,072 โครงการ (+59% YoY) มูลค่าเงินลงทุนรวม 672.2 พันล้านบาท (+101% YoY) แนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้ามีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 คาดว่าปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เติบโตได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวที่ -0.9% YoY ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนล่าสุดยังสะท้อนการฟื้นตัวที่เปราะบาง อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เดือนกันยายน ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (หดตัว) ต่อเนื่องเป็นเดือน 12 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมหดตัว (-1.9% YoY) ดังนั้น ภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนทั้งปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าอาจยังเติบโตต่ำอยู่ที่ 0.2% จากขยายตัว 3.2% ในปี 2566

           ส่งออกเดือนกันยายนเติบโตต่อเนื่องหนุนภาพรวมไตรมาส 3 แต่ยังมีหลายปัจจัยอาจกดดันการส่งออกในระยะข้างหน้า กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนกันยายนอยู่ที่ 26.0 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% YoY เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ชะลอลงจากเดือนสิงหาคมที่ขยายตัว 7.0% และหากหักทองคำ และน้ำมัน มูลค่าส่งออกขยายตัว 3.1% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ยางพารา (+47.4%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+25.5%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+22.5%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+21.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+15.7%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+15.6%) ข้าว (+15.2%) และเคมีภัณฑ์ (+4.4%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ   (-9.9%) เม็ดพลาสติก (-5.2%) น้ำตาลทราย (-10.4%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-29.2%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และ CLMV ขณะที่การส่งออกไปจีน อาเซียน-5 และญี่ปุ่นหดตัว สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 3.9% และหากหักทองคำและน้ำมันขยายตัว 4.0%

        การส่งออกในเดือนกันยายนแม้เติบโตชะลอลงแต่ยังมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปี (เฉลี่ยต่อเดือนที่ 24.6 พันล้านดอลลาร์) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก และความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ (เดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน) แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 78 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.5% YoY จึงทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่การส่งออกในปี 2567 อาจสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 2% อย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะข้างหน้ายังมีทั้งความเสี่ยงและปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลต่อการเติบโต อาทิ (i) การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ และจีน (ii) อุทกภัยในประเทศอาจกระทบผลผลิตทางการเกษตรบางรายการ (iii) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (iv) สงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และ (v) ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย และปัญหาอุปทานส่วนเกินหรือสินค้าล้นตลาดของจีน ก่อให้เกิดการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดโลกและไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยที่มีต้นทุนสูงกว่า