นางไพรวรรณ พลวัน รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยถึงกรณีหญิงวัย 53 ปี มีสติไม่สมประกอบ เนื่องจากเคยถูกคนร้ายล่วงละเมิดทางเพศถึง 2 ครั้ง จนตั้งครรภ์ แต่มีคนใจบุญรับลูกไปเลี้ยง ซึ่งหญิงดังกล่าวอาศัยเพียงลำพังในกระต๊อบสังกะสีสภาพเก่าทรุดโทรม ไม่มีที่นอน ไม่มีห้องน้ำใช้ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อีกทั้งยังไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ อาศัยขอข้าววัดกินประทังชีวิต ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น ตนได้กำชับให้หน่วยงานท้องถิ่น พร้อมทีม One Home จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งลงพื้นที่เยี่ยมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินทางสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลของหญิงดังกล่าว และติดตามเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคง แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ อีกทั้งพร้อมให้คำแนะนำในเรื่องสวัสดิการสังคม เพื่อขอรับสิทธิตามกฎหมายตามความเหมาะสม
สำหรับกรณี 2 สามี-ภรรยาแก่ชราวัย 89 และ 80 ปี ประกอบอาชีพเผาถ่านขายหารายได้ประทังชีวิต ที่อาศัยในเพิงสังกะสีสภาพเก่าทรุดโทรม ไม่มีห้องน้ำใช้ อีกทั้งยังไม่เคยได้รับเบี้ยผู้สูงอายุหรือเงินสวัสดิการของรัฐ ที่อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกรณีหญิงชราวัย 80 ปี พิการตาบอดทั้ง 2 ข้าง ต้องรับภาระเพียงลำพังเลี้ยงดูลูกสาววัย 43 ปี ที่ป่วยพิการทางสมอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และหลานสาววัย 13 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.2 ครอบครัวมีฐานะยากจน ทั้งหมดอาศัยในเพิงสังกะสีสภาพเก่าทรุดโทรมใกล้ผุพัง ที่จังหวัดนครราชสีมา นั้น ตนได้กำชับให้หน่วยงานท้องถิ่นใน 2 จังหวัด พร้อมด้วยทีม One Home ทั้ง 2 จังหวัด ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินทางสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลอาการป่วยของผู้ที่ป่วยอย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือในเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงดังกล่าวในระยะยาว รวมทั้งการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคง แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ เหมาะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องสวัสดิการสังคม เพื่อขอรับสิทธิตามกฎหมายตามความเหมาะสมในระยะยาว และร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว
นอกจากนี้ กรณีสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวกรณีพบหญิงชราวัยประมาณ 70 ปี นำผ้าเช็ดหน้ามาขายริมทางเดิน เพื่อหารายได้ประทังชีวิตที่ย่านซอยวงศ์สว่าง 8 กทม. นั้น ตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวง พม. ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเมินทางสังคมของหญิงชราดังกล่าว เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจด้านผู้สูงอายุของกระทรวง พม. พร้อมมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลในเรื่องให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องสวัสดิการสังคม เพื่อขอรับสิทธิตามกฎหมายตามความเหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอและมั่นคงต่อไป