“น้ำตกทีลอซู” อลังการแห่งสายน้ำ สวยยิ่งใหญ่ตราตรึงใจ (จบ)

318

หลังจากที่ได้ไปยลความงามของน้ำตกปิตุ๊โกะหรือน้ำตกรูปหัวใจ และปีนป่ายขึ้นไปชมวิวสวยๆบนยอดดอยมะม่วง(สามหมื่น)มาแล้ว รองเท้าแก้วก็ได้เดินเท้าออกจากป่า กลับมาพักที่คำสิงห์โฮมสเตย์ เพื่อเตรียมตัวสำหรับเช้าวันรุ่งขึ้นที่จะไปต่อที่น้ำตกทีลอซู อ.อุ้มผาง จังหวัดตาก น้ำตกที่ได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในประเทศไทย หมุดหมายหลักของทริปนี้ โดยการซื้อทัวร์ของคำสิงห์โฮมสเตย์ ที่มีเจ้าของน่ารักมากๆอย่างลุงสิงห์กับป้าเป้าคอยดูแลและทำกับข้าวอร่อยๆให้กับเราได้อิ่มท้องทุกวัน สำหรับการเดินทางไปน้ำตกทีลอซอ เราเลือกเดินทางด้วยการล่องเรือยาง ระยะทางราวๆ 14-15กม.ใช้เวลาประมาณ 3ชม.

เช้านี้เราขึ้นรถสองแถวพร้อมกับไกด์ไปยังจุดลงเรือยางที่ห้วยสบ ซึ่งเกิดจากแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำอุ้มผางและแม่น้ำแม่กลอง ที่ผ่านหลายจังหวัดไปออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่จุดลงเรือมีนักท่องเที่ยวเยอะมากๆทั้งชาวไทยและต่างชาติ พลอยทำให้เราอดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่รองเท้าแก้วและเพื่อนสมาชิกจะได้นั่งเรือยางล่องไปตามแม่น้ำที่มีระยะทางค่อยข้างไกลกว่าทริปที่เคยผ่านมา โดยก่อนลงเรือไกด์จะให้เราทุกคนสวมเสื้อชูชีพให้เรียบร้อยก่อนที่เรือยางจะถูกปล่อยให้ไหลไปตามกระแสน้ำพร้อมกับเรือยางของนักท่องเที่ยวอีกหลายสิบลำ เรือยางไหลไปตามกระแสน้ำผ่านทิวทัศน์ของป่าไม้ธรรมชาติที่ขึ้นปกคลุมภูเขา กิ่งก้านสาขาแผ่ออกให้เขาร่มรื่น ผ่านผาโหว่ ที่มีลักษณะเป็นช่องขนาดใหญ่ ผานางกวัก ที่มีรูปหินลักษณะคล้ายมือ หินบัวคว่ำ ที่เกิดจากธรรมชาติสร้างขึ้น ล่องเรือไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง เราเริ่มเห็นต้นน้ำของน้ำทีลอจ่อ ซึ่งเป็นชื่อเรียกภาษากะเหรี่ยง แปลเป็นไทยว่า น้ำตกสายฝน จากน้ำที่ไหลซึมผ่านหินผาลงมา มองเห็นเป็นม่านน้ำ คล้ายกับสายฝน ซึ่งเราจะพบม่านน้ำเล็กๆ อยู่เป็นระยะ

มาถึงอีกจุดไฮไลท์แม่น้ำสายนี้ คือ น้ำตกสายรุ้ง ที่เรียกเช่นนี้ เนื่องจากช่วงเวลาราวๆ 9 โมงเช้า จะเกิดปรากฏการณ์สายรุ้งเหนือธารน้ำ พาดผ่านม่านน้ำงดงามราวกับว่าอยู่ในภาพวาด ผ่านไปเพียงชั่วอึดใจก็พบรุ้งอีกสายปรากฎซ้อนทับ เป็นสายรุ้ง 2 ชั้น ทั้งนักท่องเที่ยวรวมถึงคณะเราต่างก็ตื่นเต้น หยุดเก็บภาพความประทับใจกันไปตลอดทางเลยทีเดียว จากจุดน้ำตกสายรุ้ง ผ่านน้ำตกมอลู่เล็กๆ ถึงบ่อน้ำร้อน เป็นจุดพักระหว่างทาง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถแวะซื้ออาหารรองท้อง พวกมันปิ้ง ไข่ปิ้ง กล้วยปิ้ง ไก่ย่าง ดื่มน้ำเย็นๆ ที่ชาวบ้านละแวกนั้นเอามาขาย พร้อมๆกับ นั่งแช่น้ำร้อนที่ผุดขึ้นจากธรรมชาติผ่อนคลายความเมื่อยล้าสักพัก

เรานั่งเรือยางต่อไปอีกไม่นานก็ขึ้นฝั่งที่ ผาเลือด หรือ หน่วยพิทักษ์ป่าผาเลือด จากจุดนี้เดินทางต่อด้วยรถสองแถวไปยังน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยว ผ่านถนนคอนกรีตสลับกับทางดิน บางช่วงมีหลุมขนาดใหญ่ต้องใช้ความระมัดระวังสุดๆ สำหรับรถที่ไม่ค่อยชินทางก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ เมื่อมาถึงบริเวณทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จากจุดนี้เราต้องเดินเท้าอีกประมาณ 1กิโลเมตรกว่าๆ เพื่อเข้าไปยังน้ำตกทีลอซู ซึ่งเส้นทางที่เดินค่อยข้างเย็นสบาย มีต้นไม้ร่มรื่น และทางเดินบันไดไม้ที่ทำขึ้นมาให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ระหว่างทางก็ยังมีน้ำตกน้อยใหญ่ให้เราแวะถ่ายรูปไปได้เรื่อยๆเมื่อเดินเข้าใกล้เราก็จะได้เสียงน้ำตกที่ไหลจากผาสูงลดหลั่นลงมากระทบแอ่งน้ำด้านล่างเป็นสัญญาณว่าเราเข้าใกล้น้ำตกทีลอซูแล้ว

และในที่สุดเราก็มาถึงน้ำตกขนาดใหญ่เด่นสง่าอยู่เบื้องหน้า เผยให้เห็นความอลังการแห่งสายน้ำ เราหยุดตะลึงกับความยิ่งใหญ่และความสวยงาม ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปหามุมถ่ายรูป ซึ่งแอบเห็นนักท่องเที่ยวหลายๆคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกับเราเพราะดูประทับใจและตื่นเต้นไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าสลัดความเมื่อยล้าที่ผ่านมาได้หมดสิ้นและรู้สึกว่าคุ้มค่าแล้วที่เราอุตส่าห์ดั้นด้นมาจากกรุงเทพฯเพื่อมาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของน้ำตกแห่งนี้ ซึ่งน้ำตกแห่งนี้มีประวัติที่น่าสนใจมากๆและนักท่องเที่ยวสามารถหยุดอ่านป้ายข้อความขนาดใหญ่ที่บอกกเล่าเรื่องราวการค้นพบน้ำตกแห่งนี้

น้ำตก ทีลอซู ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับการค้นพบโดยพรานชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่เดินเข้ามาล่าสัตว์ ก่อนที่ตำรวจตระเวนชายแดนได้บินเข้ามาสำรวจในพื้นที่และได้พบน้ำตกทีลอชู ต่อมากรมป่าไม้ประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และหลังจากปี พ.ศ. 2528 ที่ นายปรีชา อินทวงศ์ นายอำเภออุ้มผางในขณะนั้น พาบุคลากรของนิตยสารท่องเที่ยวแคมปิ้ง เข้าไปสำรวจน้ำตกทีลอซูและนำไปตีพิมพ์ลงนิตยสารจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนภายนอกรู้จัก

“ทีลอซู” หรือ ออกเสียงตามภาษาภาษาปกากะญอว่า “ที-หล่อ-ชู” ที แปลว่า น้ำ, หล่อ แปลว่า ไหล และ ชู แปลว่า ทิ่มแทง (หล่อ-ชู เป็น กิริยา หมายถึง การไหลลงมาอย่างแรงของน้ำปะทะกับพื้นเบื้องล่าง) ดังนั้นจึงแปลว่าน้ำตก (บางท่านบอกว่าแปลว่า น้ำตกดำ คำว่า “ดำ” ไม่ได้ออกเสียงว่า ซู แต่ออกเสียงคล้ายๆกัน ไม่รู้จะเขียนเป็นอักษรไทยอย่างไร เพราะเสียงนี้ไม่มีในภาษาไทย ต้องออกเสียงให้ฟังถึงจะแยกความแตกต่างได้) น้ำตกนี้ซ่อนอยู่ในหลืบผาอันกว้างใหญ่ สายน้ำเกิดจากห้วยกล้อทอ ซึ่งมีแดนกำเนิดอยู่บนดอยผาวี แล้วไหลลงแม่น้ำแม่กลองที่ตำบล แม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง ตกจากหน้าผากว้างระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 690เมตร กว้างประมาณ 500 เมตร สูงประมาณ300 เมตร


น้ำตกทีลอซู จัดให้เป็น 1ใน9ตะวัน ตามโครงการมหัศจรรย์เมืองไทย 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน บริเวณที่ตั้งแคมป์ทีลอชู เป็นบ้านเก่าชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เรียกว่า “ว่าชื่อคี” บริเวณที่จอดรถเป็นที่นาเก่าของชาวบ้านที่นี่ การที่เป็นบ้านร้างเพราะชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายไปอยู่บ้านโขะทะเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เหลือย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ชาวปกากะญอที่นี่รู้จักน้ำตกทีลอชูมาช้านานแล้ว …


พอได้อ่านประวัติแล้วก็ทำให้นึกถึงภาพพรานป่าคนนั้นที่ได้เจอกับน้ำตกทีลอซูคนแรก คงรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ สมัยก่อนที่น้ำตกยังไม่เป็นที่รู้สึก ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่ารกทึบ คงเป็นภาพที่สวยงามและชวนจินตนาการได้ว่าคงมีเทพเทวาองค์ใดรังสรรค์ความยิ่งใหญ่และงดงามนี้ไว้เป็นแน่ๆ

“น้ำตกทีลอซู ทำให้รู้ว่าธรรมชาติสุดยิ่งใหญ่”

By รองเท้าแก้ว