สคบ. เตรียมเรียก 3 บอสดาราดังให้ข้อมูลสัปดาห์หน้า หลังโผล่นั่งแท่น ผอ. ร่วมบริหารบริษัทธุรกิจขาย ขายสินค้าออนไลน์ ขณะที่ผู้เสียหายรวมตัวจี้ สคบ. รับผิดชอบ หลังออกใบอนุญาตธุรกิจตลาดแบบตรงแต่ไม่เคยติดตามผลลัพธ์ ฝากเช็คบิลพฤติกรรมแผนธุรกิจ – การจดทะเบียน ส่อฝ่าฝืนกฎหมาย
จากกรณีปรากฏข่าวดังเดือดในโซเชียลเกี่ยวกับแผนธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ของบริษัทดัง โดยมีคนมีชื่อเสียง ศิลปิน ดาราดังระดับประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องในมิติงานการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันพบผู้เสียหายทยอยเปิดโปงพฤติกรรมของแผนธุรกิจเครือข่ายดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ หรือคอมเมนต์ใต้เพจต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบ ต่อมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมด่วนตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อประชุมสั่งการคดีที่มีประชาชนตกเป็นผู้เสียหายจากการชักชวนลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมมอบหมายให้ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นผู้ควบคุมดูแลคดี เบื้องต้นจึงได้สั่งการให้ บก.ปคบ. ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อรับแจ้งความจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนและตกเป็นผู้เสียหาย ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ต.ค. ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารบี กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบรรดาผู้เสียหายจากการลงทุนเปิดบิลเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ภายใต้การกำกับของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง โดย น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง ได้รวบรวมผู้เสียหายก่อนรวมตัวกันเดินทางเข้ายื่นเอกสารร้องเรียนต่อนายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สคบ. ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว โดยมีนายจิติภัทร์ บุญสม ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (สคบ.) เป็นตัวแทนรับเรื่อง
น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง กล่าวว่า เนื่องด้วยศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง ได้รับการสอบถามและร้องเรียนจากประชาชนและผู้บริโภคเกี่ยวกับการดำเนินงานของ บริษัทขายสินค้าออนไลน์ดังกล่าว โดยมีความกังวลว่าอาจมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือขาดการจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด จึงขอความอนุเคราะห์เลขาธิการ สคบ. ช่วยตรวจสอบบริษัทดังกล่าว ดังนี้ ตรวจสอบสถานะการจดทะเบียนว่าบริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจตามกฎหมายหรือไม่ ,ตรวจสอบการดำเนินงานว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ ,ตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สคบ. หรือไม่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและประชาชน ทางศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง จึงขอความอนุเคราะห์ในการดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้ทราบเพื่อที่จะได้ประสานงานและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป และขอให้เกิดมาตรการป้องกันจริง ๆ เสียที เพราะ สคบ. คือผู้ออกใบอนุญาต ก็ควรรับผิดชอบดูแลบริษัทที่ตนเองออกใบอนุญาตไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายกับประชาชน ไม่อยากให้เป็นภาวะไฟไหม้ฟาง
ด้านนายจิติภัทร์ บุญสม ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (สคบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้เสียหายที่ร้องเรียนเข้ามาในระบบของ สคบ. ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 15 ราย ความเสียหายรายละ 200,000 บาท หรือร่วมล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วนั้น เราก็ได้เป็นตัวแทนเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหาย โดยในจำนวนที่ร้องเรียนเข้ามา 15 ราย ยุติเรื่องไปแล้ว 12 ราย ส่วนอีก 3 รายอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ในส่วนของผู้เสียหายล็อตใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ทาง สคบ. จะรับเรื่องเข้าไปตรวจสอบการประกอบธุรกิจอีกครั้ง เพราะว่า สคบ. ได้อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไปเมื่อปี 2562 ส่วนหลังจากนั้นในปี 2565 ทางบริษัทได้กลับมายื่นขอจดทะเบียนขายตรง โดยบอกว่าที่ยื่นจดขายตรงเพราะบริษัทมีลักษณะจำหน่ายขายปลีกขายส่งสินค้า ขณะที่กำไรที่ได้บอกว่ามาจากส่วนต่างของสินค้าซื้อมาก ได้ราคาลดมาก ซื้อน้อยได้ราคาลดน้อย ซึ่งในครั้งนั้นนายทะเบียนจึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนขายตรงให้กับบริษัท ทั้งนี้ ปัจจุบันความเสียหายของประชาชนมีจำนวนมาก และลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทในภายหลังที่ขอยื่นจดทะเบียนอาจมีความแตกต่างกัน เป็นการเข้าระบบขายตรงหรือไม่ มีการชักชวนให้ร่วมลงทุนในลักษณะเครือข่ายหรือไม่ มีการแบ่งผลกำไรส่งต่อขึ้นมาในส่วนของแม่ข่ายเป็นลำดับขั้นหรือไม่ ตรงนี้ สคบ. จะเข้าไปตรวจสอบด้วย
นายจิติภัทร์ กล่าวต่อว่า หาก สคบ. ดำเนินการแล้วพบว่าบริษัทดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เรายังจะได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ในการตรวจสอบสำหรับพิจารณาเรื่องการฉ้อโกงประชาชนอีกด้วย ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สคบ. ดูแลและจะดำเนินการอย่างเคร่งครัด ส่วนที่ก่อนหน้านี้ปี 2565 ปรากฏเอกสารตอบกลับของ สคบ. ต่อประชาชนผู้ร้องเรียนในทำนองว่า “ผู้ร้องเรียนสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมประกอบธุรกิจ และได้รับผลตอบแทนจากกำไรขายปลีกตามข้อตกลงที่ได้สัญญาไว้ กรณีพิพาทนั้นจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกัน จึงไม่ใช่ผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 สคบ. จึงไม่สามารถดำเนินพิจารณาดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของท่านได้” นั้น ยืนยันว่าข้อเท็จจริงปรากฏลักษณะแบบนั้น จริง เพราะกฎหมายสองฉบับนี้กำหนดให้ สคบ. มาดูแลคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น การเข้าองค์ประกอบของบริษัทนี้จะมีผู้ค้า 2 ส่วน คือ 1.ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง และ 2.ขายในลักษณะตัวแทน และลักษณะตัวแทนจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันในลักษณะขายตรง ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าไปดูว่าข้อตกลงสัญญาการจ่ายผลตอบแทนเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ และกลุ่มผู้เสียที่ลงทุนในธุรกิจนี้ด้วย จึงเป็นอำนาจนอกเหนือจากที่ สคบ. เข้ามาดูแล แต่ยังช่วยเจรจาให้อยู่
นายจิติภัทร์ กล่าวอีกว่า ทราบว่าตอนนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากทั่วประเทศ สคบ. จึงได้เปิดศูนย์รับเรื่องเยียวยาแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหาย ขอให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมผระจำจังหวัด ถ้ามีการร้องเรียนเข้ามา เราก็จะตรวจสอบเพื่อดูว่าประเด็นใดเข้าข้อกฎหมายฉบับใด เพื่อไปร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ ต่อไป ส่วนการไกล่เกลี่ยก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้น มีคนร้องเรียนมาในลักษณะนี้ สคบ. ก็ได้มีการคืนเงิน แต่อีกส่วนเราก็ได้แจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการดำเนินการของบริษัทนี้อาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เช่น ปี 2565 ส่งเรื่องไปให้ตำรวจ แต่ถ้าเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อแจ้งเรื่องให้เขาช่วยดูแล
เมื่อถามว่าพฤติการณ์ของบริษัทและแผนธุรกิจออนไลน์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายจะเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือการเงินนอกระบบ มีแนวโน้มที่เรื่องราวจะอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอหรือไม่ นายจิติภัทร์ กล่าวว่า การจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ต้องดูลักษณะการประกอบธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่แชร์ลูกโซ่จะเป็นการชักชวนให้ลงืุนเป็นระบบเครือข่าย แต่ต้องไม่มีสินค้า เพราะเป็นการชวนลงทุนและก็ได้กำไร แต่ถ้าเป็นการขายตรง คือต้องขาย จะอยู่ลำดับชั้นไหนก็ต้องขาย มิใช่ลงทุนแล้วนั่งรอเงินปันผลอย่างเดียว และขายตรงคือมีสินค้าในการขาย จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการขายตรงหรือไม่
นายจิติภัทร์ ยังเผยถึงกรณีที่ สคบ. มีการมอบโล่แก่ผู้บริหารบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แม้ในตอนนั้นเริ่มปรากฏจำนวนผู้เสียหายจากแผนธุรกิจดังกล่าวแล้ว ว่า การมอบโล่รางวัลในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทยเป็นกิจกรรมที่เราจะส่งเสริมสนับสนุนผู้ทำคุณประโยชน์ ซึ่งตอนนั้นตรงกับช่วงเหตุการณ์โควิด-19 พอดี และบริษัทดังกล่าวได้มีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์แก่ผู้เข้ารับความรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบกับในช่วงนั้นยังไม่มีเรื่องร้องทุกข์ของบริษัทนี้ปรากฏขึ้นมาแต่อย่างใด และยังผ่านเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการ จึงได้รับโล่รางวัล แต่เพราะปี 64 เป็นช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด สคบ. จึงขยับมาจัดงานในปี 65 จึงไปมีความคาบเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นในปีนั้น อย่างไรก็ตาม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทนี้มีการกระทำเสื่อมเสียต่อตราสัญลักษณ์ ทาง สคบ. ก็พร้อมปลดตราสัญลักษณ์และเรียกคืนนั้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
นายจิติภัทร์ เผยถึงกรณีของดาราชื่อดังที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว เผยแพร่ความน่าเชื่อของบริษัท จะมีผลอย่างไรหรือไม่ ว่า ในส่วนของธุรกิจขายตรง จะมีความผิดเฉพาะในส่วนของกรรมการและนิติบุคคลเท่านั้น แต่ในส่วนของอินฟลูเอนเซอร์ที่กระทำการชักชวนให้มาลงทุน ก็ต้องไปดูกฎหมายข้างเคียง เช่น พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ เป็นต้น เพราะเป็นการโฆษณาชักชวนให้ลงทุน แต่ถ้าโฆษณาเพื่ออวดอ้างสรรพคุณสินค้า ตรงนี้จึงจะพิจารณากับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ทั้งนี้ คาดว่าการที่ดาราขึ้นเวทีสัมมนา เผยแพร่ผลประกอบการต่าง ๆ ก็มองว่าเข้าองค์ประกอบของการชักชวน แต่ต้องดูเจตนาด้วยว่า ชักชวนโดยปกปิดเรื่องกำไรหรือผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งอาจเข้ากฎหมายอาญาเป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบ ดังนั้น การที่ดาราไปรับตำแหน่งบริหาร แล้วหากบริษัทมีความผิด ดาราก็จะมีความผิดเช่นกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงานของ สคบ. หลังจากนี้ คือ สัปดาห์นี้ สคบ. จะลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของบริษัท ส่วนสัปดาห์หน้าจะทำการเชิญบอสดาราต่าง ๆ มาให้ข้อมูล รวมทั้งผู้เสียหาย ว่าลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าวผิดกฏหมายด้านใดบ้าง