หน้าแรกการเมือง'ดร.สามารถ' ถาม ใคร? เสก! เทอร์มินัล 2 ให้ผิดแผนแม่บท

‘ดร.สามารถ’ ถาม ใคร? เสก! เทอร์มินัล 2 ให้ผิดแผนแม่บท

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงการประกวดออกแบบ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยระบุ “ใคร???
เสก! เทอร์มินัล 2
ให้ผิดแผนแม่บท

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “เบื้องลึก!!! ทอท.เดินหน้าสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1” ซึ่งมีใจความโดยสรุปได้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีแผนที่จะขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) โดยมีงานขยายอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 1 (อาคารปัจจุบัน) ออกไปทางด้านตะวันออกรวมอยู่ด้วย ซึ่งการขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกนั้นจำเป็นจะต้องรื้ออาคาร City Garden ที่บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือเคพีเอส ได้รับอนุมัติจาก ทอท.ให้สร้างขึ้นเป็นอาคาร 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 ได้ใช้เป็นสำนักงาน และชั้นที่ 2 เป็นกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้ มีเอกสารเป็นหลักฐานยืนยันว่าเคพีเอสมีความยินดีที่จะปรับรื้ออาคาร City Garden ออกไป หาก ทอท.ต้องการขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก แต่สุดท้าย งานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกก็ถูกยกเลิกไป ผมจึงได้ตั้งคำถามว่า ทำไม ทอท.จึงได้ยกเลิกงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก

ปรากฏว่า มีสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น กล่าวคือ มีมติคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 6/2561 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 วาระที่ 4.2.9 เห็นชอบในหลักการให้ ทอท.ดำเนินการโครงการก่อสร้างงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตกแทนด้านทิศตะวันออก ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท.เสนอ ผมขอย้ำว่า “ให้ขยายด้านทิศตะวันตกแทนด้านทิศตะวันออก” นั่นหมายความว่า ทอท.เปลี่ยนใจไม่ยอมขยายอาคารด้านตะวันออก แต่จะขยายด้านตะวันตกแทน ซึ่งไม่ทราบว่าจะขยายเมื่อไหร่

อะไร? ทำให้ ทอท.จึงกล้าทำเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ ทอท.ได้ออกแบบงานขยายอาคารด้านตะวันออกเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะก่อสร้าง ทั้งๆ ที่ ทอท.ได้เตรียมที่จะก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถเพื่อรองรับงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกไว้แล้ว และทั้งๆ ที่ ทอท.ได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา EPM ให้วิเคราะห์ขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีรายงานผลการวิเคราะห์ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 รายงานฉบับนี้ได้เสนอแนะให้ ทอท.ขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกก่อนด้านตะวันตก ซึ่งจะทำให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี แต่ ทอท.กลับเปลี่ยนใจ โดยเลือกที่จะขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันตกแทนการขยายด้านตะวันออก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทอท.จะให้สาธารณชนเข้าใจอย่างไร?

ที่สำคัญ รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอแนะให้ ทอท.ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (ด้านถนนบางนา-ตราด) หรืออาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ได้จัดทำไว้ หลังจากการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ด้านตะวันออกแล้ว โดยกำหนดให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนต่อปี อีกทั้ง รายงานฉบับนี้ไม่ได้เสนอแนะให้ ทอท.ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารหลังที่ 1 ซึ่งไม่ตรงกับแผนแม่บทและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงในเวลานี้

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เจ้าปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ผมได้ย้อนดูแผนแม่บทที่ ทอท.ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535-2536 และมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ปรับแก้เป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นการปรับแก้ไม่มาก โดยยังคงรักษาองค์ประกอบที่สำคัญไว้ เช่น จำนวนอาคารผู้โดยสารมี 2 อาคาร คืออาคารด้านเหนือ (อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1) และอาคารด้านใต้ (อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2) เป็นต้น ไม่มีการเสนอให้ย้ายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ตามที่ ทอท.ได้ประกวดแบบและจะก่อสร้างในเร็วๆ นี้

แต่ในที่สุด ผมได้ค้นพบว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 11/2557 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคาคม 2557 ซึ่งมีการพิจารณาตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เรื่องการศึกษาแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติให้ฝ่ายบริหาร ทอท.เร่งศึกษาแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และให้เสนอทางเลือกการใช้งานอาคารดังกล่าวที่เหมาะสมและเกิดประโยขน์สูงสุดต่อการดำเนินงานของ ทอท.ให้คณะกรรมการ ทอท.พิจารณาต่อไป ด้วยเหตุนี้ ทอท.จึงเสนอที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A ซึ่งเป็นด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ให้คณะกรรมการ ทอท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2557 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบการศึกษาการใช้ประโยชน์ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พร้อมทั้งกำหนดให้อาคารหลังนี้สามารถรองรับได้ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และผู้โดยสารภายในประทศ

นับว่า ทอท.ทำงานได้อย่างรวดเร็วมาก โดยสามารถเลือกตำแหน่งที่ตั้งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ได้ภายใน 1 เดือน หลังจากนั้น ทอท.ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการ ทอท. โดยไม่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา และได้มีรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ได้แล้วเสร็จในช่วงเวลาสั้นๆ สั้นกว่าการจ้างบริษัทที่ปรึกษา พูดได้ว่า ทอท.สามารถเปลี่ยนแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิได้ภายเวลาไม่นาน ทั้งๆ ที่ ทอท.ได้ปรับแก้แผนแม่บทมาแล้วหลายครั้งโดยจ้างบริษัทที่ปรึกษา และทุกครั้งก็ยังคงตำแหน่งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ไว้ทางทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เหมือนเดิม

อะไรทำให้ ทอท.กล้าเปลี่ยนแผนแม่บทอย่างมีนัยสำคัญ และใครเป็นคนเสกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้นมาบนตำแหน่งที่ตั้งใหม่ซึ่งผิดไปจากตำแหน่งในแผนแม่บท เป็นปริศนาที่ทุกคนต้องการคำตอบ

เรื่องสำคัญซึ่งเป็นประตูสู่ประเทศเช่นนี้ ผมจำเป็นต้องกราบเรียนท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ดีในการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่านานาอารยประเทศให้กรุณาลงมาตรวจสอบหาสาเหตุในการเปลี่ยนแผนแม่บทอย่างมีนัยสำคัญในครั้งนี้ และพิจารณาสั่งการให้ ทอท.ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่า เป็นเพราะมติ คสช.เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เรื่องการศึกษาแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคณะกรรมการ ทอท.ได้นำมาพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 11/2557 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคาคม 2557 ดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงทำให้เกิดอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ขึ้นมาบนตำแหน่งที่ตั้งใหม่ซึ่งผิดไปจากตำแหน่งในแผนแม่บท

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีครับ”

ใคร???เสก! เทอร์มินัล 2ให้ผิดแผนแม่บทเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “เบื้องลึก!!!…

โพสต์โดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte เมื่อ วันอังคารที่ 25 กันยายน 2018


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img