กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.93 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง33.88-34.12 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกดัชนีดอลลาร์ดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังตลาดรับข่าวประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ส่งสัญญาณใกล้ลดดอกเบี้ยอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีเกินคาด โดยจีดีพีในไตรมาสสองเติบโต 3.0% ซึ่งเป็นการปรับทบทวนจาก 2.8% ที่เคยรายงานในครั้งแรกและเร่งตัวจาก 1.4% ในไตรมาสแรก ทางด้านเงินยูโรอ่อนค่าลงขณะที่อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีและสเปนที่ชะลอลงสนับสนุนการคาดการณ์เรื่องการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,179 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 1,937 ล้านบาท ส่วนในเดือนส.ค.เงินบาทแข็งค่ามากถึง4.9%
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่านักลงทุนจะติดตามตัวเลขดัชนีภาคบริการและการจ้างงานเดือนส.ค.ของสหรัฐฯซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ขนาดการลดดอกเบี้ยของเฟดหลังเงินเฟ้อ PCE ออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด ขณะที่สัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่าในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. มีโอกาสราว 69% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bp และคาดว่ามีโอกาส 31% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 50bp จากระดับ 5.25-5.50% อนึ่ง เรามองว่าในระยะสั้นเงินบาทเข้าสู่ช่วงพักฐานชั่วคราวหลังจากแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตลาดสะท้อนความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มความผันผวนให้กับค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยในประเทศนักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนส.ค.รวมถึงโผครม.เศรษฐกิจ ทางด้านผู้ว่าการธปท.ระบุว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองที่สูงขึ้น ขณะที่ธปท.ติดตามความเคลื่อนไหวของเงินบาทอยู่ตลอด นอกจากนี้ ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่เท่าเทียม ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก โดยการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ในเดือนก.ค.ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 0.3 พันล้านดอลลาร์