กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “การเลือกตั้งบนสมรภูมิโซเชียล” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,201 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.0 อยากเห็นพรรรคการเมืองใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค/เฟซบุ๊ค ไลฟ์ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 39.6 อยากเห็นใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ไลน์ และร้อยละ 36.5 ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ยูทูป
เมื่อถามความเห็นต่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของพรรคการเมืองต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ51.4 เห็นว่าจะเกิดผลดี โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้น (ร้อยละ 54.8) รองลงมาคือ คนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น (ร้อยละ 53.4) ขณะที่ร้อยละ 48.6 เห็นว่าจะเกิดผลเสีย โดยใน จำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ข้อมูลที่ได้อาจไม่น่าเชื่อถือ มีการบิดเบือนข้อมูล (ร้อยละ 45.2) และจะมีการแสดงความเห็นใส่ร้ายโจมตีคู่แข่ง ทำให้เกิดความขัดแย้ง (ร้อยละ 33.5) ส่วนความเห็นต่อการเสนอข้อมูลต่างๆทางการเมืองของเน็ตไอดอลหรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด จะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะถึงมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.0 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 37.0 เห็นว่ามีผล ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรหากมีการห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียงพบว่า ร้อยละ 47.9 รู้สึกเหมือนถูกปิดกั้นข้อมูล รองลงมาร้อยละ 34.6 รู้สึกเหมือนประเทศยังไม่พัฒนา ไม่มีอิสระ และร้อยละ 34.3 รู้สึกว่าถ้าใช้โซเชียลหาเสียงประเทศจะวุ่นวายแตกแยก