เปิดปูมขบวนการค้าน้ำเถื่อน “เจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมือง”รับทรัพย์ แต่ตำรวจกลับโดนถล่มหน่วยเดียว !!

796

          ในห้วงเวลาที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กำลังตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองที่จะเข้าทำหน้าที่เสนาบดี กลับมีกระแสข่าวว่ามีนักการเมืองบางคนถูกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ตรวจสอบว่าเกี่ยวพันกับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนหรือไม่ ?

          แม้เลขาธิการ ป.ป.ช.บอกว่ายังไม่ได้มีการชี้มูลใดๆ แต่ทำให้ น.ส.แพทองธาร ในฐานะผู้แต่งตั้งเกิดอาการหวาดหวั่นได้ระดับหนึ่ง จากประเด็นดังกล่าวพอสะท้อนได้ว่าขบวนการค้าน้ำเถื่อนโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีผลประโยชน์แจกจ่ายกันไปในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายและนักการเมืองที่ต้องหาประโยชน์ตุนไว้เป็นทุนสร้างฐานการเมือง

          หากย้อนดูสถานการณ์ค้าน้ำมันเถื่อนจะพบว่ายืนยงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่มีรัฐบาลไหนมีนโยบายปราบปรามอย่างจริงจัง ถ้าปราบจะเป็นในลักษณะไฟไหม้ฟางแค่ขู่ให้กลัวหรือแค่ตีเมืองขึ้นให้หันมาซูฮกเท่านั้น ถ้ามองถึงองค์ประกอบในการนำน้ำมันเถื่อนเข้าประเทศทำได้ยากมาก เพราะต้องผ่านเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหารเรือ ทหารบก ล้วนแต่ตรึงอยู่ในพื้นที่ทั้งบนบกและในน้ำ ถ้าเจ้าหน้ารัฐเหล่านี้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รับรองได้ว่าน้ำมันเถื่อนลิตรเดียวก็เล็ดลอดเข้าประเทศไม่ได้แน่นอน

         แต่ที่ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนยืนยงเย้ยกฎหมายอยู่ได้ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้พร้อมใจกันหรี่ตา เพราะมีผลประโยชน์ที่บรรดาแก๊งค้าน้ำมันเถื่อนส่งบรรณาการให้ทั้งแบบรายวัน รายเดือน แถมมีโบนัสปลายปีให้อีกต่างหาก ขณะเดียวกันมีหน่วยงานรัฐบางหน่วยทำหน้าที่คอยคุ้มกันลำเลียงน้ำมันทั้งบนบกและทางน้ำ บางหน่วยคอยคุ้มครองระหว่างลำเลียงสู่ลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย แถมคุ้มครองระหว่างรายย่อยจำหน่ายอีกต่างหาก

            ที่สำคัญขบวนการค้าน้ำมันจะยึดโยงกับนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ บางขบวนการมีนักการเมืองใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ สามารถขยายฐานลูกค้าได้เกือบทั้งประเทศ นำรายได้แบบเถื่อนๆมาขยายฐานทางการเมืองแล้วใช้อำนาจทางเมืองมาค้ำจุนธุรกิจ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ชาวบ้านในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ต่างทราบกันว่าเจ้าหน้ารัฐกับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอยู่กันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
       

หากรัฐบาลชุดไหนมีนโยบายที่จะปราบปรามน้ำเถื่อน ไม่ว่าจะหวังผลเพื่อให้รัฐได้ภาษีเพิ่มขึ้นหรือหวังผลเพื่อเขย่าฐานของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ตำรวจจะเป็นหน่วยงานแรกที่จะถูกประณามอย่างหนักว่าปล่อยปละละเลย รับส่วย ทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์

       ตำรวจเปรียบเสมือนหนังหน้าไฟที่จะต้องแบกรับเสียงก่นด่าจากทุกสารทิศ ทั้งที่ในความจริงแล้วส่วยหรือผลประโยชน์ในลักษณะภาษีเถื่อน ถูกแจกจ่ายไปในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนายตำรวจในพื้นที่ภาคใต้นายหนึ่งเล่าว่าพลันตำรวจจับกุมขบวนการค้าน้ำเถื่อน เวลาผ่านไปถึง 5 นาที สายโทรศัพท์ของชุดจับกุมสายแทบจะไหม้ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆไม่ว่าเป็นศุลกากร สรรพสามิต บิ๊กทหารหรือบิ๊กปกครอง โทรฯมาขอเคลียร์ให้ปล่อยเพราะมีการจ่ายส่วยทั้งแบบรายเดือนหรือรายวันเรียบร้อยแล้ว หากชุดจับกุมไม่ยอมจะมีสายจากบรรดาบิ๊กๆทั้งจากในกรมและสายการเมืองโทรฯสั่งการให้ปล่อย มีท่าทีทั้งนุ่มนวลและข่มขู่

  “แต่ถ้าระหว่างจับกุมชุดจับกุมแจ้งว่ามีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวแล้ว ปลายสายจะแจ้งว่าเมื่อลงบันทึกจับกุมเรียบร้อยและนำของกลางไปเก็บแล้ว ขอให้ชุดจับกุมหาทางออกหรือแก้ปัญหาไม่ให้ของกลางถูกยึดให้ด้วย ถ้าชุดจับกุมแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ จะมีเสียงขู่จากปลายสายว่าให้ระวังจะกระเด็นตกเก้าอี้ “นายตำรวจระบุและว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ตำรวจที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เสียขวัญและโบกมือลาไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับขบวนค้าน้ำเถื่อนมานักต่อนักแล้ว

       ที่”ประดู่แดง”ยกมาบอกเล่าเพื่อสื่อสารถึงความจริงที่ยังดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน โดยไม่มีรัฐบาลชุดไหนมีนโยบายที่จะปราบปรามอย่างจริงจัง เพราะถ้าปราบจริงจะเข้าทำนองหยิกเล็บเจ็บเนื้อ แต่องค์กรที่รับกรรมต้องทนรับกับเสียงประณามก่นด่าคงหนีไปพ้นตำรวจ ที่เป็นด่านแรกในการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่หน่วยงานอื่นนั่งเสพสุขรับผลประโยชน์กับภาษีเถื่อนอย่างสบายใจเฉิบ

   จึงได้แต่หวังว่าถ้ารัฐบาลคิดจะปราบปรามน้ำเถื่อนอย่างจริงจัง ต้องยกเครื่องทำแบบบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำหน้าที่อย่างจริงจัง

แต่ถ้าจะปราบปรามแค่หวังสร้างภาพ เมื่อมีการจับกุมต้องจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง อย่าลงโทษตำรวจเพียงหน่วยเดียวเพราะต่างรับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการจับกุมตำรวจกลายเป็นกระโถนท้องพระโรงเสมอมา !!!