หน้าแรกการเมือง“ประชาชน” เสนอร่าง “ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช.” หวังยุติ กม.ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ประชาชน” เสนอร่าง “ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช.” หวังยุติ กม.ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ที่รัฐสภา วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งมีการนำเสนอร่างของคณะรัฐมนตรี พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงของพรรคประชาชน ซึ่งเสนอโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และสมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต เขต 1 ซึ่งรังสิมันต์ได้อภิปราย ว่า ตลอดเวลา 5 ปี 55 วันที่ คสช. ครองอำนาจ มีการออกประกาศและคำสั่งต่างๆ จำนวนมาก แม้จะมีการยกเลิกไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังคงหลงเหลือประกาศและคำสั่งอีกจำนวนมากที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดกับหลักนิติธรรม ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ขัดกับหลักประชาธิปไตย เมื่อประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ระบบปกติ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงประกาศและคำสั่งเหล่านี้ไว้อีก

รังสิมันต์อภิปรายว่า ระบบกฎหมายไทย โดยเฉพาะศาล ได้ยอมรับประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์เสมอมา ซึ่งเป็นการทำลายรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจึงมีพันธกิจสำคัญ คือการป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีกต่อไป และการขจัดมรดกของคณะรัฐประหารออกไปจากระบบกฎหมายไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่คณะรัฐประหารจะไม่ถูกรับรองให้มีที่ทางของความชอบธรรมใดๆ ทางกฎหมายอีกต่อไป

ในช่วงที่ คสช.บริหารประเทศ มีการใช้อำนาจอย่างรุนแรงกว้างขวางผ่านทั้งประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งการเรียกนักการเมือง สื่อมวลชน นักธุรกิจ นักกิจกรรมทางการเมือง ไปรายงานตัว การระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด การห้ามชุมนุมทางการเมือง การดำเนินคดีทางการเมืองในศาลทหาร จนหลายรายตัดสินใจขอลี้ภัยไปยังต่างประเทศ การดำเนินคดีต่อชาวบ้านในประเด็นปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผลกระทบต่อผังเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบมากมาย ไม่นับว่าการใช้อำนาจของ คสช. อยู่เหนือการตรวจสอบทางกฎหมาย เป็นสิ่งอุจาดที่จะปล่อยเอาไว้ให้มีต่อไปในระบบกฎหมายของประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตยไม่ได้

“บรรดาการใช้อำนาจเหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญ ว่าครั้งหนึ่งรัฏฐาธิปัตย์โดยการยอมรับของศาล ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางเพียงใด มีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเพียงเพราะเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของพวกเราทุกคน มีการเรียกรายงานตัวคนจำนวนมาก หากไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะเผชิญกับโทษจำคุก มีการใช้อำนาจด้วยคำพูดสวยหรูว่าทวงคืนผืนป่า แต่กลับกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทั่วไปอย่างมโหฬาร” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นประกาศและคำสั่งที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำนวน 17 ฉบับ โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ ที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออก ที่จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน ที่จำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และที่จำกัดสิทธิชุมชนด้านผังเมืองและสิ่งแวดล้อม เช่น ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมือง หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ ที่ให้อำนาจข้าราชการทหารอย่างกว้างขวางจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี เป็นต้น

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่แม้คำสั่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เลวร้ายต่อระบบกฎหมายของประเทศ แต่กลับไม่อยู่ในร่างของคณะรัฐมนตรี ซึ่งตนก็ขอมองโลกในแง่ดีว่า ครม.อาจจะเห็นว่าในร่างของพรรคประชาชนมีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใส่เข้ามาซ้ำอีกก็ได้ อย่างไรก็ดี ทั้งร่างของคณะรัฐมนตรีและร่างของตนก็มีหลายส่วนที่เห็นตรงกัน เช่น สมควรยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 26/2557 เรื่องการดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือประกาศ คสช.ฉบับที่ 41/2557 เรื่องการกำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด เป็นต้น

คสช.

“หากรับหลักการในวาระนี้ เรายังสามารถเพิ่มบรรดาคำสั่งและประกาศของ คสช.อื่นๆ เข้าไปในชั้นกรรมาธิการอีกได้ เพื่อขจัดมรดกของ คสช.ออกไปให้มากที่สุด บรรดาการกระทำใดๆ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยการยึดอำนาจสูงสุดจากปวงชนชาวไทยมาเป็นของตนเอง จะได้ถึงเวลาที่จะสะสางกันบ้างเสียที อย่างน้อยนี่ก็จะเป็นก้าวแรกก้าวสำคัญของประชาชน ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชน” รังสิมันต์กล่าว

ทางด้านสมชาติ ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างฯ ยกเลิกคำสั่ง เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงเรื่องผังเมืองรวม อภิปรายว่า คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้เกิดการประกอบกิจการที่ขัดต่อกม.ผังเมือง อาทิ คลังน้ำมัน โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า โรงงานผลิตก๊าซ โรงงานรคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล และโรงงานขยะรีไซเคิลเป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกม.ผังเมือง ซึ่งทำลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชน และกลไกผังเมืองของประเทศ เปิดช่องให้นายทุนเปิดกิจการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างโรงงานในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันคำสั่งนี้ยังเปิดช่องให้กลุ่มทุนจีนสีเทาเข้ามาประกอบกิจการโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เช่น กรณีการขนย้ายกากแคดเมียมที่ปรากฏเป็นข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีกรณีการยกเว้นผังเมืองในพื้นที่ EEC โรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่สีเขียวของ จ.นครนายก โรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สระแก้ว โรงงานคัดแยกและโรงหลอมขนาดเล็กจำนวนมากใน จ.สมุทรสาคร รวมถึงโรงงานขยะรีไซเคิลอย่างเช่นกรณีโรงงานวินโพรเสส จ.ระยอง ที่ล้วนสร้างปัญหาให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทั้งสิ้น

สมชาติกล่าวว่า การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวก็เพื่อให้โรงงานเหล่านี้กลับไปใช้กฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562 กฎกระทรวง ผังเมืองประจำจังหวัด รวมถึงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงงานอยู่ภายใต้การออกแบบผังเมืองที่เข้ากับบริบทของพื้นที่ รวมทั้งเพื่อคืนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นว่าต้องการให้โรงงานเหล่านั้นมาตั้งอยู่ในชุมชนของตัวเองหรือไม่

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พรรคประชาชน #รังสิมันต์โรม #สมชาติเตชถาวรเจริญ #ยกเลิกประกาศ-คำสั่งคสช.

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img