สำรวจตลาดคลองเตย 2 พื้นที่รองรับผู้ค้าตลาดลาว จัดระเบียบเข้มรถเข็นขายสินค้าริมถนนซอยจันทน์ 16

170

วันที่ 3 ส.ค.67 เวลา 08.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณตลาดคลองเตย 2 ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย และบริเวณซอยจันทน์ 16 เขตสาทร

ด้วยสำนักงานเขตคลองเตย ได้มีประกาศยกเลิกจุดผ่อนผัน ห้ามมิให้ทำการค้าขายหรือจำหน่ายสินค้า บริเวณตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 แต่ผู้ค้าบริเวณดังกล่าวขอผ่อนผันขยายเวลาทำการค้าออกไป ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขตฯ จึงได้พิจารณาขยายระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ค้าทำการค้า ต่อมาสถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายแล้ว ประกอบกับได้ผ่อนผันให้ทำการค้าเป็นเวลานาน อีกทั้งเขตฯ ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ให้ชี้แจงกรณีมีผู้ร้องเรียนว่าเขตฯ ไม่ดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อผู้ค้าบริเวณดังกล่าว จากนั้นเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของกรุงเทพมหานคร และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณดังกล่าวให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะอาดและสวยงาม เพื่อคืนทางเท้าให้กับประชาชนได้ใช้ทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยกำหนดปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจข้อมูลและจำนวนผู้ค้า หลังจากได้มีการประกาศออกไป โดยเชิญผู้ค้ามาประชุมชี้แจงให้รับทราบถึงแนวทางและมาตรการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงจัดหาตลาดและสถานที่รองรับผู้ค้า พบว่าผู้ค้าบางส่วนจะกลับต่างจังหวัด บางส่วนจะหาที่ทำการค้าใหม่ และบางส่วนจะย้ายเข้าไปทำการค้าในพื้นที่ตลาดคลองเตย 2 แต่ทางผู้ค้าที่จะย้ายเข้าไปทำการค้าในตลาดคลองเตย 2 ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ มาถึงผู้อำนวยการเขตคลองเตย และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอขยายระยะเวลายกเลิกพื้นที่ทำการค้าและรื้อถอนหลังคาตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) เนื่องจากตลาดคลองเตย 2 อยู่ในระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงขอขยายระยะเวลาทำการค้าบริเวณดังกล่าวออกไป จนกว่าตลาดคลองเตย 2 จะปรับปรุงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินสำรวจตลาดคลองเตย 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ และก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย พร้อมทั้งพูดคุยสอบถามข้อมูลกับผู้ดูแลตลาดคลองเตย 2 เพื่อจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ซึ่งตลาดคลองเตย 2 มีแผงค้ารวมทั้งสิ้น 400 แผง แบ่งเป็นผู้ค้าเก่า 79 แผง สามารถรองรับผู้ค้าได้อีก 320 แผง พร้อมเปิดรับผู้ค้าตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ที่ต้องการย้ายเข้ามาทำการค้าในตลาดคลองเตย 2 โดยจัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทำสัญญาเช่าปีต่อปี ผู้ค้าในตลาดคลองเตย 2 ส่วนใหญ่จะจำหน่ายอาหารสด อาหารทะเล ผลไม้ตามฤดูกาล และผักสดต่างๆ พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้เขตฯ ประชุมร่วมกับผู้ค้า ผู้ดูแลตลาด และสถาบันการเงิน เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือและหาแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับเขตคลองเตย มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 188 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 7.ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 03.00-24.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 47 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 3.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 4.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 5.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย

ในส่วนของซอยจันทน์ 16 เขตสาทร ซึ่งจะมีซอยแยกต่างๆ เป็นจำนวนมาก ร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเภทรถเข็นมาจอดริมถนนด้านหน้าอาคาร จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เครื่องดื่มชากาแฟ และสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่ผ่านมาเขตฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว และผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางสัญจร ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากการจอดรถเข็นขายสินค้าบนผิวจราจร อีกทั้งกีดขวางทางเข้าออกอาคาร มีร้านอาหารบางรายตั้งโต๊ะและเก้าอี้บนทางเท้า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยกับผู้ค้าเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามร่างประกาศกรุงเทพมหานคร หลักเกณฑ์ การกำหนดพื้นที่ทำการค้า และการจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ปี 2567 ซึ่งการจัดระเบียบพื้นที่ไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้ทำการค้า แต่เป็นการปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ให้เขตฯ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน อาทิ คณะกรรมการชุมชน ผู้ค้า สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

ส่วนเขตสาทร มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 184 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ถนนเซนต์หลุยส์ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 6.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 7.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 8.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าเพิ่มเติมอีก 3 จุด ได้แก่ 1.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย 2.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตคลองเตย เขตสาทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี #Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์