“ชัยธวัช” ชี้ศาลรธน.ไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรค “พิธา” ยัน “ก้าวไกล” มุ่งสร้างสมดุลประชาธิปไตย-สถาบันฯ

209

วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ทั้งข้อต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงหลักการและเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยชัยธวัชกล่าวถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมายทั้ง 9 ข้อ ว่า 1) การพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะ และรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง

ศาลรัฐธรรมนูญ

2) การยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต. ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลโดยไม่สนใจต่อกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดไว้ และละเลยไม่รอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเกี่ยวกับคำร้องก่อนเสนอคดี 3) การเสนอคำร้องนี้เป็นข้อหาที่แตกต่างจากคดีเดิมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่ กกต. กลับไม่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่ม รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้พรรครับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานก่อนเสนอคดีต่อศาล 4) นอกจากการนำเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล แต่เป็นการกระทำของตัวบุคคล

5) การกระทำตามที่ กกต. กล่าวหาทั้งหมด ทั้งการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม. 112 และการกระทำของสมาชิกพรรค เช่น การไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมทางการเมืองที่พูดถึง ม.112 การใช้ตำแหน่ง สส.ประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 รวมทั้ง สส.ตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 หรือการติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นของพิธา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการระบอบการปกครอง

6) การยุบพรรคการเมืองต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของพฤติการณ์ และต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งผลของการกระทำ แต่การกระทำของพรรคก้าวไกลไม่รุนแรงอันสมควรจะเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้สั่งให้พรรคเลิกการกระทำดังกล่าวไปแล้ว 7) แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เพราะองค์กรที่จะมีอำนาจจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ จะต้องเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติโดยอาศัยวิธีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเท่านั้น

8) การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห.พรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ คือควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปี เช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการล้มล้างการปกครองหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกก.บห. 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีตามที่ กกต. ร้องขอ และ 9) การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะของ กก.บห.พรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่วคือ กก.บห.ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เท่านั้น ไม่ใช่รวมถึงชุดที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้

ด้าน พิธา กล่าวว่าพรรคก้าวไกลเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการนำระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์มาดำรงอยู่คู่กัน การรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบอย่างสมดุลเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบ โดยในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว แต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม ความพยายามทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อตัวระบอบ เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ ป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน

พิธากล่าว ว่าการปกปักรักษาระบอบฯ ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบด้วยกำลัง หรือกฎหมาย แต่ต้องสร้างสมดุลของ 2 องค์ประกอบ ทว่าหลายปีที่ผ่านมามีการนำประเด็นความจงรักภักดีมากล่าวหากันทางการเมือง และนำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหารทั้งโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินเพื่ออำพรางการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนของคนบางกลุ่ม ขณะที่ได้เกิดปฏิกิริยาการเมืองและความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ที่สังคมไทยในอดีตอาจไม่คุ้นเคย แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาด และสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย แต่กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดทับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

พิธากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สส.พรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศของประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบฯ จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิธีการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมี ที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก จะเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ยืนยงสถาพรสืบไปเยี่ยงนานาอารยะประเทศ และนี่คือเจตนาอันแท้จริงของพรรคก้าวไกล” พิธากล่าว

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #ยุบพรรคก้าวไกล #ชัยธวัชตุลาธน #พิธาลิ้มเจริญรัตน์