ทีทีบี ผนึกพันธมิตรองค์กรชั้นนำร่วมแชร์ประสบการณ์ การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว   สร้างโอกาสธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

4091

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ระดมผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ร่วมแชร์ความรู้ด้าน ESG และผลกระทบของธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  หนุนส่งเสริมผู้ประกอบการไทยยกระดับอุตสาหกรรมเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำประสบการณ์จากภาคเอกชนที่พัฒนาองค์กรด้วยแนวคิด ESG ที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสของธุรกิจไทยในเวทีโลก มาปรับใช้ในองค์กรได้อย่างตรงจุด ทั้งลดต้นทุน การใช้พลังงาน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

        ในงานสัมมนา “ttb Business Green Transition Forum 2024”  นายศรัณย์  ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต ได้ตอกย้ำว่า ทีทีบีเป็นธนาคารที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยหันมาปรับตัวและเปลี่ยนผ่านก้าวสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะมีความท้าทายจากนโยบายหรือกฎระเบียบใหม่ ๆ จากประเทศผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องเรียนรู้ และเร่งปรับองค์กร เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ จึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำแนวคิด ESG ไปปรับใช้กับองค์กรได้อย่างตรงจุดและง่ายขึ้น

          นายปวิช  เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมากในประเทศไทย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยภาคการเกษตรมีความเปราะบางและได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่มีศักยภาพในการรับมือได้น้อยกว่าสาขาอื่นมาก สำหรับร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.Climate Change ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตนั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจ สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมในการประเมินองค์กรเพื่อจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก และแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และเทรนด์การค้าระดับสากล ซึ่งขณะนี้
ผู้ประกอบการเองนับว่ามีความตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว และจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี หากทำได้จะนำไปสู่การลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และที่สำคัญเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้
ไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ภายใต้เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  30-40%
ในปี 2573

      ขณะที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า 3  ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนของไทยในอีก 5  ปีข้างหน้า
ประกอบด้วย
     1) ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality & Net Zero
    2) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งขั้วและส่งผลต่อการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของการลงทุนทั้งระบบ
    3) กติกาภาษีใหม่ของโลก (Global Minimum Tax) ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนการลงทุนและการเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่
     ในส่วนของบีโอไอได้ผลักดันให้ภาคธุรกิจมุ่งลงทุนสู่ “ความยั่งยืน” ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรม โดยขอบเขตธุรกิจที่บีโอไอให้การส่งเสริมนั้นค่อนข้างกว้างมากกว่า 400 กิจการ ครอบคลุมตั้งแต่ภาคเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการ ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมีแนวทางการส่งเสริมครบวงจร โดยมีเงินลงทุนขั้นต่ำเพียงแค่ 1 ล้านบาทก็มาขอรับการส่งเสริมได้ หรือ ถ้าเป็นผู้ประกอบการ SMEs เงินทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท ก็สามารถเข้าสู่เกณฑ์การพิจารณาได้ ซึ่งบีโอไอมีมาตรการที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ “Smart & Sustainable Industry”  ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

      สำหรับการเสวนา “เส้นทางการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน โอกาสของธุรกิจไทย” นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ยอมรับว่า Climate Change สำคัญและส่งผลกระทบกับหลากหลายธุรกิจ โดยบ้านปู เน็กซ์ ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ และธุรกิจจัดการพลังงาน โดยมุ่งมั่นเป็นองค์กรสีเขียว และพร้อมเป็นที่ปรึกษาด้าน Net Zero Solutions ให้แก่ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวได้อย่างครบวงจร โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญระดับโลกที่จะนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และย้ำว่าผู้ประกอบการต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีในการทำธุรกิจ เพราะบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจะเสียปรียบในการแข่งขันด้านธุรกิจและการตลาดในอนาคต

       ด้านนายพรเทพ ศุภธราธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด บริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องทำทั้งองค์กร จึงมีการให้ความรู้แก่พนักงานและลูกค้าเพื่อเข้าใจถึงคุณค่าของ ESG  และให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ เช่น การใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเคียว ที่นำคาร์บอนมาผสมกับคอนกรีต เพื่อลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้ผนังพรีคาสท์ การใช้โซลาร์เซลล์ รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไม่ใช่การลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีการลดต้นทุน เพื่อให้ได้มาซึ่งการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ต้องมีการสื่อสารขององค์กรไปในทางเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการลดคาร์บอนเท่าใด เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนกระบวนการลดต้นทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมองผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้

        ขณะที่นายวิชาญ  จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี  แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์บนโลกกว่าร้อยละ 80  ทำจากพลาสติกหรือกระดาษ  โดยบริษัทฯ  เริ่มต้นจากการผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ และต่อมาได้มีการเพิ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กระแส ESG เริ่มมากขึ้นทั้งในส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค กฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มข้นขึ้น บริษัทได้ยึดหลัก “ESG 4 Plus: มุ่ง Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ Plus การดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส” โดยให้ความสำคัญ
กับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นพลังงานหมุนเวียน  การใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยใช้เงิน 0.5% ของรายได้จากการขาย ซึ่งผลที่ได้คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและการดำเนินการด้าน ESG ของบริษัท พร้อมทั้งแนะนำผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว ให้เริ่มต้นจาก
สิ่งเล็ก ๆ ก่อน  เช่น  การแยกขยะหรือการประหยัดพลังงาน หรือหากต้องการลงทุนในเทคโนโลยีที่สูงขึ้นแล้วลงทุนเพียงบริษัทเดียวไม่คุ้มค่า สามารถแชร์การลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ได้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านและไปต่อได้

        ทีทีบี พร้อมเป็นพันธมิตรเคียงข้างลูกค้าธุรกิจ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Transition) ตามกรอบการดำเนินงานในการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด B+ESG  เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจและสังคมสามารถดำเนิน  “ชีวิต” และ “ธุรกิจ”  ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน