สกู๊ปพิเศษ ..!!!(ตอนจบ)เปิดร่างแก้ไขกฎหมายตำรวจ เลือกประธาน ก.ตร.-รื้อกฎแต่งตั้ง หวั่นวืด-แนะดึงปมเลือกประธานฯ ออก

515

           ตอนที่แล้วได้นำเสนอการขอแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 ในประเด็นแก้ไขเพิ่มเต็มหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายในสายงานสืบสวนสอบสวน เกี่ยวกับเนื้อหาที่คณะทำงานระบุถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ด้วยการบรรยายถึงสภาพการทำงานของพนักงานสอบสวนที่มากด้วยอุปสรรค งานล้นมือ ควักเงินส่วนจ่ายเพื่อให้งานราบรื่นแต่เบิกหลวงไม่ได้ แถมถูกผู้บังคับบัญชาใช้เป็นเครื่องสนองผู้มากบารมีที่ผู้บังคับบัญชาเป็นหนี้บุญคุณ ส่งผลให้เกิดอาการเครียด ลาออก ย้ายงาน บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย

         ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการทหารเรืองอำนาจกว่า 8 ปี โดยผู้นำองค์กรยอมให้ปู้ยี้ปู้ยำเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพรรคพวก ส่งผลผู้ปฏิบัติงานทยอยยื่นเออร์ลี่แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงสีกากี  จากสถิติในปี 2563 ยื่นเออร์ลี่ 849 นาย ปี 2563 ยื่น 975 นาย ปี 2565 ยื่น 1,275 นาย ปี 2566 ยื่น 1,407 นาย ปี 2567 ยื่นประมาณ 3,500 นาย จนผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งให้ทบทวน เพราะผู้ยื่นส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่ขาดขวัญกำลังใจอย่างหนัก

      เนื้อหาร่างแก้ไขประเด็นนี้อยู่ที่ มาตรา 9 ระบุว่าให้เพิ่มความต่อไปนี้ในมาตรา 77/1 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา77/1 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในสายงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

    (1) ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากตำรวจยศพันตำรวจเอก(พ.ต.อ.) ซึ่งได้รับอัตราเงินเดือนพ.ต.อ.(พิเศษ) หรือพลตำรวจตรี(พล.ต.ต.)หรือเคยดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน(รองผบก.สส.)มาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี อีกทั้งได้ผ่านการประเมินแล้ว

  (2)รองผบก.สส. ให้แต่งตั้งจากตำรวจยศ พ.ต.อ.หรือ พ.ต.อ.(พิเศษ)และเคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน(ผกก.สส.)มาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี อีกทั้งได้ผ่านการประเมินแล้ว    

(3)ผกก.สส.ให้แต่งตั้งจากตำรวจยศพ.ต.ท.หรือพ.ต.อ.และเคยดำรงตำแหน่งรองผกก.สส.มาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี อีกทั้งได้ผ่านการประเมินแล้ว  

   (4) รองผกก.สส.ให้แต่งตั้งตำรวจยศพ.ต.ท.และเคยดำรงตำแหน่งสว.สส.มาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี อีกทั้งผ่านการประเมินแล้ว (5)สว.สส.ให้แต่งตั้งยศ ร.ต.อ.ขึ้นไป เคยดำรงตำแหน่งรองสว.มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี ในระหว่างเวลาดังกล่าวต้องดำรงตำแหน่งรองสว.สส.มาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี อีกทั้งได้ผ่านการประเมินแล้ว

   (6)รองสว.สส.ให้แต่งตั้ง ยศร.ต.ต.ขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าร.ต.อ. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมาย โดยจะแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานสอบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีและผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ก.ตร.กำหนดด้วยก็ได้  (7)ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ให้แต่งตั้งจากตำรวจชั้นประทวนยศจ่าสิบตำรวจหรือดาบตำรวจและเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานสอบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

   ส่วนมาตรา 10 และมาตรา 11 และมาตรา 13 มีการให้เพิ่มข้อความและปรับแก้ข้อความในหลายมาตราเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพนักงานสอบสวน ที่น่าสนใจมาตรา 12 ให้ยกเลิกความใน(3)ของมาตรา 83 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (3)ระดับรองผู้บังคับการลงมาถึง สารวัตร ให้พิจารณาความรู้ความสามารถในบัญชีรายชื่อตามวรรคสามและได้จัดเรียงตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับของส่วนราชการ ซึ่งประเด็นหากแก้ได้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อตำรวจที่มุ่งมั่นในการทำงาน แต่ไร้เส้น ไร้นายและไร้เงิน ไม่มีโอกาสขยับในตำรวจสูงขึ้น จนเกิดความท้อแท้จากที่เคยเป็นดาวกฤษ์ก็กำลังกลายเป็นดาวเคราะห์ จากเดิมยึดหลักอาวุโสในการแต่งตั้งเพียงร้อยละสามสิบสามเท่านั้น

นอกจากนี้ มีการเสนอ มาตรา4 ให้เพิ่มความเป็นมาตรา 33/1 ให้มีหน่วยงานเรียกว่าสำนักงานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (สนง.ก.พ.ค.ตร.)ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ บริหารงบประมาณ สนับสนุนการปฏิบัติ ตามที่ ก.พ.ค.ตร.มอบหมาย ในมาตรา 5และ6 มีการเสนอปรับแก้เกี่ยวกับคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน(ก.ร.ตร.)ในหลายมาตรา โดยเฉพาะการคัดเลือกก.ร.ตร.ให้นำระบบคัดเลือก ก.พ.ค.ตร.มาใช้โดยอนุโลม

   เมื่อมองโดยภาพรวมของเนื้อหาในการเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติครั้งนี้ หากผ่านรัฐสภาถือว่าเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะปลดแอกการเมืองได้ พนักงานสอบสวนที่มีเส้นทางอันมืดมน จะได้เห็นทางสว่างบ้าง ส่วนการเสนอให้ตั้ง สนง.ก.พ.ค.ตร.เพื่อสนับสนุนงาน ก.พ.ค.ตร.จัดว่าเป็นเรื่องดี เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ก.พ.ค.ตร.จะสร้างผลงานให้ตำรวจเกิดศรัทธาหรือไม่ต้องลุ้นผลชี้ชะตาศึก 2 พล.ต.อ. หากผลออกมาไม่เป็นไปตามที่ตำรวจทั้งประเทศคาดหวังศรัทธาจะหดหายแน่นอน

หากจะชี้แนวโน้มว่ารัฐสภาจะไฟเขียวให้หรือไม่ คงยืนยันเหมือนเดิมว่าประเด็นประธานก.ตร.ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีไม่ปล่อยผ่านแน่นอน และอาจจะถูกตีตกทั้งฉบับ โอกาสที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือแก้วิกฤตพนักงานสอบสวนขาดแคลนจะพลาดหวังไปด้วย

ดังนั้นหากผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)หวังจะแก้วิกฤตพนักงานสอบสวนไม่ต้องรอกฎหมายใดๆ เพียงแค่ช่วยกันหาช่องทางออกคำสั่งพิเศษเพื่อเยียวยาไปก่อนก็ทำได้แล้ว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ากฎ กติกา ของตำรวจมีไว้เพื่อยกเว้นอยู่แล้ว !!!


#ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์