นักธุรกิจร้อง ปปง.ตรวจสอบธนาคารปล่อยกู้ผิดปกติ จนเป็นหนี้ร้อยล้าน

296

“ทนายไพศาล พร้อมด้วย นักธุรกิจพลังงาน” ร้อง ปปง. ตรวจสอบธนาคาร ร่วม บ.เอกชน ปลอมเอกสารกู้เงิน จนเป็นหนี้ร้อยล้าน ทั้งที่ไม่ได้กู้

วันนี้ (26 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ พร้อมด้วย นายวงศ์วริศ ศุภปฐวีพงศ์ นักธุรกิจด้านพลังงาน ผู้เสียหาย เข้ายื่นหนังสือถึง นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ให้ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อแบบผิดปกติของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากพบว่าแค่เปิดบัญชีก็สามารถเป็นหนี้หลายร้อยล้านได้ เพื่อขอตรวจสอบความผิดฐานฟอกเงิน โดยมี นายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ ในฐานะรองโฆษก ปปง. เป็นผู้แทนรับเรื่อง

ทนายไพศาล กล่าวว่า บริษัทผู้เสียหายกับบริษัทเอกชนอีกแห่งได้เปิดบัญชีทำกิจการร่วมค้ากับสถาบันธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อทำกิจการร่วมกัน แต่ต่อมา บริษัทเอกชนแอบไปกู้ธนาคาร และเงินเข้าบัญชีบริษัทเอกชนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้เสียหาย แต่เป็นบริษัทย่อยในธุรกิจที่มีธนาคารดังกล่าวถือหุ้นส่วนอยู่ เข้าตำรา “อัฐยายซื้อขนมยาย” หรือไม่ โดยบริษัทผู้เสียหายไม่ทราบจนเป็นหนี้หลักร้อยล้านบาท ทั้งๆ ที่บริษัทผู้เสียหายไม่ได้ยื่นกู้ และมีการปลอมตราประทับบริษัทผู้เสียหาย รวมทั้งไม่มีลายเซ็นผู้เสียหาย แต่ธนาคารกลับปล่อยกู้อนุมัติสินเชื่อเป็นร้อยล้านบาท หรือสโลแกน ”เปิดบัญชีผิด ชีวิตเปลี่ยน เป็นหนี้ไม่รู้ตัว“

ทนายไพศาล กล่าวอีกว่า ธนาคารดังกล่าวจะให้เพียงไม่กี่บริษัทกู้เงินค่อนข้างง่ายแต่กลับเป็นประชาชนทั่วไปเมื่อยื่นขอกู้ธนาคารแสนลำบาก อ้างคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์จึงต้องไปพึ่งพวกแก๊งหมวกกันน็อคจนมีปัญหาสังคมตามมามากมาย โดยผู้เสียหายเป็นถึงนักธุรกิจยังถูกหลอกทำให้ติดเครดิตบูโร เสียโปรไฟล์ในการยื่นสัมปทานต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ถูกธนาคารดังกล่าวกระทำ มูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท แต่ไม่มีใครกล้าออกมานำเสนอฝากถึง รมว.คลัง , ธนาคารแห่งประเทศ และ นายกฯ ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาล 4-5 คดี

ด้าน นายวงศ์วริศ เผยว่า บริษัทตนและบริษัทเอกชนเปิดบัญชีทำกิจการร่วมค้า วงเงินเข้าบัญชี 300 ล้านบาท และหมดสัญญาปลายปี 61 จากนั้นปี 63 บริษัทมายื่นกู้เงินกับธนาคารอกสถาบันเพื่อประมูลงาน พบว่ามีหนี้อยู่ก้อนหนึ่ง จึงสอบถามกลับธนาคารเดิมจึงทราบว่า เมื่อช่วงปี 62 บริษัทคู่สัญญามาแอบกู้เงินในนามบริษัทร่วมกัน มีการปลอมแปลงเอกสารบริษัท และไม่มีใบมอบอำนาจแต่อย่างใด มีเพียงใบบันทึกข้อตกลงร่วมกู้เท่านั้น และบริษัทตนกับบริษัทเอกชนดังกล่าวร่วมโครงการกันเพียงโครงการเดียว จึงทำให้เกิดหนี้และสูญเสียโอกาสในการยื่นสัมปทานต่างๆ ซึ่งบริษัทเอกชนยังท้าทายให้ไปฟ้องเอาด้วย

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวอาชญากรรมวันนี้