ที่รัฐสภา วันที่ 25 ก.ค. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ตอบกระทู้ถามสดของนายปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ประเด็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่กังวลว่าอาจเกิดน้ำท่วมว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมในปัจจุบัน ปริมาณน้ำฝนวันนี้มีค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 9% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 710 มิลลิเมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาตรความจุรวม 76,337,000,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งขณะมีน้ำอยู่ประมาณ 39,279,000,000 ลบ.ม. คิดเป็น 51% เครื่องมือของรัฐบาลยังสามารถรับน้ำได้อีกถึง 37,058,000,000 ลบ.ม. หรือเกือบ 50% โดยมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ 10 มาตรการที่ทำงานผ่านคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในรูปแบบที่ไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในการจัดสรรทรัพยากร ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ รถขุดหรือรถแทร็กเตอร์ ซึ่งทางกรมชลประทานมีเครื่องมือทั่วประเทศอยู่ที่ 5,382 หน่วย แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 1,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 เครื่อง และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ อีก 2,476 เครื่อง จึงเชื่อว่าเรามีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ
รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ในส่วนภาคเหนือตอนบน มีเขื่อนที่สำคัญอยู่ 4 เขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแคน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้ทั้ง 4 เขื่อนมีความจุอยู่ที่ประมาณ 39% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่นิดหน่อย ดังนั้นเราจะใช้หลักในการบริหารจัดการน้ำที่เรียกว่า Rule Curve คือในหน้าแล้ง เราต้องเก็บกักน้ำไม่ให้ต่ำกว่าเส้นที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ขณะที่หน้าฝนเราบริหารอย่าง Upper Rule Curve คือต้องบริหารจัดการน้ำไม่ให้สูงกว่าเส้นที่ได้กำหนดเอาไว้
นายอรรถกร กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่าง ภายใต้การกำกับดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส ได้มีการประสานงานเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่มาโดยตลอด เพราะการบริหารจัดการน้ำต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร เราทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยอนาคตอันใกล้นี้กรมชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น
รมช.เกษตรฯ กล่าวถึงภาคอีสานที่ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ไหลมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำ M7 จังหวัดอุบลราชธานี ว่า กรมชลประทานมีนโยบายและมาตรการ จะทำการยกประตู เพื่อเร่งระบายน้ำไปเรื่อย ๆ ป้องกันไม่ให้วันที่น้ำฝนมามากแล้วจะต้องทำการเร่งระบายน้ำจนเกินกำลัง กรมชลประทานทำงานร่วมกับการประปา การไฟฟ้า ในการจัดการน้ำในพื้น โดยสื่อสารว่าโยบายปล่อยน้ำของกรมกลชลฯ จะทำในระยะไหน ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะเร่งด่วน จากการตรวจสอบพบว่าการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเป็นไปอย่างดี เชื่อว่าผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและเกษตรกร จะลดลงกว่าปีก่อนมาก
นายอรรถกร กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า มีโครงการต่างๆ ที่กรมชลประทานพยายามจะเร่งรัดให้สำเร็จ และมีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ที่ออกแบบเสร็จแล้ว เหลือรองบประมาณ ได้งบเมื่อไหร่ก็จะทำการก่อสร้างทันที เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีแน่นอน
“ผมไม่ได้อยู่บนบัลลังก์นี้ตลอด เวลาปกติผมก็ลงไปทำหน้าที่ข้างล่างในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งดังนั้น ผมเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน หรือแม้แต่หน่วยงานอื่นๆอีก 21 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เรายินดีที่จะรับฟังความเห็นและข้อแนะนำจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทุกๆจังหวัดอยู่แล้ว และพร้อมจะทำงานร่วมกับทุกท่านที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่” รมช.เกษตรฯ กล่าว