“วราวุธ”เสริมศักยภาพ เครือข่ายประชาสัมพันธ์กระทรวง พม. ยกระดับ แก้ไขปัญหาสังคม-พัฒนาคุณภาพชีวิต

344

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุคดิจิทัล เพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.)” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ในยุคดิจิทัลของโฆษกสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1 – 11 และโฆษกสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ด้วยการสื่อสารประชาสัมพันธ์สถานการณ์ทางสังคมเชิงรุก และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดีของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ในการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย โฆษกสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1 – 11 โฆษกสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชนและศูนย์ช่วยเหลือสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 123 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ของโฆษกสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1 – 11 และโฆษกสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์ภายในกระทรวง พม. ที่สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ขาดโอกาส เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคมด้วยการสื่อสารประชาสัมพันธ์สถานการณ์ทางสังคมเชิงรุก และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดีของศูนย์ ศรส. ซึ่งเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศในการเร่งรัดและช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยเฉพาะประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน กระทรวง พม. ต้องทำงานหนักขึ้น เนื่องจากพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายประสบปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ มากขึ้นและรุนแรงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่รวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง อันเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากในการควบคุม และส่งผลกระทบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งอากาศร้อน พายุ น้ำท่วม และภัยแล้ง รวมถึงการขาดแคลนอาหาร ความยากจน และการอพยพย้ายถิ่น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เห็นได้จาก ขณะนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรน้อยกว่าอัตราการตายต่อเนื่อง ประชากรผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย และประชากรวัยแรงงานมีจำนวนลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการใช้แรงงานสูง เพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น กระทรวง พม. จึงได้พยายามขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะทำให้
พี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายประสบปัญหาความเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ x 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มคุณภาพเด็ก เร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตและความรู้วิชาชีพตามวัย ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญชีวิต นำมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสและคุณค่าให้คนพิการ ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม ทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างและดูแลครอบครัวให้มั่นคงรวมถึงพลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ
ให้อุดมสมบูรณ์

นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ให้เป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาทางสังคมและความเดือดร้อนต่างๆ จากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยเป็นหน่วยงานกลางในการกำกับ ควบคุม ส่งต่อ และติดตามการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ ภายใต้การดำเนินงานของนโยบาย “พม. หนึ่งเดียว” และหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วของทีมสหวิชาชีพ ซึ่งประชาชนผู้ประสบปัญหาสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือมายัง ศรส. ผ่าน ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งช่องทางต่างๆ และการติดต่อด้วยตัวเอง

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของ ศรส. ในไตรมาส 2 ของปี 2567 คือ ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2567 พบว่ามีประชาชนร้องเรียนผ่านทุกช่องทางของ ศรส. รวมทั้งสิ้น 47,110 กรณี ซึ่งแต่ละช่องทางที่มีการร้องเรียนเข้ามาผ่านทางสายด่วน พม. 1300 มากที่สุด 42,930 กรณี สำหรับพื้นที่ที่ให้บริการมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 28,849 กรณี โดยปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหารายได้ความเป็นอยู่ ตามมาด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากนี้ สถิติความรุนแรงในสังคม พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นถึงร้อยละ 69 ในขณะที่ ร้อยละ 31 เป็นความรุนแรงภายนอกครอบครัว โดยความรุนแรงจะเกิดกับเด็กและเยาวชนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มีพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาทางสังคมและความเดือดร้อนต่างๆ จำนวนมาก เข้ามาติดต่อขอความช่วยเหลือจาก ศรส. ซึ่งเราต้องช่วยกัน ในฐานะเครือข่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวง พม. นับเป็นส่วนหนึ่งของทีม ศรส. ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้ ศรส. เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครือข่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวง พม. ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มาดำเนินงานและต่อยอดในงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจ ศรส. ให้เป็นที่รู้จักของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับพื้นที่จังหวัด และกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ นำมาซึ่งการยกระดับในการแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา