หน้าแรกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประเทศอาเซียนถกต้านค้าสัตว์ป่า-พืชป่า ที่ศรีราชา

ประเทศอาเซียนถกต้านค้าสัตว์ป่า-พืชป่า ที่ศรีราชา

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ฯ ครั้งที่ 19 แบ่งปันประสบการณ์ต่อต้านค้าสัตว์ป่า-พืชป่า ที่ศรีราชา

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า ครั้งที่ 19 (19th AWG – CITES AND WE) โดยมีผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และติมอร์ – เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน และหน่วยงานพันธมิตร 18 หน่วยงาน รวม 90 คนเข้าร่วม ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีซัง จังหวัดชลบุรี 

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2567 เป็นการรับทราบข้อมูลจากประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการอนุวัติอนุสัญญาไซเตส และการแบ่งปันประสบการณ์ในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีการใช้ประโยชน์และอยู่ในบัญชีไซเตส โดยที่ประชุมมีการรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานของคณะทำงาน AWG-CITES and WE หลังการประชุมครั้งที่ 18 โดยประเทศสิงคโปร์ การรายงานความก้าวหน้าการประชุมและประเด็นต่างๆ ของคณะกรรมการ CITES  การนำเสนอความก้าวหน้าเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพืชป่าของแต่ละประเทศ  การรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายด้านสัตว์ป่าและพืชป่า โดยสำนักเลขาธิการอาเซียน และการนำเสนอข้อมูลโดยสำนักเลขาธิการ CITES เรื่องการอนุวัติตามอนุสัญญาและข้อเสนอแนะสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค เป็นต้น

นอกจากนี้เนื่องจากแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านอนุสัญญาไซเตสและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า ปี ค.ศ. 2021 – 2025 กำลังจะสิ้นสุดลง จึงมีความจำเป็นในการวางแนวทางการทำงานในอนาคตร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมจะได้ร่วมกันพิจารณาพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ ปี ค.ศ. 2026 – 2030 เพื่อให้เป้าหมายในการค้าสัตว์ป่าที่ถูกกฎหมายอย่างยั่งยืน และต่อต้านกับอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าการทำงานตามอนุสัญญาไซเตสและต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า โดยเมื่อปี 2566 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นดีพี (UNDP) และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยศูนย์ฯดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลและช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเมื่อปลายปี 2566 ประเทศไทยได้ส่งลิงอรังอุตัง จำนวน 3 ตัว คืนให้แก่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และต่อจากนี้จะมีการส่งเต่าลายรัศมีและลีเมอร์ ซึ่งเป็นชนิดสัตว์ป่าในบัญชีไซเตสหมายเลข 1 ที่ถูกตรวจยึดไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา กลับไปยังสาธารณรัฐมาดากัสการ์ด้วย โดยการดำเนินการดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าร่วมกัน ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 20 โดยประเทศเวียดนาม จะเป็นผู้จัดการประชุมในครั้งต่อไป

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #19thAWG-CITESandWE #กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช #อาเซียน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img