ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน 703 รายการ 33 รายคดี
มูลค่าทรัพย์สินกว่า 1,150 ล้านบาทและมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 33 รายคดี
วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ได้รับมอบหมายจากนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) ให้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 โดยคณะกรรมการธุรกรรม ได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้
1.ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 13รายคดี ทรัพย์สิน 402 รายการพร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 164ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้(1.1 )รายคดี นายเจริญฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด กรณีสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรท่าธง จังหวัดยะลา จับกุมผู้ต้องหา พร้อมของกลางยาบ้ากว่า 30,000 เม็ด จากการสืบสวนขยายผลพบว่ามีขบวนการกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดขนาดใหญ่ มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างมีระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การนำยาบ้ามาบรรจุหีบห่อและซุกซ่อนในกล่องพัสดุ และใช้บริการจัดส่งยาบ้าผ่านบริษัทขนส่งของเอกชน มีนายเจริญฯ เป็นหัวหน้าผู้สั่งการ มีผู้สนับสนุนเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับโอนเงินค่ายาเสพติด จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า มีการโอนเงินต่อไปยังบัญชีธนาคารต่าง ๆ ของกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 9 รายการ (ที่ดินและบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท (คำสั่งย.115/2567)(1.2 )รายคดี นายแก้วฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีนายแก้วฯ กับพวก หลอกลวงทางโทรศัพท์โดยแอบอ้างว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถช่วยเหลือวิ่งเต้นในการประกอบกิจการ หรือหลอกลวงว่าเป็นพนักงานอัยการสามารถช่วยเหลือในคดีความ หรืออ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. โดยสุ่มโทรศัพท์ไปยังผู้บริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศ อ้างว่ามีคดีหรือมีเรื่อง ที่ถูกตรวจสอบ และตนสามารถให้ความช่วยเหลือทางคดีได้ จนทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ต้องหา ตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายพื้นที่ กรณีเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวกับการฉ้อโกงหลายครั้ง รวมค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 5 ล้านบาทและจากการตรวจสอบพบบัญชีผู้กระทำความผิดพบว่ามีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 ล้านบาท พบรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย มีรายการเดินบัญชีที่มีปริมาณความถี่ในการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีไม่สอดคล้องกับอาชีพ รายได้ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรม มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 38 รายการ(บัญชี เงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท (คำสั่ง ย.111/2567)(1.3)รายคดี นางรัตนาภรณ์ฯ กับพวก เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีนางรัตนาภรณ์ฯ พนักงานราชการ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ มีหน้าที่รับผิดชอบคุมเงินงบประมาณฝ่ายคลัง เงินยืม ควบคุมและเบิกจ่ายวัสดุคงคลังเบิกจ่ายเงินสด จัดทำเอกสารเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา รวมทั้งดูแลระบบบริหารจัดการครุภัณฑ์ (AMS) จัดซื้อ/จัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์และงานจ้างเหมาบริการ ควบคุมและเบิกจ่ายวัสดุคงคลัง กระทำการทุจริต โดยจากการตรวจสอบของหน่วยงานต้นสังกัด พบว่ามีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ทุจริต มิได้มีการจัดทำเอกสารจัดซื้อพัสดุ มิได้มีการส่งมอบพัสดุให้กับราชการ แต่มีการปลอมลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 77 รายการ (เช่น เงินสด สินค้าแบรนด์เนม พระเครื่อง ยานพาหนะ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 30ล้านบาท (คำสั่ง ย.112/2567) (1.4 )รายคดี กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ www.huaysodplus.com โดยจากการสืบสวนพบว่า มีการชักชวนให้บุคคลทั่วไปเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว โดยการสมัครเป็นสมาชิกในระบบและให้โอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อเติมเงินเป็นเครดิต และจากการตรวจสอบพบข้อมูลการโอนและรับโอนเงิน จากบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว จำนวน289 รายการ มูลค่าประมาณ 197 ล้านบาท (ตามคำสั่งที่ ย.205/2566) ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 32 รายการ (เช่น หุ้น ที่ดิน เงินสด และสินค้าแบรนด์แนม) มูลค่าประมาณ 96 ล้านบาท (คำสั่ง ย.117/2567) ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th)ในหัวข้อการตรวจสอบข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สิน
2.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 11 รายคดี ทรัพย์สิน 65 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 360 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้
(2.1 )รายคดี MR. WONG WEI JUN DESMOND กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนัน ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีการหลอกผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทร้พย์ดิจิทัล และการหลอกลวงผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ (Hybrid Scam) โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 3 รายการ (เงินสด และรถยนต์) มูลค่าประมาณ 119 ล้านบาท (ย.93/2567)
(2.2 )รายคดี นายณัฐวัตรฯ กับพวกซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (เพิ่มเติม) จำนวน 3 รายการ (ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร)มูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท (ย.80/2567) โดยมีทรัพย์สินส่วนที่ดำเนินการยึดและอายัดไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งเพื่อมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.51/2567 (ย.2/2567) มูลค่าประมาณ 41 ล้านบาท รวมทรัพย์สินที่ดำเนินการในกรณีนี้กว่า 109 ล้านบาท
(2.3) รายคดีนางธันยรัตน์ฯ กับพวกซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งไม่มีอยู่จริง อ้างว่าสามารถให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูง และหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนมากขึ้นๆ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 3 รายการ (ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 9ล้านบาท (ย.86/2567) ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดี ที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวน ความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th)
3.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 9 รายคดี ทรัพย์สิน 236รายการพร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 626 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้
(3.1)รายคดี นายฉี ซู (MR.QU XI หรือ MR.XU QI) กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานฟอกเงิน กรณีกลุ่มจีนเทาร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนและโอนเงินไปลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านแอปพลิเคชั่นปลอมชื่อ “Cboe Global Markets” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีและตรวจค้นหลายเป้าหมาย พบทรัพย์สินของเครือข่ายขบวนการกระทำความผิดจำนวนมาก ในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) โดยรวมผู้เสียหายที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ 36 ราย มูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการกว่า 596 ล้านบาท (คดีหมายเลขดำที่ ฟ 42/2567)
(3.2) รายคดี นางกาญจนาฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีพนักงานฝ่ายบัญชีลักทรัพย์ของบริษัท โดยกระทำการโอนเงินของบริษัทไปหลายครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท ในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย 2 ราย) มูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการกว่า 17 ล้านบาท (คดีหมายเลขดำที่ ฟ 24/2567)
อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย