“Bangkok – City of Life” กทม. แปลงโฉมคานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวันดีไซน์ใหม่ ผ่านดีไซน์อัตลักษณ์ กทม. ที่สะท้อนถึงความสุขของผู้คน
วันที่ 29 พ.ค.67 ที่ สี่แยกปทุมวัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กในกิจกรรมวิ่งออกกำลังยามเช้าตามที่ได้ทำเป็นประจำในทุก ๆ วัน โดยเช้าวันนี้ (29 พ.ค. 67) ได้วิ่งผ่านสวนลุมพินี และใช้ทางเท้าถนนราชดำริ ซึ่งเป็นทางเท้าที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ มีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น มีความเป็น Universal Design มากขึ้น และมีไฟฟ้าแสงสว่างตลอดแนว โดยผู้ว่าฯชัชชาติ ได้วิ่งผ่านถนนพระราม 1 เพื่อไปยังบริเวณ Sky Walk แยกปทุมวัน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการติดสติกเกอร์ใหม่บริเวณคานรางรถไฟฟ้าเพื่อแทนที่สติกเกอร์เดิมที่มีสภาพซีดจางไปตามกาลเวลา
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ข้อความเก่าที่เห็นไม่ใช่การทาสีแต่เป็นสติกเกอร์ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ติดมานานทำให้ลอกได้ไม่หมด จึงใช้วิธีทำความสะอาดและติดสติกเกอร์ใหม่ทับลงไป ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีผลกับชีวิต แต่ก็เป็นรายละเอียดของเมือง ดังนั้น หากใครว่างหรือผ่านไปสามารถไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ได้
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดสติกเกอร์ใหม่จุดแรกที่คานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน โดยดำเนินการติดในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ซึ่งติดเสร็จแล้ว 1 ฝั่ง ส่วนอีกฝั่งจะติดในค่ำคืนนี้
สำหรับสติกเกอร์ใหม่ที่นำมาติดจะมีข้อความและดีไซน์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยกราฟิกอัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร โดยนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัด (crop) ภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรองซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
ขณะที่ เพจ รถไฟฟ้าบีทีเอส โพสต์ข้อความและภาพระบุว่า “Bangkok – City of Life” กทม. แปลงโฉมคานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวันดีไซน์ใหม่ ที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร “สีเขียวมรกต” มีข้อความ “กรุงเทพฯ ∙ Bangkok” พิมพ์ด้วยฟอนต์ “เสาชิงช้า (Sao Chingcha)” ซึ่งเป็นสไตล์การเขียนตัวอักษรด้วยปากกาหัวตัด อันเป็นเอกลักษณ์ของกรมพระยานริศฯ พร้อมด้วยลวดลายซึ่งตัดทอนมาจาก “วัชระ” อาวุธคู่กายของพระอินทร์
โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรองซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คน และการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร
ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพมหานครครับ ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวสยาม อย่าลืมไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันนะครับ
ไปด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ง่าย ๆ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 3 สถานีสยาม ทางออก 1