อนุกมธ.ปฏิรูปตำรวจ เตรียมเสนอแก้กม.ให้อัยการถ่วงดุลตำรวจขอหมายจับ

654

อนุ กมธ.ศึกษาการปฏิรูปตำรวจ เล็งแก้ ป.วิอาญา ให้อัยการออกความเห็นร่วมก่อนศาลออกหมาย ตั้งใจปฏิรูปกระบวนการสอบสวนให้โปร่งใสตั้งแต่ต้นน้ำ

ที่รัฐสภา วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ เขต 23 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูประบบราชการตำรวจ ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมอนุฯ เพื่อพิจารณา 2 วาระสำคัญในวันนี้ว่า วาระแรกคือการพิจารณาสภาพปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย กมธ. เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี และผู้กำกับการ สภ.เมืองพัทลุง ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนและหัวหน้าสถานีตำรวจ

ปิยรัฐกล่าวว่า เหตุผลที่เชิญ สภ. เนื่องจากใน กมธ. มีตำรวจที่เติบโตมาจากตำรวจนครบาลอยู่มาก จึงต้องการรับฟังความเห็นจากตำรวจฝั่ง สภ. ให้เกิดความรอบด้าน เพราะงานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำซึ่งคือตำรวจ หากการสอบสวนมิชอบตั้งแต่ต้น อาจทำให้คนที่ทำถูกต้องกลายเป็นคนผิดหรือเกิด ‘คดีแพะ’ จำนวนมาก จึงต้องการให้กระบวนการต้นน้ำตรวจสอบได้อย่างที่ควรเป็น

ในอดีตการเลื่อนชั้นยศของพนักงานสอบสวนจะเกิดขึ้นในสายของพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่สามารถโยกย้ายข้ามสายได้ แต่ปัจจุบันทำได้ ส่งผลให้ตำรวจหลายคน ต้องการย้ายตำแหน่งมาเพื่อรอเติบโต ไม่ได้มาเพื่องานสอบสวนจริงๆ จึงเกิดปัญหาตามมา โดยผู้กำกับ สภ.ตระการพืชผล เล่าว่าเคยมีคดีสำคัญคือการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้วิกลจริต จากกรณีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ภายหลังมีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นบุคคลวิกลจริต ซึ่งความเป็นจริงต้องมีบทละเว้นโทษหรือต้องไม่สั่งฟ้องตั้งแต่ต้นเพื่อให้บุคคลเข้ารับการรักษาตามกฎหมาย แต่ตำรวจกลับสั่งฟ้องและจับกุม

ที่ประชุมอนุฯ จึงตั้งคำถามว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวนได้มีการสืบหาข้อเท็จจริงเพียงพอหรือไม่ ว่าผู้ต้องหามีอาการวิกลจริต มีประวัติในการรักษา ท้ายที่สุด กระบวนการสอบสวนก็มีปัญหาภายในตัวเองหรือไม่ เนื่องจากบางครั้งเมื่อมีคดีสำคัญเช่นนี้ ก็กลายเป็นเผือกร้อน เกิดการเร่งรัดเร่งรีบในการสั่งฟ้อง กลายเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในขณะที่ถูกคุมขัง นี่เป็นเรื่องที่เราพยายามหาทางออก 

ปิยรัฐกล่าวว่า วาระที่ 2 มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อตรวจสอบและร่างกฎหมาย ให้ทันสมัย อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยข้อที่อนุ กมธ. เสนอให้แก้ไขปรับปรุงคือมาตรา 57 เดิมตำรวจหรือพนักงานสอบสวนสามารถขอออกหมายจับหรือหมายเรียกได้ ส่วนศาลก็ใช้ความเชื่อมั่นในกระบวนการของตำรวจ อนุญาตออกหมายตามที่ตำรวจขอ อาจไม่ได้ใช้เวลามากนักในการตรวจสอบพยานหลักฐานที่ตำรวจทำไป ทั้งที่ควรให้อัยการกลั่นกรองเสียก่อน

ในร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาที่ กมธ. เสนอแก้ไข ได้เพิ่มข้อความว่า คดีอุกฉกรรจ์ ฆาตกรรม หรือคดีที่มีความสำคัญ ก่อนดำเนินการขอหมาย ต้องให้อัยการมีความเห็นด้วย ไม่ใช่ให้เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจดุลพินิจเท่านั้น เหมือนเป็นการตรวจสอบกันและกัน ป้องกันบางครั้งอาจเกิดการกลั่นแกล้ง อัยการจะสามารถแย้งได้

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พรรคก้าวไกล #ปิยรัฐจงเทพ #อนุกมธ.ศึกษาการปฏิรูปตำรวจ #กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ #แก้ไขป.วิอาญา