ครั้งที่แล้วเขียนถึงคณะอดีตตำรวจ นักวิชาการและตัวแทนไอลอว์ ผนึกกำลังประกาศเดินหน้าปฏิรูปตำรวจภายใต้หัวข้อ”ปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชน” ซึ่ง”ประดู่แดง”บอกให้เลิกคิดเพราะเสียเวลา เปลืองงบประมาณ และไม่สำเร็จ หากล่ารายชื่อยื่นให้สภาผู้แทนราษฎร ผลักดันให้แก้ไขกฎหมายตำรวจหรือปฏิรูปโครงสร้างให้ตำรวจเป็นอิสระปราศจากฝ่ายการเมืองครอบงำ ยิ่งทำให้เสียเวลาของสภาฯเปล่าๆ แถมผู้ทำหน้าที่ล่ารายชื่อแล้วนำรายชื่อไปเสนอก็เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นเช่นกัน
ที่กล้าฟันธงแบบนี้เพราะจากประสบการณ์ที่คลุกคลีในสนามข่าวสำนักปทุมวัน ผ่านการทำข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจมาหลายครั้งพบว่า ผลการปฏิรูปที่สำเร็จมีน้อยมาก ยิ่งถ้ามีเนื้อหาให้ปลอดการเมืองครอบงำจะถูกรัฐบาลเก็บซุกทันทีทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากรัฐประหารหรือเลือกตั้ง จะใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการแทบทุกด้าน เพราะตำรวจคือผู้บังคับใช้กฎหมาย ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะไร้ซึ่งศักยภาพที่จะจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือจัดการกับฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งคำกล่าวที่ว่า”ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง” ของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ น่าจะอธิบายความได้ดีที่สุด แต่ในระยะหลังเกือบทุกรัฐบาลนิยมใช้เพียงคำว่า”ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” เพราะผู้นำรัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล ต่างใช้ตำรวจเป็นเครื่องเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามในหลากหลายรูปแบบทั้งถูกกฎหมายและใต้ดิน
ยุคหนึ่งรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งพอบริหารประเทศได้สักระยะ ผู้นำรัฐบาลอยากจะดึงกลุ่มธุรกิจทั้งหลายมาอยู่ในสังกัด เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการหรือต่อรองผลประโยชน์ ปรากฏว่ามีบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งไม่ยอมซูฮก เพราะมั่นใจว่ามีแบ๊กดี เมื่อแข็งข้อตำรวจสืบสวนคดีเศรษฐกิจถูกสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบภาษีย้อนหลังนั้นทันที เพราะในทางธุรกิจเป็นที่ทราบกันดีว่าเกือบทุกบริษัทในประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ล้วนแต่ตกแต่งตัวเลขทางบัญชีเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยที่สุด จุดอ่อนลักษณะนี้เป็นทราบกันดีในกลุ่มนักธุรกิจหรือนักธุรกิจที่ผันตัวเองมาเล่นการเมือง
ผลการตรวจสอบภาษีออกมาอย่างไรไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว แต่ผลลัพธ์คือบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องยอมศิโรราบ หรือในช่วงรัฐบาลใกล้หมดวาระและเตรียมเลือกตั้งใหม่ โผแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเกือบทุกระดับโดยเฉพาะระดับผู้บัญชาการ(ผบช.) ผู้บังคับการที่คุมพื้นที่ รวมถึงหัวหน้าโรงพัก จะถูกนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ สส.พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้กำหนดแทบทั้งสิ้น เพราะตำรวจคือเครื่องมือสำคัญชี้เป็นชี้ตายให้กับหัวคะแนนและตัวผู้สมัครได้ เช่น บางพื้นที่ตำรวจจะไฟเขียวให้หัวคะแนนของ สส.ซีกรัฐบาลเดินสายซื้อเสียงได้ แต่จะคุมเข้มกับผู้สมัครและหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม
ขณะที่รัฐบาลมาจากเผด็จการทหาร ต่างพึ่งพาบริการตำรวจไม่ด้อยกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง โดยเฉพาะสั่งให้เกาะติดบรรดากลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร แบบเข้าถึงตัวเข้าถึงครอบครัวเลยทีเดียว แถมรัฐบาลเผด็จการบางยุคปล่อยให้ตำรวจบางนายมีอำนาจเหนือ ผบ.ตร. จัดทำโผแต่งตั้งโยกย้ายได้ทุกระดับ สร้างความร่ำรวยให้กับบิ๊กรัฐบาลและนายตำรวจคนดังกล่าว จนมีเสียงนินทาว่าพรรคการเมืองบางพรรค ขับเคลื่อนงานได้เพราะเซ็งลี้เก้าอี้ให้กับตำรวจ
หรือกรณีรับตัวนักโทษชาย(น.ช.)ทักษิณ ชินวัตร มารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทางผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจถึงขั้นยอมให้ชื่อเสียงของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจถูกดูแคลน ทั้งที่ชื่อเสียงในการวินิจฉัยโรครอยู่ในระดับท็อปไฟว์ของประเทศ เพราะไม่สามารถที่จะหาสาเหตุการป่วยที่แท้จริงของ นายทักษิณ ได้ในระยะเวลาที่ควรจะเป็น
นี่คือตัวอย่างเพียงหนึ่งในพันตัวอย่าง ที่ยกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมทุกรัฐบาลไม่ยอมปล่อยให้องค์กรตำรวจบริหารงานอย่างอิสระ ดังนั้นคณะที่กำลังขับเคลื่อนจะปฏิรูปตำรวจควรยุติบทบาท แล้วหันมาใช้กำลังที่เหลืออยู่ขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มพนักงานสอบสวนที่กำลังขาดแคลนอย่างนัก รวมถึงกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ที่ร่วมอยู่ในคณะด้วย โชว์จุดยืนเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายในทุกระดับว่าจะยืนหยัดปกป้องดูแลกฎหมายหรือกฎกติกาให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ตำรวจทุกนายได้รับความเป็นธรรมน่าจะดีกว่าและง่ายกว่าที่จะคิดปฏิรูปตำรวจ
ถึงอย่างไรการปฏิรูปตำรวจให้เป็นอิสระ ปลอดการเมือง ของฟันธงว่าทำได้ยาก แม้จะเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลใช่ว่าจะสำเร็จ เพราะถ้าถึงเวลานั่งบนบัลลังก์อำนาจจริง อาจจะหลงลืมนโยบายที่ประกาศไว้ก็เป็นได้ เพราะอำนาจมักจะทำให้คนหูหนวก ตาบอด มานักต่อนักแล้ว !!!