นางพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ทายาททางการเมืองของนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสข้อความเฟสบุ๊คกล่าวถึง 8 ประเด็นการเมืองที่น่าจับตามองในปี 2561 ในชื่อเรื่อง ‘ก้าวสู่ปีใหม่ 2561กับ 8 เรื่องที่น่าจับตามอง เพราะการเมืองล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว’
นางพิมพ์รพี โพสต์ข้อความเฟสบุ๊คได้ใจความว่าดังนี้
เรื่องที่ 1
ปี 2561 ถือเป็นปีสุดท้ายของทั้งคสช.และสนช.ตามโร๊ดแมพที่กำหนดว่าจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงต้องจับตาว่าจะใช่ปีสุดท้ายจริงหรือไม่ หรือจะเกิดอุบัติเหตุอะไรที่ทำให้โร๊ดแมพถูกขยายเวลาออกไปหรือเปล่า โดยประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตกันไว้คือ เรื่องของการคว่ำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. รวมไปถึงคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง คำนวณเวลาที่ให้เริ่มทำกิจกรรมตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ภายใน 180 วัน โดยสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2561 ว่า จะทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ทันในเดือนพฤศจิกายนที่กำหนดไว้ เพราะก่อนการเลือกตั้งต้องทำกิจกรรมหาเสียง ทำไพรมารีโหวต ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 45-60 วัน นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังเปิดช่องให้คสช.หารือกับ กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสนช. และผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจกลายเป็นช่องทางที่ทำให้มีการใช้คะแนนเสียงของพรรคการเมืองขนาดเล็กลงมติให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ทัน
เรื่องที่ 2
ปี 2561 จะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดมากน้อยเพียงไร พรรคที่เกิดใหม่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะเปิดตัวชัดเจนขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งการดึงสมาชิก และอดีตส.ส. รวมถึงจะเห็นภาพการบริหารของแต่ละพรรคการเมืองชัดเจนขึ้น เนื่องจากหลังการปลดล็อคการเมืองให้พรรคการเมืองประชุมได้ ทุกพรรคต้องเลือกผู้บริหารพรรคใหม่
เรื่องที่ 3
ปี 2561 ที่รัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจดีขึ้นนั้น เป็นไปในลักษณะตัวเลขโตแต่ประชาชนตาย เพราะปัญหาปากท้องของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของคนไทยจะหนักมากขึ้นทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ และความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐจากนโยบายเศรษฐกิจหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีที่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 มายกเว้นกฎหมายปกติ เช่น เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เรื่องที่ 4
อำนาจเบ็ดเสร็จจากการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ถูกใช้จนกลายเป็นยาสามัญประจำบ้าน จะทำให้เกิดความขัดแย้งแบบใหม่ จนมาตรา 44 กลายเป็นยาที่ไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่ผู้ใช้อำนาจจะถูกสังคมตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจพิเศษมากขึ้น และจะเริ่มมีการตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 มากขึ้น เช่น การมีแนวคิดจากสองพรรคการเมืองคือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง ที่มีผลให้รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองโดยอ้อม เป็นต้น
เรื่องที่5
จะมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสนช. ซึ่งหลักการดีแต่เนื้อหากระทบประชาชน เช่น กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทบเอสเอ็ม อี และประชาชนผู้ประกอบการค้าหรืออาชีพอิสระในย่านใจกลางเมือง ที่จะมีภาระด้านภาษีเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาจัดโครงสร้างภาษีแหล่งน้ำสาธารณะแบบใหม่ ซึ่งถูกเรียกว่ากฎหมายเก็บภาษีน้ำ จะมีผลกระทบอย่างไรกับการนำน้ำสาธารณะไปทำการเกษตร รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่รัฐบาลกำลังจะผลักดันออกมา ซึ่งเครือข่ายประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม รวมตัวคัดค้าน เนื่องจากจะกระทบในเรื่องของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีไอเอ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้่อมและสุขภาพ อีเอชไอเอ ที่รัฐบาลมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
ตัวอย่างจากร่างกฎหมายทั้งสามฉบับเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างภาครัฐและประชาชนที่รุนแรงมากขึ้นในปีนี้
เรื่องที่ 6
การบริหารจัดการเรื่องแรงงานต่างด้าวที่มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งผ่อนปรนการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งมีเนื้อหาในเรื่องบทลงโทษที่รุนแรงหากไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน คือมีโทษปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 8 แสนบาท ทำให้แรงงานต่างด้าวอพยพกลับประเทศตนเองจำนวนมาก จนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน กระทั่งต้องออกคำสั่งคสช.มาชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องดูว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ และรัฐบาลมีมาตรการรองรับอย่างไร
เรื่องที่ 7
การทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ โดยเฉพาะประเด็นแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจทางการเมืองของตัวประธาน ป.ป.ช.เอง ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยจนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตัวองค์กรอย่างไรหรือไม่ รวมไปถึงว่าที่กกต.ชุดใหม่ที่ถูกวิจารณ์เรื่องที่มาว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าจะถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจ ปีนี้จึงถือเป็นปีที่ทั้ง ป.ป.ช.และกกต.ชุดใหม่ต้องพิสูจน์การทำหน้าที่อย่างเป็นกลางของตัวเองว่าจะทำได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงหรือไม่
เรื่องที่ 8
ราคาน้ำมันที่ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้น จากสัญญาณที่เห็นชัดเจนขึ้นถึงสงครามในดินแดนที่ผลิตน้ำมัน จะกระทบกับเศรษฐกิจใน
ทั้ง 8 ประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่คนไทยยังเป็นผู้กุมชะตาบ้านเมืองได้ว่าจะให้ประเทศเดินไปในทิศทางใด หากต้องการให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคน ก็ต้องร่วมกันสร้างและอย่าเพิ่งเบื่อการเมือง เพราะการเมืองก็คือเรื่องของบ้านเมืองที่เราต้องช่วยกันประคับประคองนะคะ