ปปง.โชว์ผลงาน ในรอบ 6 เดือน ยึดทรัพย์แล้ว กว่า1.2หมื่นล้าน ปิดบัญชีม้า4แสนบัญชี

505

ปปง. โชว์ผลงานปีงบประมาณ 2567 รอบ 6 เดือน ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานกว่า 12,160 ล้านบาท และตัดวงจรธุรกรรมบัญชีม้าเกือบ 400,000 บัญชี

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและ โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. พร้อมด้วยคณะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ได้แก่ นายพีรธร วิมลโลหการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบ และนางสาวสุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน เมษายน 2567 และผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน

นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า การแถลงข่าวในวันนี้เป็นการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน เมษายน 2567 และผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการกระทำความผิด ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนจำนวนมาก โดยกำชับให้หน่วยงาน ทุกภาคส่วนร่วมกันทำหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสำนักงาน ปปง. ได้มีการดำเนินการสรุปดังนี้

(1)​ผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน 655 รายการ จำนวน 47 คดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,364 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 25 เรื่อง (ผลงานรอบเดือนเมษายน 2567) โดยสรุปดังนี้

(1.1)​ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 12 คดี ทรัพย์สิน 76 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 86 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การลักลอบหนีศุลกากร และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายคดีสำคัญ ดังนี้
(1) ความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฟอกเงิน รายคดี นายณัฐวัตรฯ กับพวก กรณีสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ www.betflixroyal.com และwww.betflikroyal.net โดยจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ พร้อมตรวจค้นบ้านพักหลายพื้นที่ และตรวจยึดทรัพย์สินของกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดไว้จำนวนมาก รวมถึงทรัพย์สินของนางสาวธันยนันฯ (มินนี่) จากการตรวจสอบข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ พบข้อมูลระบบบริหารจัดการของเว็บไซต์พนันออนไลน์ และข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารของเว็บไซต์พนันออนไลน์ โดยมีทรัพย์สินส่วนที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จำนวน 255 รายการ มูลค่าประมาณ 41 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 2/2567) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ต่อมาสำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 4 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 80/2567) รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการไปแล้ว ในกรณีดังกล่าวกว่า 109 ล้านบาท

(2) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร รวม 3 รายคดี ซึ่งเป็นพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน สืบเนื่องจากกรมศุลกากรตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้า – ออก ประเทศไทย โดยตรวจสอบพบการนำธนบัตรสกุลต่างประเทศ เช่น ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และธนบัตรสกุลเงินเยน ซึ่งถือเป็นของต้องจำกัดออกไปหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยไม่มีหลักฐาน การสำแดงเงินตราโดยถูกต้องมาแสดงและไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเกี่ยวกับการสำแดงซึ่งถือเป็นพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร โดยคณะกรรมการธุรกรรม มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 3 รายการ (ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และธนบัตรสกุลเงินเยน) มูลค่ารวมประมาณ 8 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 82/2567 ย. 84/2567 และ ย. 87/2567)

(1.2)​ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 27 คดี ทรัพย์สิน 233 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,900 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับศุลกากร ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยรายคดีสำคัญ เช่น

(1) รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกงหรือการกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งมีนายชนินทร์ฯ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัทเพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน โดยมีส่วนมีทรัพย์สินส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง (คำสั่ง ย.222/2566) โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 255 รายการ (ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 2,890 ล้านบาท (ย.32/2567) รวมมูลค่าทรัพย์สินที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการในกรณีดังกล่าว ประมาณ 3,200 ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายต่อไป

(2) รายคดี กลุ่มบุคคลที่ใช้บัญชีธนาคารฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน (ชื่อบัญชีนายธีระวัฒน์ฯ กับพวก) (บัญชีม้า) สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแปลงยาวได้รับแจ้งเหตุมีผู้ผูกคอเสียชีวิต คาดว่าสาเหตุจากปัญหาความเครียดและปัญหาหนี้สินที่ถูกหลอกลวงเกี่ยวกับการกู้เงินออนไลน์ จากการสืบสวนขยายผลพบว่ากลุ่มผู้กระทำความผิด (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ใช้แอปพลิเคชันไลน์สนทนากับผู้เสียหาย อ้างว่าสามารถให้กู้ยืมเงินออนไลน์ และใช้กลอุบายหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากที่เป็นบัญชีม้า โดยพบผู้เสียหายอีกหลายรายถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 17 รายการ (เงินสด ทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท (ย.33/2567)



(3) รายคดี เครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ซึ่งมีการสืบสวนขยายผลเส้นทางการเงิน พบข้อมูลการโอนเงินจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดไปยังบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยมีส่วนที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว จำนวน 24 รายการฝ (เงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 220/2566) ในการพิจารณาครั้งนี้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (เพิ่มเติม) จำนวน 35 รายการ (บัญชีเงินฝากธนาคาร)มูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท (ย.34/2567)

( 1.3) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สิน ไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 8 คดี ทรัพย์สิน 346 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 283 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยมีรายคดีสำคัญ ดังนี้

(1) รายคดี นายอภิรักษ์ฯ กับพวก กรณีหลอกลวงให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 – 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายเพิ่มเติม) โดยรวมผู้เสียหายที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ 7,626 ราย (ตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 121/2565 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 143/2566) และเป็นผู้เสียหายที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ 7,642 ราย (ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ 152/2565) รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการกว่า 258 ล้านบาท

(2) รายคดีนายบิน ฮู กับพวก กรณีหลอกลวงผู้เสียหายผ่านแอปพลิเคชันTinder Instagram Hello Talk ชักชวนให้ลงทุนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งใช้กลอุบายให้การลงทุนในระยะแรกสามารถถอนเงินได้ตามปกติ แต่เมื่อผู้เสียหายลงทุนมากขึ้นกลับไม่สามารถถอนเงินจากระบบได้ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 6 ราย โดยดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวนฃ 27 รายการ มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 215/2566)

(3)​ มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้า
(3.1)​การจัดทำกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี
สำนักงาน ปปง. เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันการแก้ไขอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กำหนดให้สถาบันการเงินมีหน้าที่อายัดบัญชีที่ตรวจพบว่ารับโอนเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเป็นบัญชีม้า และกำหนดความผิดอาญาฐานรับจ้างเปิดบัญชีม้า อย่างไรก็ดี กระบวนการตรากฎหมายปกติต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งใช้เวลานาน ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงาน ปปง. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงได้ร่วมกันเสนอต่อรัฐบาลที่แล้วให้มีการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่อายัดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้า รวมทั้งกำหนดให้การรับจ้างเปิดบัญชีม้าเป็นความผิดอาญา อันเป็นหลักการเดียวกันกับหลักการที่สำนักงาน ปปง. เคยเสนอไว้

(3.2)​ ร่วมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC ) โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์ AOC 1441 เพื่อให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัย online สำหรับประชาชน มีเป้าหมายในการระงับ/อายัดบัญชีของคนร้ายให้ผู้เสียหาย/ผู้ถูกหลอกลวงออนไลน์ทันทีติดตามสถานะ การแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหายทุกขั้นตอน ได้ทันที เร่งการคืนเงินให้ผู้เสียหาย และเพิ่มประสิทธิภาพการจับกุม ดำเนินคดีและการขยายผลคดี โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยงาน บูรณาการข้อมูล และร่วมทำงานทันทีทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ปัจจุบันมีการบูรณาการในการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งจัดการกับปัญหาบัญชีม้าทั้งมิติด้านป้องกันและปราบปราม

จากสถิติข้อมูลที่ศูนย์ AOC ได้รับเรื่องเพื่อประสานให้ระงับธุรกรรมกับธนาคาร 16 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567) มีรายละเอียด ดังนี้

(1) บัญชีม้าที่ถูกอายัด จำนวน 140,819 บัญชี
(2) จำนวนเงินที่ระงับธุรกรรมได้ จำนวน 4,034,777,117 บาท


3.3 การกำหนดรายชื่อบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า (HR-03)
เนื่องจากระยะเวลาในการระงับธุรกรรมบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีเพียง 7 วัน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่มีคำสั่งอายัดต่อโดยเจ้าหน้าที่ สถาบันการเงินและ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม ทำให้เจ้าของบัญชีสามารถนำบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปทำธุรกรรมต่อไปได้ จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ร้ายสามารถยักย้ายเงินออกจากบัญชีและสามารถนำบัญชีดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก


ดังนั้น เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าวสำนักงาน ปปง. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ การพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวัง อย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2566 เพื่อใช้เป็นกลไกในการจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมของเจ้าของบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและ บัญชีม้า ประกาศดังกล่าวจำแนกบุคคลออกเป็น 2 บัญชี ได้แก่ บุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐานซึ่งพนักงานสอบสวนรับเป็นเลขคดีอาญาแล้ว (รหัส HR-03-1) และบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐาน หรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐานซึ่งพนักงานสอบสวนยั งไม่รับเป็นเลขคดีอาญา (รหัส HR-03-2) และได้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคล ที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน (AMLO Person Screening System: APS) เพื่อให้ธนาคารใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารความเสี่ยง และจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลการกําหนดรายชื่อเสี่ยงดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2566 (วันที่นํารายชื่อเข้าสู่ระบบ APS เป็นครั้งแรก) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2567 (วันที่นํารายชื่อฯ เข้าสู่ระบบ APS ล่าสุด) มีบุคคลที่อยู่ใน บัญชีรายชื่อเสี่ยงแล้ว ดังนี้

(1) จํานวนรายชื่อประกาศ HR03-1 จํานวน 5,771 รายชื่อ จํานวนบัญชี ที่ธนาคารตรวจพบแล้วแจ้งกลับ 54,261 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 207,835,359.52 บาท
(2) จํานวนรายชื่อประกาศ HR03-2 จํานวน 27,592 รายชื่อ จํานวนบัญชี ที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 270,346 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 716,156,014.71 บาท
(3) ภาพรวมการกำหนดรายชื่อและจำนวนบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทาง การทำธุรกรรมแล้ว ดังนี้

ประกาศรายชื่อแล้วรวม 33,359 ราย จำกัดช่องทางไม่ให้ทำทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 324,607 บัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 923,991,374.23 บาท

นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างแก้ไขหลักเกณฑ์ตามประกาศสํานักงาน ปปง. เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับ การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 เพื่อนำรายชื่อเจ้าของบัญชีที่ทําธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จากศูนย์ AOC ซึ่งถูกระงับธุรกรรมไว้ตามพระราชกำหนดฯ มาขึ้นบัญชีเป็น “บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง” (รหัส HR 03-1) ด้วย คาดว่าจะมีรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายหมื่นรายชื่อ และจะมีบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมอีกหลายแสนบัญชี อันเป็นการปัญหาเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(3.4)​ผลกระทบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า
กรณีการรับจ้างเปิดบัญชีม้า สำนักงาน ปปง. ขอแจ้งเตือนประชาชน ดังนี้
(1) ท่านจะถูกดำเนินคดีฐานรับจ้างเปิดบัญชีม้าตามพระราชกำหนดมาตรการ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) ผู้ที่ถูกนำบัญชีไปใช้จะถูกดำเนินคดีในฐานะตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนตามฐานความผิดที่คนร้ายนำบัญชีของท่านไปใช้ เช่น ฉ้อโกง กรรโชก รีดเอาทรัพย์ หรือความผิดทางอาญาอื่นใด
(3) ท่านจะมีประวัติอาชญากรรมติดตัว ส่งผลต่อการไปสมัครงานหรือสมัครเรียน ในอนาคตอย่างแน่นอน
(4) ท่านจะถูกดำเนินคดีหลายท้องที่ ต่างกรรม ต่างวาระ ตามพื้นที่ที่ผู้ร้ายนำบัญชีของท่านไปใช้
(5) ท่านจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์
(6) หากบัญชีของท่านถูกใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ท่านจะถูกตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและถูกยึดทรัพย์
(7) หากบัญชีของท่านถูกใช้ในการโอนหรือรับโอนทรัพย์สินเพื่อช่วยฟอกเงิน ให้กับคนร้าย ท่านจะถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงินเพิ่มเติมอีกฐานหนึ่งข้อหานอกเหนือจากข้อหารับจ้างเปิดบัญชีด้วย
(3.5)​เป้าหมายการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าภายในสิ้นปี 2567


(1) แก้ไขหลักเกณฑ์ตามประกาศสํานักงาน ปปง. เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับรายชื่อบัญชีม้าจากศูนย์ AOC และขึ้นบัญชีรายชื่อเสี่ยงรหัส HR 03-1 เพื่อให้สถาบันการเงินจำกัดช่องทางการทำธุรกรรม โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567
(2) กำหนดรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินรหัส HR 03-1และ HR 03-2 ให้ได้ 200,000 รายชื่อ
(3) จำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีม้าให้ได้ 1,000,000 บัญชี
(3.6)​ ประชาสัมพันธ์ช่องทางการเช็คข้อมูลบัญชี เบอร์โทรศัพท์หรือที่อยู่เว็บไซต์ (URL) ปลายทางก่อนโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์
สำนักงาน ปปง. ได้กำหนดช่องทางการเช็คข้อมูลบัญชี เบอร์โทรศัพท์หรือที่อยู่เว็บไซต์ (URL) ปลายทางก่อนโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และป้องกันการถูกโกงออนไลน์สำหรับประชาชน โดยสามารถตรวจสอบบัญชีมิจฉาชีพและตรวจสอบบัญชีผู้ซื้อ/ผู้ขาย ได้ที่เว็บไซต์ เช็คก่อน.com (https://www.checkgon.com)

(3.7)​ มาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการเปิดบัญชีม้า
สำนักงาน ปปง. ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดแนวทางในการเปิดบัญชีธนาคาร โดยเฉพาะการสร้างเงื่อนไขในการเปิดบัญชีให้ยากขึ้นเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ เพื่อให้ลูกค้ามีบัญชีเท่าที่จำเป็น อันเป็นการยกระดับมาตรการรู้จักลูกค้า (KYC) ให้เข้มขึ้น ตั้งแต่ในชั้นการขอเปิดบัญชีและการขอเปิดบัญชีเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ของการเปิดบัญชีใหม่ให้มีความชัดเจนว่าจะนำไปใช้ทำธุรกรรมใด อันเป็นการป้องกันการรับจ้าง เปิดบัญชีม้า และเมื่อพบธุรกรรมต้องสงสัย สถาบันการเงินต้องพิจารณาระงับธุรกรรมนั้น ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 รวมทั้งให้รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยมายังสำนักงาน ปปง. โดยมาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการคู่ขนานกับกรณีที่ กสทช. ออกประกาศกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตนโดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งหากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในระยะเวลาที่กำหนด หมายเลขจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนการใช้เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์, บัญชีม้า และภัยจากออนไลน์ทุกรูปแบบที่ต้องผ่านการใช้ซิมโทรศัพท์จำนวนมาก ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงาน ปปง. ในฐานะหน่วยงานกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินจะดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการดังกล่าวตามกลไกของกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัดต่อไป

(4)​ การติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในต่างประเทศและการประสานความร่วมมือด้านคดีกับต่างประเทศ


(4.1)​ การติดตามทรัพย์สินเกี่ยวกับมูลฐานยาเสพติดเครือข่ายเหว่ยเซี๊ยะกังคืนจากสหพันธรัฐสวิส
สำนักงาน ปปง. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเรื่องผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อประสานความร่วมมือไปยังสมาพันธรัฐสวิสเพื่อให้ตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของนางอัญชลีฯ หรือชนาธรฯ กับพวก ซึ่งเป็นเครือข่ายของเหว่ยเซี๊ยะกัง โดยสมาพันธรัฐสวิสแจ้งว่าตรวจสอบ พบบัญชีเงินฝากนางชนาธรฯ ในธนาคารที่สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งในการขอนำเงินในบัญชีดังกล่าวกลับคืนสู่ประเทศไทยต้องนำส่งหลักฐานคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ การกระทำความผิดยาเสพติด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 สำนักงาน ปปง. จึงได้รวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมให้มีมติอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร Credit Suisse จำนวน 2 บัญชี จำนวน 1,419,966 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2,375,646 ฟรังก์สวิส พร้อมดอกผล และส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และศาลได้มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน คดีดังกล่าวถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2560 เนื่องจากทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินอยู่ในต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้สำนักงาน ปปง. สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ร่วมเป็นองค์คณะผู้มีอำนาจเจรจาต่อรองสัดส่วนและจัดทำข้อตกลงหรือสนธิสัญญาในการแบ่งปันทรัพย์สินกับต่างประเทศ (Asset Sharing) ปัจจุบันรองอัยการสูงสุดซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้ลงนามในข้อตกลง (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิสเรียบร้อยแล้ว และฝ่ายสมาพันธรัฐสวิสจะโอนเงินคืนให้ประเทศไทยประมาณ 1,883,332.68 ฟรังสวิส หรือประมาณ 76 ล้านบาทคืนมายังประเทศไทยภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อดำเนินการให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป


นับเป็นคดีแรกของประเทศไทยที่ได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คืนจากต่างประเทศ (Asset Recovery) โดยใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและดำเนินการให้ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศตกเป็น ของแผ่นดินโดยใช้ช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือของสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง แม้คดีนี้จะใช้ระยะเวลาโดยรวมกว่า 20 ปี ในการบรรลุข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์สิน

(4.2)​ การดำเนินการกับกรณีอดีตผู้บริหารธนาคารธนาคารพาณิชย์บังกลาเทศฟอกเงินในประเทศไทย


ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบังกลาเทศ (Anti-Corruption Commission: ACC) ได้สืบสวนสอบสวนอดีตผู้บริหารธนาคาร National Bank Limited ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ในบังกลาเทศ และมีการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและฟอกเงิน นั้น สำนักงาน ปปง. ได้รับคำร้องขอจากหน่วยข่าวกรองทางการเงินบังกลาเทศ (ความร่วมมือแบบไม่เป็นทางการ) ให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของอดีตผู้บริหารธนาคาร National Bank Limited ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ในบังกลาเทศซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเข้าข่ายความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอยู่ระหว่างการประสานข้อมูลเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน ในกรณีดังกล่าวจากประเทศบังกลาเทศเพื่อประกอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

(4.3)​ การยึดอายัดทรัพย์กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดภายใต้ยุทธการ SHELL GAME (ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน อาชญากรรมข้ามชาติ และความผิดฐานฟอกเงิน)


สำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อประสานการดำเนินคดีและตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินในคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน อาชญากรรมข้ามชาติ และความผิดฐานฟอกเงิน อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของไทยและต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงาน ปปง. สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดย US Secret Service สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ในการสืบสวนสอบสวนกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติชาวอินเดียซึ่งร่วมกับชาวไทยในการหลอกลวงผู้เสียหายที่เป็นผู้สูงอายุชาวอเมริกันจำนวนกว่า 400 คน โดยการโทรศัพท์หรือส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์โดยอ้างว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ว่าผู้เสียหายมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทำให้ผู้เสียหายเกิดความหวาดกลัว และหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของเครือข่ายผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบัญชีม้าอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ หรืออ้างว่าตนเป็นผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ผู้ให้การบริการ ทางการเงินหรือเครือข่ายโทรศัพท์ และแจ้งว่าผู้ชายจะได้รับเงินคืนจากการต่ออายุสัญญาบริการ ในคดีนี้คนร้าย มีการทำงานเป็นเครือข่ายโดยแบ่งหน้าที่กันทำและมีการแยกย้ายถ่ายเทมีวงเงินหมุนเวียนมากกว่า 3,000 ล้านบาท และนำเงินไปลงทุนในธุรกิจจำนวนมาก

ในการร่วมปฏิบัติการ SHELL GAME เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 นำโดย บช.สอท.มีการเข้าตรวจค้นจับกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ร้อยเอ็ด และสุราษฎร์ธานี บช.สอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ข้อหาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นโดยทุจริตหรือหลอกลวงร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำเข้าข้อมูล สู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จและมีการกระทำความผิด ฐานฟอกเงิน ในส่วนของสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรมทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นแก๊งชาวอินเดียและและเครือข่ายคนไทยจนส่งผลให้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติคำสั่ง ย.ที่ 72/2567 ยึดอายัดทรัพย์สินไว้จำนวน 62 รายการพร้อมดอกผล ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดประกอบไปด้วยอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และบัญชีเงินฝากหลายบัญชีภายใต้รายชื่อของบัญชีม้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 9,728,925.99 บาท

(5) การยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ข้อควรคำนึงในการยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

(1) ผู้ยื่นคำร้องต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่ระบุจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้อง
เมื่อสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องแล้ว ผู้ยื่นคำร้องต้องพิจารณาว่าพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานตามที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. นั้น ตรงกับข้อเท็จจริวที่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับ ความเสียหายหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ระบุไว้ในประกาศฯข้อเท็จจริงเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีการกระทำผิดที่ระบุไว้ในประกาศฯข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลขคดีอาญารับคำร้องทุกข์ของพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในประกาศฯในคดี Call Center ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารที่ระบุไว้ ในประกาศฯ ตรงกับชื่อบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไป หรือไม่ (ตรวจสอบได้จากสลิปการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสอบถามจากธนาคารที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้ ฯลฯ)
ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่าเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้


(2)สรุปผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน (พฤศจิกายน 2566 – เมษายน 2567)
การดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมกว่า 12,160 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้
(1) ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 130 คำสั่ง จำนวน 121 คดี ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องให้ตกเป็นของแผ่นดินรวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 6,713 ล้านบาท
(2) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานจำนวน 39 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,447 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกงประชาชน
โดยมีรายคดีสำคัญ เช่น
(1) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เช่น รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก (หุ้น STARK) (ยึด/อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าประมาณ 3,244 ล้านบาท), รายคดี นายเซาเซียน ซู กับพวก (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 585 ล้านบาท), รายคดี นางธารารัตน์ฯ กับพวก (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 1,017 ล้านบาท), รายคดี นายอภิรักษ์ฯ กับพวก (Forex-3D) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 258 ล้านบาท), รายคดี นายฉี ซู (MR.QU XI) กับพวก (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 596 ล้านบาท), รายคดี นายกุลเกียรติฯ กับพวก (กรณีการทุจริตยักยอกทรัพย์สินสหกรณ์การเกษตรโกรกพระ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท) และรายคดี กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิด กับพวก (กรณีปฏิบัติการ SHELL GAME) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท) เป็นต้น
(2) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเครือข่ายใหญ่ เช่น รายคดี นายฮุ้ยหวาง หวัง กับพวก (กลุ่มจีนเทาตู้ห่าว ผับจินหลิง) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท) หรือรายคดียาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 49 ล้านบาท) เป็นต้น
(3) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร เช่น รายคดี นายอานันท์ฯ กับพวก และรายกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 96 ล้านบาท) เป็นต้น
(4) ความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ เช่น รายคดี นายภูมิพัฒน์ฯ กับพวก (อั้ม PSV) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 617 ล้านบาท), รายคดี กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ www.huaysodplus.com (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 197 ล้านบาท), (รายคดี นายปริญญ์ฯ กับพวก (www.superslotjet.com) (ยึด/อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าประมาณ 577 ล้านบาท) และรายคดีนายณัฐวัตรฯ กับพวก (เครือข่ายมินนี่พนันออนไลน์) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 109 ล้านบาท) เป็นต้น
(5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น รายคดีนายวุฒิมาฯ กับพวก (กรณีพระคม วัดป่าธรรมคีรี) (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท) และรายคดี ผู้อำนวยการคลังสินค้ากรณีทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง (ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท) เป็นต้น

(2) กำหนดเวลายื่นคำร้อง

(2.1)​เมื่อสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องแล้ว ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องตามแบบที่สำนักงาน ปปง. กำหนด ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศฯ (ช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด จะกำหนดไว้ในประกาศฯ โดยชัดเจน)

(2.2)​ ข้อพึงระวัง กำหนดเวลา 90 วัน ใช้กับทั้งกรณีที่ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาในประเทศไทย และผู้เสียหายมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ หากยื่นเกินกำหนดเวลา 90 วัน ดังกล่าว ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายนี้

(3)หลักฐานสำคัญที่ผู้เสียหายต้องยื่นมาพร้อมกับคำร้อง
(3.1) ในการยื่นคำร้องผู้เสียหายจะต้องแนบหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ มาพร้อมกับคำร้องด้วยเสมอ (หากไม่แนบจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายนี้) ได้แก่

(1) สำเนาคำพิพากษาให้มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐาน
(2) สำเนาหลักฐานการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐาน
(3) สำเนาหลักฐานการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐาน

3.2 นอกจากหลักฐานตามข้อ 2.1 ผู้เสียหายจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด/ร้องขอ และภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดอีกด้วย (หากไม่ยื่นอาจไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายนี้)

(4)​ ช่องทางการยื่นคำร้อง มี 3 ช่องทาง ได้แก่
(4.1)​ ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
(4.2)​ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
(4.3)​ ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (จะมีการระบุไว้ในประกาศฯ)

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ปปง #เครือข่ายมินนี่ #บัญชีม้า