“พปชร.” จัดเวทีระดมสมอง ช่วย เอสเอมอีไทย สู้สินค้าจีน

434

พลังประชารัฐเปิดเวทีสร้างโอกาสให้สินค้าไทยต้านสินค้าจีนทะลัก ดึงคนรุ่นใหม่-ผู้ประกอบการวางกลยุทธ์รับมือเชิงรุกเพื่อ ปชช.-ศก.

วันที่ 12 มีนาคม 2567 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “จับเข่าคุยชี้ช่องรับมือสินค้าจีนทะลัก…เสริมสร้างความได้เปรียบสินค้าไทย” โดยมี นายไผ่ ลิกค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กำแพงเพชร เขต 1 นายกานต์ กิติอำพล อดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขต 5 และนายรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศและชายแดน ดำเนินรายการโดย ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ณ ห้องประชุมใหญ่ พรรค พปชร.

โดยเวทีเสวนาได้ร่วมกันหาแนวทาง และข้อเสนอแนะในการรับมือ และควบคุมสินค้าจีนทีเข้ามาตีตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีความหลากหลายและราคาถูก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) ที่นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของไทย เนื่องจำนวน SMEs ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก พปชร. ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง รุกลามต่อระบบเศรษฐกิจไทย จึงจัดเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อภาครัฐต่อไป 

นายไผ่ กล่าวว่า ในฐานะสส. ที่ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้รับข้อร้องเรียนจากพ่อค้า แม่ค้า และ SMEs ถึงผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาแข่งขัน ทำตลาดไทยมากขึ้น ในหลากหลายประเภทสินค้า ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าสินค้าไทย เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ ในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของเล่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ผลไม้ ยางพารา เป็นต้น  ซึ่งสินค้าบางประเภทของจีนพบว่า ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน  จึงนับเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่จะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน  

“สินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขัน ทำตลาดในไทย มีราคาถูกกว่าสินค้าไทย เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ นี่คือสาเหตุที่ต้องพูดกันตรง ๆ ว่า ทำไมต้นทุนการผลิตถึงสู้กับจีนไม่ได้ รวมถึงเราต้องเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น  ที่จะช่วยดูแลผู้ประกอบการไทยในการสกัดสินค้าไร้คุณภาพมาแข่งขัน หากยังให้มีการนำเข้าต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยถึงขั้นล้มละลายได้ เกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว  ทั้งการเสียดุลการค้า เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออก การเติบโตเศรษฐกิจล่าช้า รายได้คนไทยลดลง ที่สำคัญสินค้าไทยอาจถูกลอกเลียนแบบ เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น” ส.ส.กำแพงเพชร เขต 1 กล่าว

ด้านนายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า จากการเก็บตัวเลขของสมาพันธ์ ฯ  พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยสินค้าจีนครองส่วนแบ่งการตลาดในประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงถึง 60%  ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าสินค้าไทยถึง 20% โดยเฉพาะการซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคนไทยกว่า 70% มีประสบการณ์ใช้สินค้าจากจีน  ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสัดส่วนถึง 30% ต้องปรับตัว โดยการลดราคาขายสินค้าเพื่อแข่งขันกับจีน 

ขณะที่ปี 2567 การนำเข้าสินค้าจากจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะราคาสินค้าถูก และยังมีความเชื่อว่าสินค้าจากจีน มีคุณภาพใกล้เคียงกับสินค้าไทย แม้จะไม่มีมาตรฐานรับรองก็ตาม แต่ด้วยกลไกการตลาดปัจจุบัน มีช่องทางการจัดจำหน่ายหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งผ่านร้านค้าทั่วไป  ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด  ตลาดออนไลน์แพลตฟอร์ม อีคอมเมิรช์ เป็นต้น ซึ่งยากต่อการควบคุม เพราะผู้ผลิตจีน เห็นช่องทางกระแสความนิยมของผู้บริโภคไทย รวมทั้งพ่อค้าคนไทยเอง มีการนำสินค้าจีนมารีวิวในเชิงบวก ทำให้สินค้าจีนเกิดความแพร่หลาย จึงมีการผลิตสินค้า และนำสินค้าใหม่เข้าสู่ท้องตลาดไทยอีกเป็นจำนวนมาก  

รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควรยกระดับคุณภาพสินค้า ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ต่ำลง ผ่านการสนับสนุนพัฒนาธุรกิจ SMEs  ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย สร้างแรงจูงใจทางภาษี สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาด้านทักษะแรงงานฝีมือให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีการนำเทคโนโลยีในการเข้ามาพัฒนาสินค้าและบริการ วางระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการค้า  รวมถึงการรณรงค์และสนับสนุนการใช้สินค้าไทย กำหนดมาตรฐานนำเข้าสินค้า เพื่อควบคุมปริมาณสินค้าจีนบางประเภท โดยเก็บภาษีนำเข้า เพิ่มในบางประเภท เพื่อให้สินค้าไทยมีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น

ด้านนายกานต์ กล่าวว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ และเป็นผู้สมัครพปชร. มีโอกาสทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พบปะกับผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย มองเห็นว่าโอกาสของสินค้าไทย ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับตัว และพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง โดยการสร้างจุดเด่น สามารถสร้างเรื่องราวของสินค้า หรือการสร้างแบรนด์ โดยอาศัยพื้นฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ผ่านการดีไซน์สินค้าให้มีความทันสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยคำนึงถึงมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพ และการบริการที่สม่ำเสมอ คงที่ มุ่งเน้นสินค้าเฉพาะกลุ่ม(Niche Market)ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะเจาะจงพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องวางแผนทางการตลาด ขยายโอกาสในตลาดดั้งเดิมและ เพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดีย อาทิ เฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ชอปปี้  และลาซาด้า เข้าร่วมงานแสดงสินค้า (โรดโชว์) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการจดจำให้กับแบรนด์สินค้าในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ดังนั้นในส่วนการผลิต จำเป็นต้องให้ความสำคัญเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หาแหล่งวัตถุดิบในราคาที่ประหยัดแต่ยังคงคุณภาพ เจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในกระบวนการผลิต เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง พร้อมทั้งเร่งศึกษาหาข้อมูลของคู่แข่ง เรียนรู้ทักษะการขายและการตลาดใหม่ๆ  โดยการติดตามการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ การเข้าร่วมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ สร้างความได้เปรียบและขีดความสามารถการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสการทำตลาดของสินค้าไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกต่อไป 

นายชาญกฤช กล่าวสรุปในการสัมมนาว่าจะนำข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากเวทีสัมมนา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะนำไปสู่กลไกการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและป้องกันสินค้าจากจีน โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งกฎหมายดูแลการทุ่มตลาด ทั้งมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) มาตรการปกป้องทางการค้า (Safeguards) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ผ่านกลไกกระทรวงพาณิชย์และรัฐสภาต่อไป

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พปชร. #ไผ่ลิกค์ #เอสเอมอี #สินค้าจีนทะลักไทย #กานต์กิติอำพล #รุ่งโรจน์อาชาเทวัญ #ชาญกฤชเดชวิทักษ์